ReadyPlanet.com


สัญญาคนโกง(ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน)


นาย ก ได้มายืมเงินของนาย ข ไปจำนวนหนึ่ง แต่นาย ข ไม่ได้ทำสัญญาแต่อย่างใดแต่เมื่อถึงกำหนดนาย ก ไม่ยอมคืนเงินให้กับนาย ข ดิฉันอย่างทราบว่าจะทำอย่างไรกับนาย นาย ก ได้บ้างค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ นาดา (moo_ann007-at-windowslive-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-22 18:51:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3304858)

มาตรา 653    การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
 

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-08-23 18:29:24


ความคิดเห็นที่ 2 (3304860)

ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม

ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระ และแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4882/2550

จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขายก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้ แต่จำเลยเอาไปไม่ได้เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้จำเลย ทำให้จำเลยโกรธแค้นจึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระและแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336

          ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้น เพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ

          การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336, 336 ทวิ ให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน กับให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีผู้เสียหาย และนายสุรชัย ปิดตะคุ สามีผู้เสียหาย เบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยเข้าไปดึงสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่สวมอยู่ ทำให้สร้อยคอทองคำขาด แต่ผู้เสียหายคว้าสร้อยคอทองคำส่วนที่มีจี้กางเขนไว้ได้ สามีของผู้เสียหายจะเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ทัน จำเลยจึงได้สร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งหนึ่ง ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยทราบว่าเป็นสร้อยคอทองคำที่บิดามอบให้ผู้เสียหาย แต่จำเลยก็ไม่ยอมคืน และนายสุรชัยได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า สร้อยคอทองคำที่จำเลยกระชากไปได้นั้นจำเลยเอาไปด้วยเพราะจำเลยชูให้ดู สร้อยคอทองคำดังกล่าวไม่ได้ตกหล่นอยู่ในร้าน นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกเสกสรร บุญยรัชนิกร พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่าผู้เสียหายนำสร้อยคำทองคำครึ่งเส้นที่แย่งจากจำเลยได้มามอบให้ไว้เป็นของกลางพยานได้ถ่ายภาพสร้อยคดทองคำที่ผู้เสียหายแย่งคืนตามภาพถ่าย ได้ทำบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืน และได้ทำบันทึกคำให้การของผู้เสียหายซึ่งยืนยันว่าจำเลยได้กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปบางส่วนตามบันทึกคำให้การ ร้อยตำรวจเอกเสกสรรได้บันทึกคำให้การดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย ดังนั้นโจทก์จึงมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารที่สอดคล้องต้องกันว่า จำเลยกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย และเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายดังกล่าวไปได้ครึ่งเส้น ที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่ได้กระชากสร้อยคอของผู้เสียหาย จำเลยเพียงกระชากคอเสื้อผู้เสียหายนั้น เห็นว่าค่อนข้างเลื่อนลอยยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น คดีมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยมีเจตนาลักสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขายก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้แต่จำเลยเอาไปไม่ได้ เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้จำเลยทำให้จำเลยโกรธแค้น จึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระ และแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้นเพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ส่วนที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นคำแถลงการณ์ว่า หากฟังว่าจำเลยทำผิดก็ขอให้ศาลฎีการอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

          พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 6 เดือน และให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำส่วนที่เหลือหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหาย

( นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ - อร่าม เสนามนตรี )

         

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-23 18:40:14


ความคิดเห็นที่ 3 (3304862)

ไม่มีหลักฐานการกู้ยืม

ขณะที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหน้งสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  463/2552

          จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือสัญญากู้เงิน เช็คพิพาทจึงมิได้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหน้งสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2541 เวลากลางวันจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวงศ์สว่าง จำนวน 4 ฉบับ ฉบับแรกและฉบับที่สอง ลงวันที่ 16 มกราคม 2541 จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท ฉบับที่สามและฉบับที่สี่ ลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท ชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสี่ฉบับถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คฉบับแรกและฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ฉบับที่สามและฉบับที่สี่ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 ให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลย เป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค โดยขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นหรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะไม่ใช่เงินตามเช็คนั้นได้หรือห้ามธนาคารให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยเป็นเพื่อนกัน จำเลยออกเช็คพิพาทจำนวน 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.3, จ.5, จ.7 และ จ.9 เมื่อเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4, จ.6, จ.8 และ จ.10

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีโจทก์เพียงลำพังเบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2539 จำเลยกู้และรับเงินไปจากโจทก์หลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือจนกระทั่งมียอดหนี้ประมาณ 587,091 บาท ในปี 2541 จึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้องขึ้นไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยตกลงสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจำนวน 6 ฉบับ แต่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เพียง 4 ฉบับ คือเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3, จ.5, จ.7 และ จ.9 ส่วนเช็คอีก 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 187,091 บาท นั้น โจทก์ได้รับชำระเงินจากจำเลยแล้วฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อเป็นการประกันหนี้ที่โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่บุคคลทั่วไปโดยมีจำเลยเป็นคนกลาง จึงยันคำกันอยู่ อย่างไรก็ดี ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 7 มกราคม 2541 เอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์นำสืบนั้นไม่มีวันถึงกำหนดชำระหนี้ โดยได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คที่จำเลยออกมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาทว่าเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายลงวันที่ 16 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 100,000 บาท รวม 3 ฉบับ และสั่งจ่ายลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 100,000 บาท รวม 2 ฉบับ กับสั่งจ่ายลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 87,091 บาท อีก 1 ฉบับ ที่สำคัญเป็นเช็คธนาคารเดียวกันทั้ง 6 ฉบับ และลำดับเลขของเช็คแต่ละฉบับก็บ่งบอกว่าเป็นเช็คสั่งจ่ายจากบัญชีเดียวกันทั้งหมดด้วย โดยโจทก์เองก็มิได้นำสืบอธิบายเหตุผลไว้ จึงผิดวิสัย ผิดธรรมดาที่จำเลยจะออกเช็คชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันแก่เจ้าหนี้รายเดียว โดยลงวันที่สั่งจ่ายในวันเดียวกันหลายๆ ฉบับจากบัญชีเดียวกัน หรือโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้จะยอมรับการชำระหนี้ที่ยุ่งยากสับสนเหล่านี้ ประกอบกับโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยยอมรับว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ได้จัดทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ และได้ความจากนางภู อดีตลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้ดังกล่าวที่จำเลยอ้างมาเป็นพยานเบิกความว่า ในวันดังกล่าวเห็นแต่จำเลยมาทำสัญญากู้เท่านั้น ไม่มีการจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ และพยานไม่ทราบว่าเช็คที่ระบุไว้ในสัญญากู้นั้นจะมีการสั่งจ่ายกันล่วงหน้าไว้หรือไม่ คดีจึงน่าเชื่อเจือสมด้วยข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า ในวันทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 นั้น จำเลยมิได้ออกเช็คฉบับใดมอบแก่โจทก์ ดังนี้เมื่อเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยจะนำสืบยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาดังกล่าวในวันที่ 7 มกราคม 2541 ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา แต่เช็คพิพาทเหล่านี้ก็มิได้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องเพราะขณะเวลาที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำเช็คอีก 2 ฉบับ ที่จำเลยออกพร้อมกับเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ทั้งหมด แต่ก่อนฟ้องคดีจำเลยได้นำเงินไปชำระเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่า แม้จำเลยชำระเงินตามเช็ค 2 ฉบับ ดังกล่าวให้แก่โจทก์ก็มิใช่ข้อพิสูจน์ว่าเช็คทั้ง 6 ฉบับ ดังกล่าวนี้มีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2543 มาตรา 4 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน

( พินิจ สายสอาด - อร่าม เสนามนตรี - อร่าม แย้มสอาด )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-08-23 18:46:11


ความคิดเห็นที่ 4 (3304868)

เรียน คุณ นาดา

               ควรแจ้งข้อหาฉ้อโกงไว้ก่อนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น มโนธรรม วันที่ตอบ 2011-08-23 19:30:47


ความคิดเห็นที่ 5 (3305514)

กู้ยืมเงินนอกระบบมาจำนวนหนึ่ง  แต่เจ้าหนี้กับทำสัญญาเป็นขายฝากทองแทน ทั้งทีไม่ได้ขายฝากทอง..แต่เจ้าหนี้ทำสัญญาปลอมขึ้นมา  ต้องทำยังไง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น puy (ruchadawan-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-08-30 13:31:31


ความคิดเห็นที่ 6 (3305749)

มีเพื่อนขอยืมบัตรอิออนไปผ่อนสินค้าราคา 23,000 บาท ผ่อนจำนวน 12 งวด แต่เพื่อนผ่อนได้แค่ 2 งวดและเลิกผ่อนต่อ ถ้าจะฟ้องร้องต้องทำยังไงดีคะ ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีการบันทึกเสียงเวลาคุยกันเรื่องจะใช้คืนให้ แต่ยังไม่ได้คืนเลยค่ะ นัดแล้วนัดอีก ปิดเครื่องหนีเมื่อถึงเวลานัด หลักฐานชิ้นนี้สามารถเอาผิดได้มั้ยคะ??

ผู้แสดงความคิดเห็น คนโดนเพื่อนโกง (unity17_kris-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-01 16:19:30



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล