ReadyPlanet.com


ฟ้องชนะแต่ดูแล้ว แววจะไม่ได้เงิน


 

เรียน ท่านทนาย

บริษัทเราเป็นโจทย์ และฟ้องชนะ

แต่เนื่องจากบริษัทจำเลยเป็นหนี้บริษัทเรา แต่สืบทรัพย์แล้ว มีทรัพย์แต่ธนาคารเป็นเจ้าหนี้

เช่น หนี้ที่ต้องจ่ายบริษัทเรา 2 ล้าน แต่ทรัพย์ที่สืบได้ มีมูลค่า 1.4 ล้าน และทรัพย์ันั้นติดจำนองกับธนาคารในยอดหนี้ 5 ล้าน

แบบนี้ บริษัทเราจะทำอย่างไรได้ เืมื่อทร้พย์ที่สืบเจอไม่พอจะใช้หนี้และหากฟ้องล้มละลายต่อไป กรรมการจะต้องมีรับผิดชอบในหนี้หรือไม่อย่างไร

ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ia :: วันที่ลงประกาศ 2011-06-23 23:58:29


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3299840)

ยึดทรัพย์ทุกชนิดที่เป็นของลูกหนี้ออกขายทอดตลาด นำเงินที่ขายได้ออกใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้มีประกัน ที่เหลือนำมาชำหนี้หนี้ของเรา หากยังคงมีหนี้สินค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยเกิน 2 ล้านบาทก็ฟ้องให้นิติบุคคลล้มละลายได้ครับ

มาตรา 1015 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติ แห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทนั้น

กรรมการนิติบุคคล เป็นเพียงผู้แทนของนิติบุคคลไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-02 18:53:43


ความคิดเห็นที่ 2 (3299910)

 ฟ้องล้มละลายก็ต้องเสียตังค์เพิ่ม แต่โอกาสที่จะได้รับเงินคืนมันเลื่อนลาง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ssa วันที่ตอบ 2011-07-03 22:17:01


ความคิดเห็นที่ 3 (3300134)

สำหรับนิติบุคคลที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดนั้นจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวนด้วย

มาตรา 1070 เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
(2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกัน ในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2778/2552


 

ในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอันเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 อยู่ ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) และการที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 จำเลยที่ 2 จะต่อสู้ว่าตนเองมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหาได้ไม่

          ในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายตามห้าง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 ได้

          มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด 2 ปี นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 จำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2545 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 28 มกราคม 2547 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 จึงเกินกำหนดเวลา 2 ปี แล้วจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 โจทก์จึงไม่อาจนำมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัดมาลาคอนกรีตและก่อสร้าง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดบอสโก คอนสตรัคชั่น มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3085/2540 หมายเลขแดงที่ 3643/2542 และศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 5,792,298.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่จำเลยที่ 1 ชนะคดี โจทก์อุทธรณ์ ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยอายัดเงินที่กรมโยธาธิการจะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปเป็นเงิน 4,254,945.79 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ต้องรับผิดลดลงเหลือเพียง 1,521,450.40 บาท และต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้โจทก์ต้องรับผิดเพียง 1,082,774 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดคืนเงินส่วนที่รับเกินไปเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2,839,820.03 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืน โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,635,906.48 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขดำที่ 3085/2540 หมายเลขแดงที่ 3643/2542 และคำพิพากษาศาลฎีกามิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีนี้แต่ประการใดจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีที่ดินราคาประเมินถึง 8,782,300 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

จำเลยทั้ง 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์ และศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 5,792,298.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามสำเนาคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 3085/2540 หมายเลขแดงที่ 3643/2542 เอกสารหมาย จ.6 ขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ได้บังคับคดีและได้รับเงินจากการบังคับคดีไปเป็นเงิน 4,254,945.79 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์รับผิดลดลงเหลือเพียง 1,521,450.40 บาท และต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้โจทก์รับผิดเพียง 1,082,774 บาท เมื่อคำนวณหนี้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว โจทก์ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 1,361,125.76 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ 2,733,495.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2545 และโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่จะต้องคืนเงินส่วนที่รับไปเกินมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท หรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ในระหว่างที่โจทก์ดำเนินการบังคับคดีนั้น โจทก์ตกลงยอมลดยอดหนี้เหลือเพียง 1,210,000 บาท ตามเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 และเลข 3 เห็นว่า ตามเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 1 ที่จำเลยที่ 1 อ้างมาก็มีข้อความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ภายนอกให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,550,000 บาท โจทก์ของดการยึดทรัพย์ไว้ และเมื่อมีการชำระครบถ้วนโจทก์ก็จะดำเนินการถอนการบังคับคดี ส่วนเอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 3 ก็เป็นเอกสารที่คู่ความดำเนินการจัดทำกันเอง และไม่มีข้อความส่วนใดที่ระบุว่าโจทก์ตกลงลดจำนวนหนี้ที่ค้างให้แก่จำเลยที่ 1  โดยทันที ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ตกลงลดยอดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และมีจำนวนเหลือน้อยกว่า 2,000,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายชานนท์ เป็นกรรมการของโจทก์มาเบิกความว่า ระหว่างบังคับคดี จำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการและหลบหนีไปจากสำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไม่พบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ได้ปิดสถานที่ประกอบธุรกิจเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (4) ข ว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดมานั้นชอบแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ว่าในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายนั้น จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอันเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 อยู่ ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 อย่างไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1077 (2) และกรณีศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละล้ายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 จำเลยที่ 2 จะต่อสู้ว่าตนเองมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องล้มละลายตามห้าง

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายหรือไม่ ปรากฏว่าในวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อาจฟ้องให้จำเลยที่ 3 ล้มละลายตามห้าง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 ได้ อนึ่ง แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2543 และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 เช่นนี้ มูลหนี้ที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด 2 ปี นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2545 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่ 28 มกราคม 2547 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 จึงเกินกำหนดเวลา 2 ปีแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 โจทก์จึงไม่มีอาจนำหนี้นี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 เด็ดขาดมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นนี้ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง

( กีรติ กาญจนรินทร์ - รัตน กองแก้ว - พิชัย อภิชาตอำมฤต )

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-07-06 07:36:06


ความคิดเห็นที่ 4 (3300138)

มาตรา 89 เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-06 07:52:23


ความคิดเห็นที่ 5 (3300140)

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6017/2549
 
 

          คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ได้
________________________________


          โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

          จำเลยทั้งสี่ไม่ยื่นคำให้การและจำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณา

          ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

          จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งฟังยุติได้ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 13982/2537 ซึ่งให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 3,008,003.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,380,175.92 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 420,872.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามสำเนาคำพิพากษาตามยอมและสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความ ภายหลังมีคำพิพากษาดังกล่าวจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับ โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดียึดสิทธิการเช่าอาคารเลขที่ 1939/52, 1939/53 และ 1939/54 - 56 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 ได้เงินจำนวน 1,450,000 บาท ไม่เพียงพอชำระหนี้ ตามสำเนาบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินครั้งที่ 1 โดยยอดหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,813,980.32 บาท จำเลยที่ 2 เคยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ดินเลขที่ 24865 ตำบลบางโพงพาง อำเภอยานนาวา (เมือง) กรุงเทพมหานคร แต่ได้โอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วในราคา 500,000 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งจำเลยที่ 2 เคยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 1 แปลง แต่ไม่ได้นำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์กลับนำไปขายให้แก่บุคคลภายนอก แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่พยายามชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยสุจริต กรณีจึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น?

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

( สุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ - สมชาย พงษธา - ดิเรก อิงคนินันท์ )
ศาลล้มละลายกลาง - นางสาวอัจฉรา ประจันนวล
               

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-07-06 07:58:02



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล