ReadyPlanet.com


โทษของการมีชู้


พ่อแม่ผมอยู่กินกันมาตั้งยี่สิบกว่าปีผมเป็นลูกคนโตสุดผมอยากจะทราบว่าถ้าฝ่ายพ่อจะเอาโทษของแม่ซึ่งเป็นคู่สมรสถูกต้องตามกฏหมายและชายคนนั้นที่อยู่กินกับแม่ผมโดยแม่ยินยอมอยู่กับชายคนนั้นทั้งที่ยังไม่ได้หย่ากับพ่อแต่ผมกับน้องและพ่อไม่มีความคิดเห็นที่อยากจะหย่าแต่อยากจะให้แม่สำนึกในสิ่งที่ทำและกลับมาหาพ่อโดยการให้บทลงโทษตามกฏหมายอย่างถูกต้องถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ติดคุกดี่กว่าอยู่กินกับชายคนนั้นเพราะชายคนนั้นชอบทุบตีแม่ผมและพ่อแม่ของเขาเองตอนที่เมาแต่ผมไม่รู้ว่าแม่ทำไมต้องอยู่กิบกับชายคนนั้นด้วยทั้งๆ ที่ทำร้ายแม่ขนาดนั้นเลยผมอยากจะรู้ว่าผมจะเอาผิดแม่และชายคนนั้นได้อย่างไร ผมเป็นห่วงแม่ผมมากผมอยากจะให้ครอบครัวกลับเป็นเหมือนเดิมครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ศักดิ์์ชัย (sakchaimayer2001-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-27 21:08:04


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3306544)

การมีชู้หรือมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่คู่สมรสนั้น ไม่มีความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกครับ

ตามคำถามคงทำได้เพียงให้พ่อฟ้องชายที่ได้ล่วงเกินแม่ไปในทำนองชู้สาวได้ตาม มาตรา 1523

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และ ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตน มีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-09 22:18:54


ความคิดเห็นที่ 2 (3306547)

เป็นชู้กับเมียเขา มีสิทธิโดนคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้

 “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้...” สภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุตรจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8774/2550

                    ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้...” แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
________________________________

                    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยเป็นชู้กับภริยาของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ประสงค์จะใช้สิทธิของศาลเพื่อบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 ต่อมา โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งที่ศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2541 ของศาลชั้นต้น ในวันที่ 3 สิงหาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยโอนที่ดินของจำเลยจำนวน 2 แปลง ให้แก่ผู้อื่นโดยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งจำเลยทราบดีว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก ตำบลนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

          ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลให้ยกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 จำคุก 3 เดือน

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย เพราะจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินไปก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 จำเลยเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2541 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้กลับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4179 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลย และโฉนดเลขที่ 834 ตำบลปากพลี (เบ็ญพาศ) อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่บุตรจำเลย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2541 โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ มิได้หมายถึงเฉพาะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมถึงเจ้าหนี้อื่นซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิฟ้องให้ชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้...” แสดงว่าสภาพความเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นทันทีที่จำเลยเป็นชู้กับภริยาโจทก์ ส่วนคำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าทดแทนกันมิได้ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลย แต่เป็นการบังคับความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์กับจำเลยมีต่อกัน กรณีถือได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจฟ้องจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

( วีระศักดิ์ นิศามณี - นินนาท สาครรัตน์ - ธานิศ เกศวพิทักษ์ )

 

   

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-09 22:29:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล