ReadyPlanet.com


ค่าเลี้ยงดูบุตร


เนื่องจากผมกับแฟนคบกัน โดยที่ยังไม่ได้แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกัน แล้วเลิกรากันไป ภายหลังทราบว่าเธอตั้งท้อง และในตอนแรกได้มีการพูดคุยกันว่าจะช่วยกันเลี้ยงดูบุตร แต่เนื่องจากเธอไม่ต้องการให้ลูกมาอยู่กับผมเพราะมามีแฟนใหม่แล้ว และเธอไม่ต้องการให้ลูกมายุ่งเกี่ยวกับแฟนคนใหม่ของผม เธอจึงตัดสินใจที่จะเลี้ยงดูบุตรเพียงคนเดียว และไม่ต้องการให้ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก แต่ผมได้ขอให้ทางพ่อกับแม่ผมได้เข้าไปเลี้ยงดูหลานด้วย ซึ่งเธอก็ยอมรับเงื่อนไข แต่ทุกอย่างไม่ได้ทำเป็นเอกสารลายลักณ์อักษรไว้

ปัจจุบัน ลูกผมอายุประมาณ 7 เดือนแล้ว และทางบ้านของฝ่ายหญิงต้องการให้เธอเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากผม ซึ่งเราได้ตกลงกันที่ประมาณ 6,000 บาทต่อเดือน จนกระทั่งลูกอายุครบ 20 ปี โดยให้ทางบ้านผมสามารถขอลูกไปเลี้ยงดูได้ในช่วงปิดเทอมประมาณ1-2อาทิตย์

แต่ทางบ้านขอฝ่ายหญิงไม่พอใจกับเงื่อนไขตรงนี้ต้องการจะยื่นฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตรกับทางศาล ดังนั้นผมจึงอยากทราบว่า

1. ปัจจุบันผมมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 30,000บาท เป็น เงินเดือน 22,000บาท ส่วนที่เหลือเป็น over time และสวัสดิการ และยังมีรายจ่ายเกี่ยวกับการผ่อนรถ ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ อีก ส่วนฝ่ายหญิงมีรายได้ประมาณ 15,000บาท โดยผมอยากทราบว่าจากรายได้ตรงนี้ทางศาลจะตัดสินให้ผมจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินประมาณเท่าไหร่? (ทางฝ่ายหญิงบอกผมว่าได้ปรึกษากับทางทนายแล้ว โดยผมจะต้องจ่ายเป็นเงินครึ่งหนึ่งของรายได้ของผม)

2. ถ้าผมมีการจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรแล้ว ผมจะมีสิทธิในตัวลูกเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่น
- ถ้าต้องการขอลูกมาเลี้ยงเองจะได้หรือไม่
- ถ้าต้องการลูกมาเลี้ยงบ้างเป็นบางครั้งคราวจะได้หรือไม่ (กรณีที่ฝ่ายหญิงไม่ยินยอม)

3. ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสู้คดีประมาณเท่าไหร่? และมีอะไรบ้าง?

4. ผมต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือรอหมายศาลเรียก?

ผมอยากทราบสิทธิที่ผมจะมีได้

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ



ผู้ตั้งกระทู้ Ekkamol (ekkamol_amp-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-16 00:07:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3302630)

ตามข้อเท็จจริงที่ให้มานั้นคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแฟนเก่า ดังนั้นบุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายของคุณ ซึ่งไม่มีสิทธิและหน้าที่อุปการะซึ่งกันและกันตามกฎหมาย

บุตรและบิดานอกกฎหมายไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน   
มีคำถามว่าบุตรนอกกฎหมายคือใคร และบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามความหมายของมาตรา 1627 นั้นในระหว่างบิดากับบุตรดังกล่าวที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดาจะมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไรนั้น มีคำตอบที่นี่   บุตรนอกกฎหมายก็คือบุตรที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา ส่วนคำว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วนั้น หมายถึงบุตรที่บิดาแจ้งในสูติบัตรว่าเป็นบุตรและอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา กฎหมายกำหนดว่า  บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หมายถึงเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นบุตรนอกกฎหมายก็ดี บิดานอกกฎหมายก็ดี ไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน    ประเด็นต่อไปที่จะพูดถึงก็คือการเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดานอกกฎหมายถึงแก่ความตาย ถามว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วมีสิทธิรับมรดกของบิดาหรือไม่ ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 บอกว่า   "ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย" คำว่าผู้สืบสันดานมีปรากฎในเรื่องทายาทโดยธรรมในการรับมรดก ดังนั้นบุตรนอกกฎหมายจึงมีสิทธิรับมรดกของบิดานอกกฎหมายได้เพราะกฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีที่บิดานอกกฎหมายถูกผู้อื่นขับรถโดยประมาทชนบิดานอกกฎหมายเสียชีวิต บุตรนอกกฎหมายจะเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่?? ตอบได้เลยว่า ฟ้องเรียกไม่ได้เพราะบิดานอกกฎหมายไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมาย   

     
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1409/2548(อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-29 13:40:22


ความคิดเห็นที่ 2 (3302645)

ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเกิดหน้าที่แก่บิดา
เมื่อศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรแล้ว หน้าที่ของบิดาก็เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายคือหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ นอกจากนั้นเกิดสิทธิในการใช้อำนาจปกครองด้วยซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะกำหนดที่อยู่ของบุตรได้ด้วย ในคดีนี้สามีฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เด็กหญิง ญ. (บุตรนอกกฎหมาย)เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน และขอให้ตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร  และอุปการะเลี้ยงดู ส่วนภริยา(นอกกฎหมาย)ฟ้องแย้งขอให้บิดา(สามี)เด็กจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง  การฟ้องแย้งดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากฟ้องของโจทก์ที่ขอให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั่งเอง ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนจึงจะมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาเด็กในภายหลังเป็นการเสียเวลา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่6996-6997/2550(อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-29 14:50:25


ความคิดเห็นที่ 3 (3302659)

ในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นศาลคงต้องคำนึงถึงฐานะของบิดาผู้มีหน้าที่ให้ และความจำเป็นของผู้รับในขณะช่วงเวลาอายุที่แตกต่างกันไป และคำนึงถึงมารดาผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วย เพราะมารดาเองก็มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

มาตรา 1598/38 ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่าง บิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้เมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและ พฤติการณ์แห่งกรณี
 

ศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูอย่างไร?
ปัญหาว่าสามีจะต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูภริยาเพียงใดต้องพิจารณาถึงรายได้ของผู้มีหน้าที่ให้ สามีมีรายได้จากบำนาญในอัตราเดือนละ 23,000 บาทเศษ และมีหนี้อีกหลายจำนวนที่จะต้องผ่อนชำระซึ่งบางจำนวนนำมาซื้อบ้านเพื่อใช้พักอาศัยกับหญิงที่ตนอุปการะเลี้ยงดูฉันภริยา ทั้งต้องใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหญิงดังกล่าวเนื่องจากตนไม่สามารถเบิกจากทางราชการได้ อย่างไรก็ดี เมื่อยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายสามีก็ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำนึงถึงความสามารถของสามีผู้มีหน้าที่ให้และพฤติการณ์ที่มีภาระหนี้เนื่องเพราะไปอุปการะหญิงอื่น ตลอดจนฐานะของภริยาผู้รับซึ่งไม่มีรายได้และอาชีพ การกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูในอัตราเดือนละ 3,500 บาท เหมาะสมแล้ว
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4959/2552(อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-29 15:42:57



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล