ReadyPlanet.com


การถอนค้ำประกันรถยนต์


สวัสดีครับ  ขอปรึกษาเรื่องการถอนค้ำประกันรถยนต์   คือว่าผมได้ค้ำประกันรถยนต์ให้น้องเขย  3  คัน  แต่คราวนี้น้องเขยกับน้องสาวกำลังจะหย่ากัน  ตัวผมคนค้ำก็ไม่สะบายใจ  อยากถอนค้ำประกันในส่วนที่เป็นรถของน้องเขยจะทำได้อย่างไรครับ



ผู้ตั้งกระทู้ นัฐพล :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-15 14:23:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3302558)

อาจทำได้โดยให้ลูกหนี้ หรือน้องเขยหรือผู้ค้ำประกันคนใหม่มาแทน แล้วไปเจรจากับผู้ให้เช่าซื้อหรือไฟแนนซ์ เพื่อเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันครับ หากไม่สามารถทำได้ตามที่แนะนำ ก็ไม่อาจถอนการค้ำประกันได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-28 22:01:08


ความคิดเห็นที่ 2 (3305895)

จากกรณีของคุณนั้น กฎหมายไม่ให้สิทธิคุณบอกเลิกสัญญาค้ำประกันได้เองทันที การบอกเลิก ถอน หรือ ยกเลิกสัญญาค้ำประกันนั้น คุณต้องไปเจรจาตกลงกับบริษัทไฟแนนซ์ดูว่าเขาจะยอมตกลงด้วยหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติ บริษัทฯ จะไม่ยอมเลิกสัญญาในทันทีแต่จะมีหนังสือแจ้งให้ทางผู้เช่าซื้อดำเนินการหาคนค้ำประกันคนใหม่เสียก่อนเพื่อเป็นการร่วมรับผิดในหนี้สินที่อาจเกิดมีหรือในกรณีมีการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จากนั้น บริษัทฯ จึงจะทำการตกลงยกเลิกสัญญาค้ำประกันกับคุณต่อไป


ถ้าหากผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นน้องเขยคุณนั้นไม่สามารถที่จะหาคนค้ำประกันใหม่แทนคุณได้ บริษัทฯ ก็จะไม่ยอมยกเลิกสัญญาค้ำประกันกับคุณค่ะ
 

ผู้แสดงความคิดเห็น นัท วันที่ตอบ 2011-09-03 09:20:49


ความคิดเห็นที่ 3 (3305900)

 หนังสือบอกเลิกการค้ำประกัน
 แม้สัญญาค้ำประกันจะมีข้อความว่าการถอนสัญญาค้ำประกันจะต้องได้รับหนังสือยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทจังหวัดยะลาจำกัดก่อนก็ตาม แต่กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ก็ทิ้งเรื่องไว้ตั้ง ๕ เดือน ถือได้ว่าบริษัทโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้ ผู้ค้ำประกันได้รับความเสียหาย ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  231 - 232/2509
 

          คำให้การของจำเลยที่ว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น จำเลยไม่มีประเด็นนำสืบเพราะมิได้ให้การว่าไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายด้วยเหตุอย่างไร

          ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

          การค้ำประกันหนี้ในอนาคตนั้น แม้ตามสัญญาค้ำประกันจะมีข้อความว่า การถอนสัญญาค้ำประกันต้องได้รับหนังสือยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทโจทก์ก่อนก็ตาม แต่เมื่อผู้ค้ำประกันได้มีหนังสือบอกเลิกการค้ำประกันไปให้บริษัทโจทก์ทราบแล้ว แต่กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ก็ทิ้งเรื่องไว้ตั้ง 5 เดือน แล้วจึงเสนอประธานกรรมการบริษัทโจทก์ ระหว่างนั้นบริษัทโจทก์ก็ยังส่งข้าวสารไปยังลูกหนี้จนเกิดความเสียหายขึ้น แล้วจึงได้ให้ลูกหนี้ออกจากหน้าที่และแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรับผิดในความเสียหาย เช่นนี้ถือว่า บริษัทโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้ผู้ค้ำประกันได้รับความเสียหาย ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้น
________________________________

          คดีทั้งสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนใช้เงินให้โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาเบตง แล้วยักยอกเงินค่าข้าวสารไปเป็นเงินในสำนวนแรก ๓๐,๐๐๐ บาท และในสำนวนหลัง ๕๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ทั้งสองสำนวนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้จึงขอให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในหนี้รายนี้ด้วย

          จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิใช่ฉบับที่แท้จริงและไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยมิได้ยักยอกเงินดังกล่าว หากมีเงินขาดหายไปก็เพราะการค้าขาดทุน

          จำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกให้การว่าไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ ๑ มิได้ยักยอกเงินตามฟ้อง เป็นเรื่องค้าขายขาดทุน

          จำเลยที่ ๒ ในสำนวนหลังให้การว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เพราะผู้มอบอำนาจไม่ได้อยู่ตามวันและสถานที่ซึ่งปรากฏในหนังสือมอบอำนาจ และต่อสู้ว่าได้มีหนังสือขอถอนการค้ำประกันก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ๑ เดือน แต่บริษัทโจทก์ยังขืนส่งข้าวสารให้จำเลยที่ ๑ จนเกิดการเสียหายขึ้น และบริษัทโจทก์ไม่แจ้งการถอนค้ำประกันของจำเลยต่อประธานกรรมการ จนเนิ่นนานไปถึง ๕ เดือน เป็นการทำการไม่สุจริตอย่างร้ายแรง เจตนากลั่นแกล้งให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิด

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีทั้งสองสำนวน

          จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยที่ ๑,๒ ในสำนวนแรกและจำเลยที่ ๒ ในสำนวนหลังฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น มิได้อ้างว่าไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายด้วยเหตุอย่างไร จึงไม่มีประเด็นนำสืบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้มิได้กล่าวอ้างมาแต่ศาลชั้นต้น ก็กล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ในสำนวนหลังว่าเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับความเสียหายอันเกี่ยวกับการเงินทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ และจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือถอนสัญญาค้ำประกันไปยังบริษัทโจทก์แล้วก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น แม้ตามสัญญาค้ำประกันจะมีข้อความว่าการถอนสัญญาค้ำประกันจะต้องได้รับหนังสือยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทจังหวัดยะลาจำกัดก่อนก็ตาม แต่กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ก็ทิ้งเรื่องไว้ตั้ง ๕ เดือน แล้วจึงเสนอประธานกรรมการบริษัทโจทก์ ระหว่างนั้นบริษัทโจทก์ก็ส่งข้าวสารไปยังสาขาเบตงจนเกิดเสียหายขึ้นแล้วจึงสั่งให้จำเลยที่ ๑ ออกจากหน้าที่ และแจ้งให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในเงิน ๕๕,๐๐๐ บาท เช่นนี้ ถือได้ว่าบริษัทโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด

          เมื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ ในสำนวนที่ ๒ นอกจากนั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

( เกษม ทิพยจันทร์ - พจน์ ปุษปาคม - บุศย์ ขันธวิทย์ )

ศาลจังหวัดเบตง - นายเนิ่น อนุโรจน์
ศาลอุทธรณ์ - นายเนิ่น กฤษณะเศรนี.

            

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-03 09:59:43



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล