ReadyPlanet.com


การเข้ามาแทนที่คู่ความมรณะ (ม.42)


เรียนอาจารย์ลีนนท์,

     เราเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเกี่ยวกับที่ดินศาลชั้นต้นให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตอนนี้มาถึงชั้นอุทธรท์แล้วครับ พอดีจำเเลยที่2 มรณะ(จำเลยเป็นผู้อุทธรท์ครับ) ยังเหลือจำเลยที่1ซึ่งเป็นลูกชายโดยสืบสันดานโดยชอบ 

มีคำถามอยู่ว่าผู้ที่จะเข้าแทนที่คู่ความมรณะนั้น  จำเลยที่1นั้นสามารถเข้ามาแทนได้หรือไม่ หากไม่ได้ ต้องเป็นทายาท ,ผู้จัดดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์มรดก

1.จำลยที่1เข้ามาแทนที่คู่ความมรณะ หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายสามารถบังคับได้ตามจำนวนเงินนั้น

2. ถ้าเป็นทายาทโดยเป็นลูกชายของจำเลยที่1 กม.บอกว่าผู้ที่เข้ามาแทนที่ไม้ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เพราะการเข้ามาแทนที่คู่ความเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาแทนผู้มรณะเท่านั้น
และหากกรณีผู้มรณะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะบังคับเอากับกองมรดกของผู้มรณะ จะบังคับเอากับผู้ที่เข้ามาแทนไม่ได้ 

ดังนั้นหากจำเลยที่1เอาทายาทมาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ ผมควรจะคัดค้านหรือไม่ ในสถานะตอนนี้ผมไม่มีทนายความ

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ บรรพต (chantrsri-dot-ups-at-gmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-06-06 17:14:17


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3297332)

บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะได้ มีดังนี้
   1. ทายาทของผู้มรณะ 2. ผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ  3. ผู้ปกครองทรัพย์มรดกของผู้มรณะ

  สำหรับทายาทที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้มรณะ เพราะการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะนั้นไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวแล้วก็ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดก

 ตัวทายาทที่จะมีสิทธิเข้ามาแทนที่คู่ความมรณะนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับตามมาตรา 1629 เช่น ทายาทลำดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ ทายาทลำดับที่ 4 ก็ไม่สามารถเข้ามาดำเนินคดีแทนที่คู่ความมรณะได้  ถ้าทายาทที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะนั้นเข้าลักษณะที่ต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดที่กฎหมายกำหนดไว้ บุคคลนั้นก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่คู่ความที่มรณะได้ เช่น คดีอุทลุม เป็นต้น
             
ระยะเวลาในการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ

กำหนดเวลาที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 42 วรรคท้าย
กำหนดให้ต้องเข้ามาภายใน 1 ปี มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลไม่ใช่บทบังคับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-06-11 14:47:51


ความคิดเห็นที่ 2 (3297333)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7474/2547

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ โดยระบุว่าผู้ร้องเป็นน้องต่างมารดากับโจทก์ ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ดังนี้ผู้ร้องย่อมเป็นทายาทโดยธรรม อันดับที่ 4 เมื่อผู้ร้องรับว่าผู้เป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 3 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของโจทก์ ตาม ป.พ.พ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของโจทก์ผู้มรณะที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง

________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า นายทองนาค บิดาโจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยผ่านตัวแทนของจำเลย โดยมีโจทก์เป็น ผู้รับประโยชน์ ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า จำเลยรับประกันชีวิตนายทองนาค ไว้จริง แต่สำคัญผิดว่านายทองนาคเป็นผู้เอาประกันชีวิต เมื่อนายทองนาคถึงแก่ความตายจึงทราบความจริงว่านายอานันต์ เป็นผู้เอาประกันชีวิตของนายทองนาคโดยเป็น ผู้ชำระเบี้ยประกันภัยซึ่งนายอานันต์ไม่มีความสัมพันธ์ฉันญาติทางสายโลหิตหรือมีส่วนได้เสียใด ๆ กับนายทองนาค จึงไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน สัญญาประกันชีวิตจึงไม่ผูกพันจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากฟ้อง (วันที่ 11 พฤศจิกายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท

          จำเลยอุทธรณ์
          ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรมนายทองมาก โดยนางทองมี ผู้แทนโดยชอบธรรมทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาต

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 3,000 บาท แทนโจทก์
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นน้องต่างมารดากับโจทก์ ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมอันดับที่ 4 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของโจทก์เป็นทายาทอันดับที่ 3 และตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่งกฎหมายดังกล่าวเมื่อพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของโจทก์ผู้มรณะ ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของโจทก์ผู้มรณะที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะไม่ได้ ศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ของจำเลย

          พิพากษายกคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์ผู้มรณะ และ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นขอเข้าเป็น คู่ความแทนที่ผู้มรณะ และพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ - สุรพล เจียมจูไร - เรวัตร อิศราภรณ์ )

ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด - นายสมยศ จันทร์เปล่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายวุฒิชัย ไวยภาษ

        

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-06-11 14:50:11



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล