ReadyPlanet.com


ผู้ว่าจ้างผิดสัญญาไม่จ่ายเงิน


ผมเป็น freelance ผลิตงานโฆษณา ได้ทำสัญญาจ้างทำของกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่าเมื่อมีการเซนต์สัญญา   ผมซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะได้เงินมัดจำทันที 50 % แต่ทางบริษัทก็มัดมือชกจ่ายให้ผมไม่ถึง 50% และจ่ายช้าด้วย ซึ่งผมก็ยอมเพราะได้ connect ทีมงานไว้แล้วไม่อยากเสีย creadit พอทำงานเสร็จ ซึ่งผมทำได้ตามเวลาที่สัญญากำหนด ผมก็เอางานไปส่งมอบ และได้ทำสัญญาส่งมอบงานไว้อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งทางบริษัทให้พนักงานที่เกี่ยวข้องมาเซนต์รับมอบงาน ในสัญญาจ้างทำของระบุว่าเมื่อมีการส่งมอบงานแล้วหลังจากนั้นภายใน 45 วัน ทางบริษัทจะต้องจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ผม ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาประมาณ 10 วันแล้วก็บ่ายเบี่ยงการจ่ายเงินไปเรื่อยๆ

เงินว่าจ้างทั้งหมด 115,000 บาท 

มัดจำเมื่อวันที่ 12 พค.54 (ซึ่งเป็นวันเซนต์สัญญา) แต่ผู้ว่าจ้างก็ได้จ่ายมัดจำให้ในวันที่ 20 พค.54 

และจ่ายเพียง 50,000 บาท (ซึ่งเป็นการผิดสัญญาในเบื้องต้น 2 กรณี) ซึ่งมีหลักฐานการโอนเงินที่ผิดทั้งเวลาและผิดทั้งจำนวนเงิน  ชัดเจนในสมุดบัญชีของผม

เพราะฉะนั้นเงินงวดต่อไปที่ผมจะได้จึงเป็นเงินจำนวน 65,000 บาท เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% จากยอดรวม 115,000 บาท(หักภาษี ณ ที่จ่าย 3,450บาท) แล้วจะเหลือ 61,550 บาท

และในวันที่ 30 พฤษภาคม 54 ผมก็ได้ไปส่งมอบงาน และมีการเซนต์ใบส่งมอบงานอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุเวลาในการจ่ายเงินงวดสุดท้ายภายใน 45 วัน ซึ่งครบกำหนดไปแล้วในวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 

จริงๆแล้วเงินไม่ได้มากมายอะไรแต่ทางบริษัทเค้าไม่มีการตอบสนองใดๆ เวลาผมโทรไป ได้แต่บ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ

จึงอยากจะปรึกษาคุณทนายว่า ผมควรจะดำเนินการอย่างไร

-เบื้องต้นผมควรทำอย่างไร??? ถ้าไปทวงเงินแล้วเค้าไม่จ่าย???

-ถ้ามีความจำเป็นต้องจ้างทนายต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่???

-ค่าใช้จ่ายส่วนที่ผมจ้างทนาย และค่าเสียเวลา  ผมสามารถเรียกร้องจากทางบริษัทผู้ว่าจ้างได้มั๊ย???

-ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการดำเนินการ???

ขอบคุณมากครับ

พีรณัฐ

 



ผู้ตั้งกระทู้ porproduction (porproduction-at-live-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-23 03:00:56


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3305839)

 -เบื้องต้นผมควรทำอย่างไร??? ถ้าไปทวงเงินแล้วเค้าไม่จ่าย???

ตอบ ให้ทนายความทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปก่อนนะครับอาจได้ผลครับ

-ถ้ามีความจำเป็นต้องจ้างทนายต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่???

ตอบ สอบถามเป็นการส่วนตัวครับ

-ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการดำเนินการ???

ตอบ ศาลจะนัดครั้งแรกประมาณ 50 วัน หลังการยื่นฟ้อง

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-02 17:15:10


ความคิดเห็นที่ 2 (3305862)

 ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าจ้างทำของแก่โจทก์

  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำแผ่นป้ายโฆษณา โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นเงินค่าจ้าง 970,700 บาท ส่วนที่ 2 จำนวน 2,250,120 บาท และส่วนที่ 3 จำนวน 477,400 บาท ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการจัดทำแผ่นป้ายโฆษณาให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้วจำเลยได้ชำระหนี้ค่าจ้างให้เพียงบางส่วน คงค้างชำระค่าขนย้ายแผ่นป้ายโฆษณางานส่วนที่ 1รวมเป็นเงิน 553,618 บาท โจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้แล้วก็เพิกเฉยไม่ชำระให้  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1062/2551
 
          คำฟ้องที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมกับคำฟ้องเดิมเป็นการเรียกค่าจ้างโฆษณางานประเภทเดียวกัน อันเกิดจากนิติกรรมประเภทเดียวกันและจากสัญญาเดียวกันที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันทำขึ้น จึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ทั้งศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยจำเลยได้กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่โดยบริบูรณ์จำเลยจึงไม่เสียเปรียบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง โดยให้โจทก์ไปจัดเรียงคำฟ้องฉบับใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนำมาเสนอต่อศาลแทนคำฟ้องเดิมจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 179 วรรค 2 (2)

          เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าจ้างทำของแก่โจทก์ในมูลหนี้ฐานผิดสัญญาจ้างทำของภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) แม้โจทก์จะยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าจ้างค้างชำระอีกส่วนหนึ่งเกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับได้เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเป็นเงินค่าจ้างค้างชำระในการทำป้ายโฆษณาโครงการของจำเลยซึ่งยังมิได้ระบุเรียกร้องไว้ในคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นฟ้องเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและขี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ซึ่งโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องเพิ่มเติมดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179

________________________________

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2538 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำแผ่นป้ายโฆษณาและทำการโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติและฮอทไอซ์ของจำเลย โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นเงินค่าจ้าง 970,700 บาท ส่วนที่ 2 จำนวน 2,250,120 บาท และส่วนที่ 3 จำนวน 477,400 บาท ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการจัดทำแผ่นป้ายโฆษณาและโฆษณาโครงการดังกล่าวให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้วจำเลยได้ชำระหนี้ค่าจ้างให้เพียงบางส่วน คงค้างชำระค่าขนย้ายแผ่นป้ายโฆษณางานส่วนที่ 1 พร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 21,400 บาท และค้างชำระค่าจ้างพร้อมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงานส่วนที่ 3 อีก 532,218 บาท รวมเป็นเงิน 553,618 บาท โจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้แล้วก็เพิกเฉยไม่ชำระให้ จึงขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 497,400 บาท นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ในการวางบิลแต่ละฉบับจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2541 เป็นเงินดอกเบี้ยอีก 70,575.88 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์คิดถึงวันฟ้องทั้งสิ้นจำนวน 602,793.88 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 497,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางสาวสุภาภรณ์มาดำเนินคดีแทนโจทก์ จำเลยยอมรับว่า ได้ว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำแผ่นป้ายโฆษณาและติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติจริง แต่ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำแผ่นป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์ จำเลยได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเกินกำหนด 2 ปี นับแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

          ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ก่อนสืบพยานโจทก์แต่ภายหลังจากที่จำเลยได้ยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 20 มีนาคม 2541 ต่อสู้คดีแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 โดยขอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงสนับสนุนคำฟ้องเดิมให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาให้โจทก์จัดทำคำฟ้องฉบับใหม่ที่เพิ่มเติมข้อเท็จจริงตามที่ได้อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องแล้วมาเสนอศาลแทนคำฟ้องฉบับเดิม โดยให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฉบับใหม่และสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้แก่จำเลยใหม่ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 โจทก์ได้จัดทำคำฟ้องฉบับใหม่มาเสนอต่อศาลชั้นต้นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและได้นำส่งสำเนาคำฟ้องฉบับใหม่และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอ้างว่าเป็นการเสนอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมให้สมบูรณ์แต่อย่างใด กรณีไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรค 2 (2) ทั้งเป็นการยื่นคำร้องภายหลังจากที่จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีแล้ว ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 503,028.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 481,628.40 บาท นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 21,400 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541) ต้องไม่เกินจำนวน 70,575.88 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท
          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยก่อนเป็นประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฟ้องเดิมของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างทำป้ายโฆษณาและค่าทำการโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการตามสำเนาสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.4 โดยตามคำฟ้องเดิมระบุการแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว ส่วนคำร้องที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น โจทก์ได้ขอตัดค่าจ้างงานในส่วนที่สองออกแล้วขอเพิ่มเงินค่าจ้างในส่วนที่สามแทนโดยอ้างว่าเป็นค่าจ้างชำระในการทำป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์ของจำเลยซึ่งเป็นงานเพิ่มเติมจำนวน 6 ป้าย แล้วนำไปติดตั้งแทนป้ายโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติในงานส่วนที่สองที่โจทก์ได้ดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว โดยงานส่วนเพิ่มเติมนี้คงคิดเฉพาะค่าจ้างทำป้ายโฆษณาแต่ไม่คิดค่าโฆษณาเพราะยังอยู่ในระยะเวลาของงานในส่วนที่สอง ซึ่งการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนี้ได้ระบุแบ่งงานออกเป็นสามส่วนโดยยังคงอ้างสำเนาสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 เดิม ซึ่งตรงกับสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 เป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกันและเรียกค่าจ้างที่จำเลยยังคงค้างชำระรวมภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 602,793.88 บาท เท่าจำนวนทุนทรัพย์ในคำฟ้องเดิม เห็นว่า คำฟ้องที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมกับคำฟ้องเดิมเป็นการเรียกค่าจ้างโฆษณางานประเภทเดียวกัน อันเกิดจากนิติกรรมประเภทเดียวกันและจากสัญญาเดียวกันที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันทำขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา การขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนี้โจทก์ย่อมจะขอแก้ไขได้แม้เป็นการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงหรือสละข้อเท็จจริงเพื่อให้ข้อหาที่ตั้งไว้เดิมบริบูรณ์แต่ยังคงให้จำเลยรับผิดตามเดิม อีกทั้งข้อตกลงอันเป็นสัญญาจ้างทำของเพิ่มเติมเช่นว่านี้ กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องให้รับผิดกันได้แต่อย่างใดไม่ และโจทก์ยังคงต้องอาศัยสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 เป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดิม ฉะนั้นคำฟ้องที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมกับคำฟ้องเดิมจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปอีกว่าเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมและสำเนาคำฟ้องฉบับใหม่จากโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยจำเลยได้กล่าวแก้ข้อหาของโจทก์ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่โดยบริบูรณ์แล้วดังปรากฏตามคำให้การแก้ฟ้องเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2541 ดังนี้จำเลยจึงไม่เสียเปรียบแต่อย่างใดทั้งสิ้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง โดยให้โจทก์ไปจัดเรียงคำฟ้องฉบับใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแล้วนำมาเสนอต่อศาลแทนคำฟ้องเดิมจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรคสอง (2) แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าจ้างทำงานโฆษณาโครงการฮอทไอซ์แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ในเรื่องนี้จำเลยยอมรับในฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเคยตกลงว่าจ้างโจทก์จริง แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้โดยจัดทำแผ่นป้ายโครงการฮอทไอซ์ติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดคือวันที่ 16 มีนาคม 2539 จำเลยจึงได้บอกเลิกการว่าจ้างดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางสาวสุภาภรณ์ นางสาววรรณี และนางไพรัตน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์และมีหน้าที่รับผิดชอบรวมทั้งติดตามทวงถามหนี้สินในการว่าจ้างทำโฆษณาของจำเลยครั้งนี้ว่า นายวิวัฒน์ ผู้บริหารของจำเลยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการตลาดได้ทำสัญญาว่าจ้างโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.4 กับโจทก์ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติโดยแบ่งงานตามสัญญาเป็นสามส่วน เป็นค่าจ้างทั้งสิ้น 3,698,220 บาท ซึ่งจำเลยได้ชำระค่าจ้างในงานส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สองแล้ว คงค้างชำระค่าขนย้ายป้ายในงานส่วนที่หนึ่งจำนวน 20,000 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1,400 บาท รวม 21,400 บาท ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.19 สำหรับงานในส่วนที่สามนั้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2539 จำเลยสั่งให้โจทก์ทำป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์ซึ่งเป็นงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 6 ป้าย แล้วให้นำไปติดตั้งแทนป้ายโฆษณางานในส่วนที่สองโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติที่โจทก์รับจ้างจากจำเลยดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว โดยมีขนาดความกว้างและความยาวเท่ากันตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ถึง จ.18 งานส่วนที่เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฮอทไอซ์นี้โจทก์คงคิดเฉพาะค่าจ้างทำป้ายโฆษณาแต่ไม่คิดค่าโฆษณาเพราะยังอยู่ในระยะเวลาของงานส่วนที่สอง ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการผลิตแผ่นป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์นำไปเปลี่ยนให้แล้วเสร็จรวม 6 ป้าย จึงนำใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.31 ไปขอเบิกเงินจากจำเลยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 510,818 บาท และค่าย้ายแผ่นป้ายโฆษณาเดิมรวมภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.19 อีกเป็นเงิน 21,400 บาท ส่วนจำเลยมีนายวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ของจำเลยซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์กับนางสาวทัศนียา พนักงานฝ่ายการตลาดของจำเลยมาเป็นพยานเบิกความเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2539 นายวิวัฒน์ได้คุยกับพนักงานฝ่ายขายของโจทก์ว่า มีความประสงค์เปลี่ยนแปลงแผ่นป้ายโฆษณาเดิมเป็นโครงการฮอทไอซ์และจัดส่งรูปแบบการจัดทำไปให้โจทก์เพื่อประเมินราคาก่อน ต่อมาพนักงานของโจทก์แจ้งว่าจะจัดทำแผ่นป้ายโครงการฮอทไอซ์ดังกล่าวได้เสร็จประมาณสิ้นเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน 2539 นายวิวัฒน์จึงบอกยกเลิก ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2539 ซึ่งนางสาวทัศนียาพนักงานฝ่ายการตลาดของจำเลยก็ได้เบิกความยอมรับว่าได้ลงนามรับใบแจ้งหนี้ดังกล่าวไว้แล้วส่งมอบให้นายวิวัฒน์พิจารณา และไม่ปรากฏว่านายวิวัฒน์ได้โต้แย้งคัดค้านหนี้ตามใบแจ้งหนี้ของโจทก์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องแต่ประการใดทั้งสิ้น คงแต่เพียงต่อว่านางสาวทัศนียาว่ารับใบแจ้งหนี้ไว้โดยไม่มีเอกสารประกอบเท่านั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.31 แล้วปรากฏรายละเอียดระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นใบแจ้งหนี้ค่าผลิตงานโฆษณาแผ่นป้ายสวนสยามจำนวน 6 แผ่น ซึ่งระบุสถานที่ตั้งแผ่นป้ายตรงกันกับสถานที่ติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาโครงกรรมหกรรมโคมโฟเฉลิมพระเกียรติของงานส่วนที่สองตามสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ทั้งการติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์จำนวน 6 แผ่น แทนแผ่นป้ายเดิมในระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2539 ซึ่งล่วงเลยกำหนดวันเริ่มต้นของโครงการฮอทไอซ์คือวันที่ 16 มีนาคม 2539 แล้วก็ตาม แต่โครงการดังกล่าวระบุว่าสิ้นสุดในวันที่ 12 พฤษภาคม 2539 ตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ถึง จ.18 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาว่าจ้างโฆษณาตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2539 ซึ่งจำเลยได้ชำระค่าโฆษณาส่วนนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากการจัดทำและติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์แทนป้ายโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติเดิม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยยอมรับผลงานส่วนที่โจทก์ทำเพิ่มเติมจากที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 แล้วโดยไม่อิดเอื้อน ดังนั้นที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าจำเลยได้บอกเลิกการว่าจ้างทำแผ่นป้ายรวมทั้งค่าโฆษณาโครงการฮอทไอซ์ก่อนแล้วเพราะโจทก์จัดทำแผ่นป้ายไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไขโดยมีนายวิวัฒน์รองผู้จัดการใหญ่ของจำเลยเบิกความอ้างลอยๆ เพียงคนเดียว ปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบสนับสนุนนั้น จึงเป็นข้อต่อสู้ที่มีน้ำหนักน้อยและไม่สามารถรับฟังว่าความจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้จัดทำแผ่นป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์เพื่อติดตั้งแทนแผ่นป้ายโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติที่โจทก์ทำเสร็จและติดตั้งไว้แล้วในระหว่างอายุสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 จริง การว่าจ้างเพิ่มเติมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจ้างทำของซึ่งไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีเหตุผลใดๆ ตามกฎหมายที่จะปฏิเสธไม่ชำระราคาค่าจ้างทำแผ่นโฆษณาโครงการฮอทไอซ์ซึ่งเป็นงานส่วนที่จำเลยสั่งให้โจทก์ทำเพิ่มเติมให้แก่โจทก์ได้โดยชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปอีกว่า จำเลยยังคงค้างชำระหนี้ค่าขนย้ายแผ่นป้ายโฆษณากับโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าจำเลยได้ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ตามสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ครบถ้วนแล้ว ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับ และค่าขนย้ายที่โจทก์เรียกร้องมานี้รวมอยู่ในข้อตกลงตามสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ด้วยแล้ว จำเลยจึงไม่มีหนี้สิ้นใดๆ ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์อีก การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าขนย้ายส่วนนี้จึงเป็นการเรียกซ้ำซ้อนใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น ในเรื่องนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางไพรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการส่วนผลิตงานโฆษณาของโจทก์ว่า จำเลยสั่งให้โจทก์ถอดป้ายโฆษณาโครงการมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติที่ติดตั้งอยู่ที่บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกออกแล้วย้ายไปติดตั้งที่บริเวณถนนธนบุรี-ปากท่อ จำนวน 1 ป้าย ตามภาพถ่ายหมาย จ.47 โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อพิจารณาประกอบข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 หน้าที่ 3 ข้อ 3.4 ก และ ข ซึ่งเป็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าขนส่งในกรณีนำป้ายโฆษณาไปติดตั้งที่จังหวัดนครราชสีมาและที่พัทยา ฉะนั้นคำว่า “ค่าขนส่ง” ตามที่ระบุไว้ในสำเนาใบรับเงินสด/เช็คเอกสารหมาย ล.1 ทั้งเจ็ดแผ่นซึ่งระบุว่าเป็นการชำระเงินค่าผลิตงานโฆษณา ค่าโฆษณา และค่าขนส่งป้ายสวนสยามชุดมหกรรมโคมไฟเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น หาได้ระบุรวมถึงค่าขนย้ายป้ายโฆษณาดังกล่าวด้วยไม่ ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าการชำระเงินของจำเลยตามที่กล่าวอ้างมามิได้รวมถึงค่าขนย้ายป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้แล้วจากที่แห่งหนึ่งไปทำการติดตั้งใหม่ยังที่อีกแห่งหนึ่งแต่อย่างใด ทั้งสำเนาใบกำกับภาษีเอกสารหมาย ล.2 ทั้งเจ็ดแผ่นก็ระบุเป็นค่าโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าหนี้ค่าขนย้ายป้ายโฆษณาตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.19 รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 21,400 บาท นั้น จำเลยยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าจ้างทำของ (ค่าทำแผ่นป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์) ของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า นับตั้งแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.31 ซึ่งระบุว่าหนี้ถึงกำหนดชำระในวันที่ 9 มีนาคม 2539 และ 16 มีนาคม 2539 จนถึงวันที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิค่าว่าจ้างโฆษณาโครงการฮอทไอซ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตล่วงเลยระยะเวลา 2 ปีแล้ว คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าจ้างทำของแก่โจทก์ในมูลหนี้ฐานผิดสัญญาจ้างทำของภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) แม้โจทก์จะยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าจ้างชำระอีกส่วนหนึ่งเกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องบังคับได้เป็นต้นไปโดยอ้างว่าเป็นเงินค่าจ้างค้างชำระในการทำป้ายโฆษณาโครงการฮอทไอซ์ของจำเลยซึ่งยังมิได้ระบุเรียกร้องไว้ในคำฟ้องเดิม ทั้งเป็นฟ้องเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ซึ่งโจทก์มีสิทธิเสนอคำฟ้องเพิ่มเติมดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ก็หาทำให้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ในส่วนนี้ขาดอายุความไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

          พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 9,000 บาท แทนโจทก์

( ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล - กีรติ กาญจนรินทร์ - ศิริชัย วัฒนโยธิน )

 

หมายเหตุ 

          อายุความสะดุดหยุดลงต่างกับอายุความสะดุดหยุดอยู่โดยอายุความสะดุดหยุดลงทำให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความใหม่ ส่วนอายุความสะดุดหยุดอยู่ตามมาตรา 175 หรือมาตรา 178 เดิม นั้นเพียงหยุดนับอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาที่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดได้สิ้นสุด ปรากฏว่าเมื่อมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 โดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 ไม่มีคำว่าอายุความสะดุดหยุดอยู่อีกต่อไปแต่นำหลักการดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในมาตรา 193/15

           การฟ้องคดีเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 มิใช่อายุความสะดุดหยุดอยู่ แต่อายุความก็ยังไม่เริ่มนับใหม่จนกว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงตามมาตรา 193/15 การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมในระหว่างพิจารณาจึงไม่ขาดอายุความ                  

          ไพโรจน์ วายุภาพ
 
 
  

                

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-02 19:58:52



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล