ReadyPlanet.com


รถมอไซค์ไปกระแทกรถตู้รับจ้าง(การรับช่วงสิทธิ)


รถมอเตอร์ไซค์เสียหลักไปกระแทกรถตู้โดยสารที่จอดอยู่ข้างทางคนขับมอเตอร์ไซค์บาดเจ็บต้องส่งโรงพยาบาล คนขับรถตู้ยอมให้คนขับมอเตอร์ไซค์ไปโรงพยาบาลแต่ขอยึดใบขับขี่ของคนขับมอเตอร์ไซค์ไว้แต่ยังไม่ได้ตกลงอะไรกัน รุ่งขึ้นไปคุยขอชดใช้ค่าเสียหายอ้อลืมบอกไปว่ารถตุ้มีประกันชั้น1ครับขอถามครับถ้ารถมอเตอร์ไซค์ยอมจ่ายเงินใหกับคนชับไปแล้วเรื่องจะจบไหมครับ แล้วถ้ารถตู้รับเงินจากมอไซค์ไปแล้ว แต่ไปแจ้งประกันภัยโดยระบุว่ารถมอไซค์เป็นคู่กรณีโดยมีชื่อที่อยู่ตามที่ได้ใบขับขี่ไป เพื่อขอนำรถเข้าซ่อมแบบนี้ประกันจะเรียกเก็บเงินค่าซ่อมรถตู้จากคนขับรถมอไซค์ได้อีกหรือเปล่าครับ

 



ผู้ตั้งกระทู้ สมชาย :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-28 14:18:41


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3307101)

ในกรณีที่รถตู้มีประกันวินาศภัยประเภท  1 อยู่แล้วและต่อมานำรถยนต์ตู้เข้าเคลมกับบริษัทประกันภัยตามปกติ เมื่อบริษัทประกันภัยได้ซ่อมแซมรถยนต์ที่เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยเรียบร้อยแล้ว บริษัทประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้(รถจักรยานยนต์)

ในกรณีดังกล่าควรทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้ชัดเจน หากต่อมาบริษัทประกันมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยคุณจะได้อ้างสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-15 18:23:13


ความคิดเห็นที่ 2 (3307103)

 
บริษัทประกันภัยรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1607/2552

          บันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุกับผู้เอาประกันภัยมีข้อความเพียงว่า จำเลยจะซ่อมรถยนต์คันที่ถูกชนให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงิน วิธีชำระ ตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก และไม่มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้น จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดจึงยังไม่ระงับ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้บประกันภัยจึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน 1ฮ-3394 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายวิศิษฐ์อายุการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ขับ (บุคคลผู้มีชื่อ) รถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยา ขณะเกิดเหตุได้มอบหมาย ใช้ จ้างวานให้ผู้ขับรถดังกล่าวขับรถไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย เพื่อผลประโยชน์ส่วนได้เสียของตน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยา จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เวลา 17.15 นาฬิกา ผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยาได้ขับรถดังกล่าวไปตามถนนสาย 347 จากอำเภอบางบัวทอง มุ่งหน้าไปอำเภอบางปะหัน เมื่อมาถึงบริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ขับรถด้วยความประมาทโดยขับรถด้วยความเร็วสูง ล้ำช่องเดินรถสวนไปชนกับรถยนต์เก๋งที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ผู้ขับรถยนต์เก๋งถึงแก่ความตาย ส่วนผู้ขับรถบรรทุกหลบหนีไป พนักงานสอบสวนลงความเห็นว่าผู้ขับรถบรรทุกเป็นผู้ประมาท รถยนต์เก๋งได้รับความเสียหายมากไม่อาจซ่อมได้ โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยเต็มทุนประกันภัยจำนวน 550,000 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะนายจ้างหรือตัวการของผู้ขับรถบรรทุก จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกดังกล่าว จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 550,000 บาท นับจากวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินไปจนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 30,937.50 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายจำนวน 580,937.50 บาท ต่อมาภายหลังจากยื่นฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 นำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยจำนวน 250,000 บาท จึงยังคงเหลือส่วนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจำนวน 330,937.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 330,937.520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีลูกจ้างหรือจ้าง วานใช้ให้ผู้ใดขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยาไปตามคำสั่งหรือในทางการที่จ้างในขณะเกิดเหตุ เหตุละเมิดไม่ได้เกิดจากผู้มีชื่อ แต่เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์เก๋ง ซึ่งขับรถด้วยความเร็วสูงและด้วยความคึกคะนอง เมื่อถึงที่เกิดเหตุไม่สามารถควบคุมรถได้ เป็นเหตุให้เสียหลักแล่นพุ่งชนรถบรรทุกที่แล่นมาในช่องเดินรถปกติ ไม่ได้ล้ำช่องเดินรถและขับมาด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของรถยนต์เก๋ง และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มูลคดีละเมิดระงับสิ้นไปด้วยการประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่สามารถรับช่วงสิทธิได้ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ     

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 330,937.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท          

          จำเลยที่ 1 ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน 1ฮ-3394 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายวิศิษฐ์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายวิศิษฐ์ขับรถยนต์เก๋งคันที่โจทก์รับประกันภัยไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 จากอำเภอบางปะอิน มุ่งหน้าไปอำเภอบางบัวทอง เมื่อไปถึงหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน ได้เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยา ที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้นายวิศิษฐ์ถึงแก่ความตาย และรถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยเต็มทุนประกันภัยจำนวน 550,000 บาท ต่อมาภายหลังจากยื่นฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 นำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามความรับผิดตามสัญญาประกันภัยจำนวน 250,000 บาท

          ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยา เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เข้าเจรจากับอีกฝ่ายตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้ตายเพราะเห็นแก่มนุษยธรรมและต้องการนำรถบรรทุกออกไปใช้งาน จำเลยที่ 1 ได้แจ้งแก่คู่กรณีแล้วว่า คนที่ขับรถบรรทุกในวันเกิดเหตุเป็นเพื่อนของนายโสรสคนขับรถของจำเลยที่ 1 นำรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ออกไปขับโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 จึงมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่า เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81- 0108 พระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 ตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายนายอนุรักษ์ เป็นเงิน 100,000 บาท และหากจำเลยที่ 1 สามารถเบิกเงินจำนวน 40,000 บาท จากบริษัทประกันภัยได้ก็จะนำมามอบให้ฝ่ายนายอนุรักษ์อีก ส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฮ-3394 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 จะซ่อมให้อยู่ในสภาพเดิมโจทก์ยังมีรายการทะเบียนรถบรรทุกคันเกิดเหตุระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่งตามรายการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่า มีอาชีพรับจ้างถมดินและไม่นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารหมาย จ.6 ไม่ถูกต้อง แต่กลับฎีกาว่า ที่ต้องทำบันทึกเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เพื่อนำรถบรรทุกออกไปใช้งาน จึงฟังได้ว่ารถบรรทุกคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่งเพื่อการค้าและธุรกิจของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดเวลากลางวัน มีผู้ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ไปจนเกิดเหตุคดีนี้ พฤติการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบซึ่งคงมีแต่คำกล่าวอ้างลอยๆ ของจำเลยที่ 1 ว่า เพื่อนของนายโสรส คนขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 1 มาขอยืมรถบรรทุกจากบุตรสาวจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่บ้านคนเดียวไปขนไม้ 1 เที่ยว เพื่อใช้สร้างบ้านนั้น มีน้ำหนักน้อย หากผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ต่อหน้าพนักงานสอบสวนยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝ่ายผู้ตายโดยไม่ปรากฏข้อท้วงติงในบันทึกดังกล่าวว่า เป็นการช่วยเหลือโดยเห็นแก่มนุษยธรรมและผู้ขับรถบรรทุกไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 เพิ่งกล่าวอ้างในภายหลัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-0108 พระนครศรีอยุธยาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และขณะเกิดเหตุได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุขับรถโดยประมาทหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์มาเบิกความให้ศาลรับฟังได้นั้น เห็นว่า ในคดีแพ่งการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักคำพยานว่า พยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าอีกฝ่าย แม้จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความก็ไม่ได้หมายความว่า ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงไม่ได้คดีนี้ โจทก์มีนายทวีธรรม พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เบิกความว่า ได้ไปตรวจดูร่องรอยในที่เกิดเหตุและสอบถามพนักงานสอบสวนได้ความว่า ผู้ขับรถบรรทุกขับรถโดยประมาทล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์เก๋ง หลังเกิดเหตุผู้ขับรถบรรทุกหลบหนีไป ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้าง และยังทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ฝ่ายรถยนต์เก๋ง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุขับรถโดยประมาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มูลหนี้ละเมิดระงับไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า มีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 เมื่อบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินจำนวน 250,000 บาท เป็นค่าเสียหายหรือค่าซ่อมรถยนต์เก๋งให้แก่ผู้เสียหายหรือญาติผู้ตายแล้วมูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุ มีข้อความเพียงว่า จำเลยที่ 1 จะซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ฮ-3394 กรุงเทพมหานคร ให้อยู่ในสภาพเดิม ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงิน วิธีชำระ ตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอนอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก และหาได้มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อความในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายของรถยนต์ที่เกิดเหตุจึงยังไม่ระงับ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยชดใช้เงินค่าเสียหายของรถยนต์เก๋งนั้นเป็นเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเพียงบางส่วนตามความรับผิดในสัญญาประกันภัยไม่ทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

( วีระชาติ เอี่ยมประไพ - ชวลิต ตุลยสิงห์ - มานัส เหลืองประเสริฐ ) 
  

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-15 18:37:59



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล