ReadyPlanet.com


โดนฟ้องบังคับดคี


รบกวนสอบถามครับ เรื่องมีอยู่ว่า กระผมไปค้ำรถให้คนรู้จักโคยเป็นคนค้ำประกันคนที่2 จึงตกเป็นจำเลยที่3 เรื่องคือรถยนต์คันนี้เกิดหายขึ้นมา จำเลยที่1เลยไม่ได้ส่งค่างวดเลยตั้งแต่รถหาย และพยายามติดต่อกับ บ. ประกันซึ่งรถได้ทำประกันชั้น1ไว้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่าให้นำใบมอบอำนาจจากบริษัทลิสซิ่งไปแจ้งความรถหายก่อน ทาง บ.ลิสซิ่งก็ไม่ยอมออกใบมอบอำนาจให้ ซึ่งวันที่รถหายก็ได้มีการแจ้งความลงบันทึกประจำวันชี้จุดที่หาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเครมประกันได้ บ.ลิสซิ่งก็ไม่ยอมดำเนินการให้ ถ้าไม่นำเงินไปจ่ายค่างวดที่ค้างให้ครบก่อน จนมีหมายศาลมาที่บ้านกระผม โดยศาลนัดให้ไกล่เกลี่ยกัน กระผมก็ไปเซ็นไกล่เกลี่ยที่ศาล และเพิ่งทราบเรื่องทั้งหมดก็ตอนที่หมายศาลมาถึง ด้วยความไม่รู้ว่าการเซ็นไกล่เกลี่ยคือการรับสารภาพก็เลยเซ็นไป และต่อมาจำเลยที่ 1 และ ที่2 ซึ่งเป็นพ่อลูกกันก็ไม่ได้จ่ายค่างวดตามตกลงในศาล โดยอ้างว่านึกว่า บ.ลิสซิ่ง จัดการการเคลมประกันรถหายและเรื่องเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว จนมาเดือนนี้กระผมได้รับหนังสือจากบังคับคดี ซึ่งจะยึดบ้านกระผมขายทอดตลาด ทำให้กระผมกลุ้มมาก บ้านก็ยังติดจำนองธนาคาร ทำไมบ.ลิสซิ่งต้องมาเลือกบังคับคดีกับกระผม ซึ่ง จำเลยที่1 และ 2 ก็ยังไม่ได้หายไปไหน ทรัพย์สินก็มี และ เมื่อรถหาย บ.ลิสซิ่งซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อ ทำไมไม่ดำเนินการเรื่องเครมประกันรถหาย ซึ่ง บ.ลิสซิ่งก็เป็นผู้จัดหา บ.ประกันให้ในตอนเช่าซื้อรถให้ และน่าจะเป็นหน้าที่ที่ควรกระทำอย่างยิ่งเพราะถือเป็นผลประโยชน์ของ บ. ตนเอง และถ้าอ้างว่าไม่เชื่อว่ารถหายจริง ทำไมไม่แจ้งความยักยอกทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ขอถามพี่ทนายว่า กระผมสามรถที่จะอุธรณ์ต่อชั้นศาลได้หรือไม่ ว่า บ.ลิสซิ่งซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้เช่าซื้อรถยนต์ แต่เมื่อไม่มีทรัพย์ให้เช่าซื้อแล้ว ทำไมมาฟ้องบังคับคดีได้และไม่พยายามที่จะติดตามทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อคืน และไม่ยอมเคลมประกันกรณีรถหายให้ และถ้าคิดว่าผู้เช่าซื้อโกหกเรื่องรถหาย ทำไมไม่แจ้งความยักยอกทรัพย์เพื่อติดตามรถที่ให้เช่าซื้อคืน เพราะเรื่องนี้กระผมเดือดร้อนมาก ขอความกรุณาพี่ทนายช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ ขอบพระคุณพี่ทนายเป็นอย่างสูงครับ



ผู้ตั้งกระทู้ dew (dew4321-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-08-11 19:55:15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3315147)

ประเด็นแรกต้องทำความเข้าใจคำว่า "ค้ำประกัน" เสียก่อนครับ คุณไปค้ำประกันผู้อื่นก็เพื่อยืนยันกับเจ้าหนี้ว่า ถ้าลูกหนี้(ผู้เช่าซื้อ) ไม่ชำระหนี้ คุณในฐานะผู้ค้ำประกัน ตกลงจะชำระหนี้แทนให้เอง ผู้ค้ำประกันไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ถือว่าเป็นลูกหนี้ชั้นต้น มีศักดิ์ศรีในความเป็นลูกหนี้เท่ากับผู้เช่าซื้อครับ

คำถามว่า ทางผู้ให้เช่าซื้อทำไมไม่ดำเนินการเคลมประกันให้ เขาไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยจึงดำเนินการเคลมประกันไม่ได้ครับ คนที่เครมประกันภัยได้คือผู้เช่าซื้อ และเขาได้ติดต่อเคลมแล้ว แต่ติดที่ว่า ต้องมีใบแจ้งความรถหายครับ

การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ยอมออกใบมอบอำนาจให้โดยอ้างว่าให้ชำระค่าเช่าซื้อก่อนก็เป็นการบีบให้ชำระหนี้ก่อนนั่นเอง จะคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของผู้ให้เช่าซื้อโดยตรงคงคิดผิดครับ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าอาจบังคับชำระหนี้เอากับลูกหนี้ได้จึงไม่กระตือรือล้นที่จะดำเนินการ และก็ได้ผล เมื่อเขาฟ้องคดี จำเลยทั้งสองก็ยอมรับโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะชำระหนี้ให้ ซึ่งจะอ้างว่าไม่รู้ไม่เข้าใจก็คงสายไปแล้วและฟังไม่ขึ้นด้วยครับ

คำถามว่า สามารถอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่  ตอบได้ว่า กฎหมายห้ามอุทธรณ์ครับเพราะเป็นการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความครับ

คำถามว่าทำไมไม่แจ้งความยักยอก ถ้าไม่เชื่อว่ารถหาย ก็เป็นสิทธิของเขาครับ เราจะไปบังคับให้เขาทำสิ่งใด ๆ ไม่ได้ เป็นสิทธิของเขา แต่หน้าที่ของผู้ค้ำประกันคือ ชำระหนี้แทนลูกหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น

เนื่องจากจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษา ถ้าเจ้าหนี้สะดวกที่จะบังคับคดีเอากับจำเลยคนใดง่ายและเป็นการสะดวกที่จะได้รับชำระหนี้ได้รวดเร็ว เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเลือกบังคับคดีกับลูกหนี้คนนั้นก่อนได้

การไล่เบี้ย เอากับจำเลยหรือลูกหนี้อื่น ๆ

เมื่อคุณได้ชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้แล้วคุณมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้เช่าซื้อได้เต็มจำนวน และฟ้องไล่เบี้ยกับผู้ค้ำประกันคนที่ได้ครึ่งจำนวน เพราะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดคนละครึ่งหรือรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้กับเจ้าหนี้ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-10-16 10:33:10


ความคิดเห็นที่ 2 (3315149)

ผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน

กรณีของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ความรับผิดของผู้ค้ำประกันคือ ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8143/2548
  
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์โดยมีคำสั่งว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์" และในวันเดียวกันโจทก์แถลงขอให้ส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ข้ามเขตศาลโดยแนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท เป็นค่าส่งหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งให้ทนายโจทก์ทราบว่าอัตราค่าส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ยังขาดค่าพาหนะอีก 100 บาท ให้นำเงินค่าพาหนะมาวางเพิ่ม โจทก์มีหน้าที่ต้องนำค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่ง ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วย ซึ่งในคดีนี้เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ข้ามเขตศาลและโจทก์ไม่ไปจัดการนำส่ง จึงต้องเสียเงินค่าพาหนะในการนำส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลให้ครบถ้วน การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ไม่ได้วางเงินค่าพาหนะเพิ่มและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์เป็นเวลา 2 เดือนเศษ และเมื่อนับถึงวันที่นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์ก็ยังมิได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 691 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกันประเภทนี้ว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 272,517.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์

          คดีสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์วางเงินค่าพาหนะส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ขาดไป 100 บาท ศาลชั้นต้นแจ้งให้โจทก์วางเงินเพิ่มโดยวิธีปิดหมาย แต่โจทก์มิได้วางเงินเพิ่มจนเวลาล่วงเลยมานาน เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเป็นการทิ้งอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นรับอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ และในวันเดียวกันโจทก์แถลงขอให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยแนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท เป็นค่าส่งหมาย ต่อมาศาลจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์กับตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท คืนศาลชั้นต้นและแจ้งว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1 ได้เนื่องจากยังขาดค่าพาหนะอีกเป็นเงิน 100 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ทนายโจทก์ทราบว่าอัตราค่าส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ยังขาดค่าพาหนะอีก 100 บาท ให้นำเงินค่าพาหนะมาวางเพิ่มตามรายงานลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 และโจทก์ได้รับหมายดังกล่าวโดยชอบแล้วด้วยวิธีปิดหมายวันที่ 5 มิถุนายน 2544 ย่อมมีผลว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 20 มิถุนายน 2544 โจทก์มีหน้าที่ต้องนำค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่ง ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วย ซึ่งในคดีนี้เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ข้ามเขตศาลและโจทก์ไม่ไปจัดการนำส่ง จึงต้องเสียเงินค่าพาหนะในการนำส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลให้ครบถ้วน การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2544 ที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ไม่ได้วางเงินค่าพาหนะเพิ่มและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์ เป็นเวลา 2 เดือนเศษ และเมื่อนับถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกวันที่ 26 สิงหาคม 2545 เป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์มิได้ดำเนินการนำเงินค่าพาหนะเพิ่มอีก 100 บาท มาวางตามคำสั่งศาล ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่น ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องเพียงใด เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามฟ้อง เมื่อคดีนี้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ดังนั้น กรณีของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 691 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกันประเภทนี้ว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเป็นอื่น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สถิตย์ ทาวุฒิ - สุรพล เจียมจูไร - เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ )

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายปฏิกรณ์ คงพิพิช
ศาลอุทธรณ์ - นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์

      

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2011-10-16 11:08:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล