ReadyPlanet.com


ที่ดินยายยกให้แม่แต่ไม่ได้โอน มาถึงลูกจะทำอย่างไร?


เรื่องมีอยู่ว่าแม่แท้ๆของแม่ตายตั้งแต่แม่ยังเป็นเด็ก  ก็เลยได้อยูในความดูแลของน้องสาวแม่เรื่อยมา  จนมีครอบครัว  แม่ก็เลี้ยงยาย(น้า)ของแม่เป็นการตอบแทน(อยู่บ้านเดียวกัน)  จนยายเสียชีวิตได้ยกที่ดินจำนวน7ไร่ให้แม่เป็นการตอบแทน  แต่ว่ายังไม่ได้โอนสมัยนั้น   จนมาถึงวันนี้ก็27ปีแล้ว  ไม่ทราบว่าเราจะมีวิธีใดที่จะเปลี่ยนชื่อฉโนดนั้นเป็นชื่อแม่ได้ ลืมบอกไปว่ายายมีลูก1คนเป็นผู้ชาย เสียชีวิตแล้วเช่นกัน  แต่ยังมีลูกของลูกชายแกอีก3คน  ซึ่งหลานๆรุ่นนี้ไม่มีใครรู้เรื่องยาย  และตัวกระผมเองก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน? ผมควรจะจัดการอย่างไรครับ   กรณีไปร้องต่อศาลว่าครอบครองโดยปรปักษ์  ถ้าเกิดหลานๆเขาแย้งเราจะเสียเปรียบหรือไม่?  หรือควรจะทำกินไปเรื่อยๆ  ขอความกระจ่างด้วยครับ 



ผู้ตั้งกระทู้ ภาณุวัฒน์ (panu_aunja-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-07-28 17:53:00


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3307105)

ยกที่ดินให้แต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียนการยกให้อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่บริบูรณ์ แต่ผู้รับให้ได้เข้าครอบครองที่ดิน โดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์

ในกรณีตามคำถาม ผมมีความเห็นว่าแม่ของคุณได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  ควรยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าคุณได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-09-15 19:09:02


ความคิดเห็นที่ 2 (3307106)

ครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่บิดายกให้

จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา เกิน 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2541

ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 49 ตารางวา รวมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ของน.บิดาจำเลย โดยน.ออกโฉนดรังวัดทับที่ดินโจทก์ ซึ่งเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ต่อมา น.บิดาจำเลยได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย และจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา เกิน 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยทางครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้จำเลย ยังมิได้จดทะเบียนการได้ที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ น. บิดาจำเลยได้มาโดยไม่ชอบและจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยการยกให้ทางทะเบียนได้ก็ตามแต่การเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวคงมีผลเฉพาะเป็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินทางทะเบียนเท่านั้นเป็นผล ให้จำเลยไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ตามโฉนดที่ดินโดยการยกให้ แต่ไม่เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์ สิทธิของจำเลยซึ่งยังมิได้จดทะเบียนนั้นจำเลยย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ ไม่ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองเพราะโจทก์มิใช่เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดย เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปส่งมอบที่ดินในสภาพเรียบร้อยให้โจทก์และให้เพิกถอนโฉนดเลขที่ 6534 ทั้งหมดหรือเฉพาะส่วนที่รุกล้ำ

จำเลยให้การว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นายสมชาย เปลี่ยนกล่อมทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่49 ตารางวา ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6351 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา โดยโจทก์รับมรดกมาจากนายเฉย เปลี่ยนกล่อม และนางแจ๋ว เปลี่ยนกล่อม บิดามารดาผู้วายชนม์ เมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2529 เดิมนายน้อย สังข์เลี้ยง ปู่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน ต่อมาตกเป็นของนายนิตย์ สังข์เลี้ยง บิดาจำเลย ในปี 2509 นายนิตย์บิดาจำเลยได้ขอรวมโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงเป็นแปลงเดียวกัน พร้อมทั้งแบ่งแยกออกเป็น 8 แปลงรวมทั้งหักออกเป็นถนนสาธารณประโยชน์สายบางกรวย-ไทรน้อยเจ้าพนักงานที่ดินได้จัดการรังวัดรวมโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงแล้วออกโฉนดเลขที่ 6534 ให้แก่นายนิตย์บิดาจำเลยเมื่อวันที่23 ธันวาคม 2509 ตามสำเนาพร้อมทั้งแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ออกเป็น 8 แปลงในการรังวัดรวมโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวนั้นได้รังวัดทับที่ดินโจทก์ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 49 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทรวมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ของนายนิตย์บิดาจำเลยด้วย ซึ่งเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ต่อมาในปี 2517 นายนิตย์บิดาจำเลยได้ยกที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าวจำนวน 4 แปลง รวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยให้แก่จำเลยจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปีแล้วและศาลฎีกาเห็นว่า แม้นายนิตย์บิดาจำเลยจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพราะนายนิตย์บิดาจำเลยได้รับโฉนดที่ดินมาโดยการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบและจำเลยได้รับที่ดินพิพาทโดยการยกให้จากนายนิตย์บิดาจำเลย จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการยกให้เท่านั้น แต่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้จำเลยครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทในทำนองนี้ และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดไว้ว่าการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทดังกล่าว แม้ครอบครองเกิน 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ดังนั้น เมื่อจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้จดทะเบียนการได้ที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเพิกถอนโฉนดที่ดินที่นายนิตย์บิดาจำเลยได้มาโดยไม่ชอบและจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาโดยการยกให้ทางทะเบียนได้ การเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวคงมีผลเฉพาะเป็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินทางทะเบียนในส่วนที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยได้รับมาโดยการยกให้ทางทะเบียนเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินโดยการยกให้ แต่การเพิกถอนโฉนดที่ดินในกรณีเช่นนี้ไม่เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์แต่อย่างใด จำเลยยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองปรปักษ์อยู่ แม้จำเลยไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินโดยทางยกให้ และสิทธิของจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์โดยทางครอบครองปรปักษ์ยังมิได้มีการจดทะเบียนนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งมิใช่บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตได้เพราะมิใช่กรณีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง

พิพากษายืน

( ชวลิต ธรรมฤาชุ - ทวีชัย เจริญบัณฑิต - พิชัย เตโชพิทยากูล )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-09-15 19:09:28



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล