ReadyPlanet.com


ปัญหาเรื่องการใช้เอกสารปลอมในใบสูติบัตร


 คุณแม่ผมใช้บัตรประชาชนที่สวมรอยมา มากรอกข้อมูลในใบสูติบัตรของผม
และก่อนหน้านั้นจดทะเบียนสมรสกับคุณพ่อผม (20 ปีที่แล้ว)
ต่อมาก็หย่ากันเป็นเหตุให้เรื่องแดงจนบัตรของคุณแม่ผมถูกยกเลิกไป (พอหย่ากลับมาใช้นามสกุลเดิม มันไปชนกับเจ้าของบัตร ทางการเลย มีหมายเรียกให้ไปยืนยันว่าใครเป็นตัวจริงกันแน่ แม่ผมก็ไม่ได้ไปเพราะเป็นตัวปลอม) (10 ปีที่แล้ว)
(คุณแม่ผมเป็นคนไทลื้อเกิดที่ประเทศไทยครับ แต่ตกสำรวจเลยไม่ได้ทำบัตรประชาชน เป็นเหตุให้ต้องสวมรอยครับ)

ทีนี้ปัญหาทั้งหมดมันจึงตกมาถึงผม เอกสารของแม่ไม่มี(เพราะไอ่ที่ปลอมถูกยกเลิกไปแล้ว) เวลาทำอะไรทางราชการก็ไม่สามารถทำได้
ผมไม่สามารถไปลงทะเบียนทหารกองเกินได้ (สด.9) เพราะขาดเอกสารของมารดา 
ส่วนคุณพ่อผมตอนนี้ตายไปแล้วมีแค่มรณะบัตร แนะนำผมทีครับ ทุกวันนี้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่รู้จะหาทางออกยังไงและเริ่มจากตรงไหน  ขอบคุณมากครับ



ผู้ตั้งกระทู้ ธารา :: วันที่ลงประกาศ 2013-06-21 21:28:49


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3369557)

ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕  ซึ่งเป็นวันที่มีผลของ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ อันเป็นผลของการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติใน พ.ศ.๒๕๓๕ บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาสัญชาติไทยนอกสมรสได้รับสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน จึงมีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน” โดยผลของกฎหมาย

พระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 
 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
 จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า " พระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535"
 มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515
 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

 " มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
 (1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย
 (2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคล ตาม มาตรา 7ทวิ วรรคหนึ่ง"

 มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 7ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508

 " มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หรือมารดาของผู้นั้น เป็น
 (1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
 (2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพียงชั่วคราว หรือ
 (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
 ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณา และสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทย ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
 ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ใน ราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น"

 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 14 วรรคหนึ่งหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 14 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตาม กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทย ตาม มาตรา 12 วรรคสอง ให้แสดงความ ประสงค์เข้าถือสัญชาติได้แต่เพียงสัญชาติเดียว โดยให้แจ้งความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและ วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ถ้าไม่มีการแจ้งความจำนง ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสัญชาติไทยเว้นแต่รัฐมนตรี จะสั่งเฉพาะรายเป็นอย่างอื่น"

 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ ใช้ความต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 15 นอกจากกรณีตาม มาตรา 14 ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทย โดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่ กำหนดในกฎกระทรวง"
 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 18 เมื่อมีพฤติการณ์อันเป็นการสมควรเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ของรัฐรัฐมนตรี มีอำนาจถอนสัญชาติไทยของผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตาม มาตรา 7ทวิ วรรคสอง"
 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติ พ.ศ. 2508 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน
 " มาตรา 21 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตาม กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียน คนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย"

 มาตรา 10 บทบัญญัติ มาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

 มาตรา 11 บทบัญญัติ มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วยเว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมี คำสั่งอันมีผลให้ได้รับสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทย ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่ง อาจได้สัญชาติไทยได้ตาม มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ สัญชาติพ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้รัฐมนตรีจะสั่งให้ได้สัญชาติไทย เป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะรายก็ได้
 มาตรา 12 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี

 *หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรให้บุตรของหญิงไทย สามารถมีสัญชาติไทยได้โดยหลักสายโลหิตด้วย ตามหลักการเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย และสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยของบุตรและหลานตลอดทั้งสายของคนต่างด้าวที่เป็นผู้อพยพ ผู้ หลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้เข้าเมืองเพียงชั่วคราวและผู้ได้รับผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ใน ราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายเสียใหม่ให้เหมาะสมรัดกุม เพราะการยึดหลักการสมรสโดย ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ไม่ สอดคล้องกับความเป็นจริงเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ที่โดยมากจะอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้
(ร.จ. เล่ม 109 ตอนที่ 13 หน้า 3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535)

จาก พ.ร.บ. สัญชาติ (ฉบับที่ 2) 2535 ข้างต้น อย่างไรเสียคุณก็ได้สัญชาติไทย ตาม มาตรา 7 อยู่แล้ว ไม่ว่ามารดาจะเป็นบุคคลสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหาว่าเอกสารของมารดาจะดำเนินการอย่างไรนั้นคงเริ่มต้นที่ต้นทางก่อนเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลว่าเป็นผู้ใด ควรจะติดต่อกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่เพื่อรับรองว่า มารดาคุณตกสำรวจ จากนั้นก็อาจยื่นคำร้องต่อศาลพิสูจน์ความเป็นมารดาที่แท้จริง เช่นการตรวจ ดี.เอ็น.เอ.  เพื่อให้เปลี่ยนข้อมูลทางทะเบียนให้ตรงกับความเป็นจริงเสียก่อน แต่ในทางคดีเกี่ยวกับการสวมบัตรประชาชนของผู้อื่นน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินเรื่องต่าง ๆ เพราะอยู่ในข่ายของผู้กระทำความผิดอาญาที่มีโทษจำคุกอยู่ หากแสดงตนออกมาเมื่อใดก็คงถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 
 

สำหรับปัญหาของคุณนั้นเป็นปัญหาเรื่องการลงทะเบียนทหารกองเกินซึ่งน่าจะลองไปติดต่อที่ คณะกมธ.สิทธิฯวุฒิสภา ดูนะครับ อาจได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนาย ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 0859604258 วันที่ตอบ 2013-06-30 19:08:51


ความคิดเห็นที่ 2 (3369594)

ขออนุญาตนำบทความที่เกี่ยวข้องจาก http://www.archanwell, http://gotoknow, โดย รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร มานำเสนอเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนได้ศึกษาดังต่อไปนี้ครับ
________________________________________________________________

 


กรณีศึกษานางสาวอรนลิน ปานาที : จากคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาตามข้อเท็จจริงสัญชาติไทย สู่คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ และคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑  โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒
เขียนเสร็จในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓


บทนำ

          การทำงานวิจัยในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทยที่ผู้เขียนเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน จึงเป็นเหตุให้มีคำถามและข้อหารือของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจำนวนมากมายถึงผู้เขียนเฉลี่ยวันละหนึ่งราย

          คุณอรนลิน ปานาที เป็นบุคคลหนึ่งที่เขียนอีเมลล์มาหารือปัญหาความไร้สัญชาติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ผู้เขียนนำเรื่องของคุณอรนลินมาเขียนเป็นบทความทางวิชาการ ทั้งนี้ มีความตั้งใจ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) ผู้เขียนอยากให้เจ้าของปัญหาได้ศึกษาแนวคิดในการจัดการปัญหาที่เขียนในบทความทางวิชาการเพื่อที่จะเรียนรู้ที่จะจัดการปัญหาด้วยตัวเอง (๒) ผู้เขียนมีความหวังว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์การพัฒนาเอกชนที่อาจช่วยเหลือเจ้าของปัญหาได้อาจศึกษาแนวคิดในการจัดการปัญหาจากบทความนี้ได้ และ (๓) ผู้เขียนอยากให้บทความนี้เป็นบทเรียนให้นักศึกษาที่ไม่ควรรับรู้ในความทุกข์ยากของมนุษย์ผู้ไร้สัญชาติได้มีโอกาสเรียนรู้จากเรื่องจริงของมนุษย์ผู้ทุกข์ยากบนแผ่นดินไทยบ้าง

          บทความนี้เป็นบันทึกความเห็นทางกฎหมายเบื้องต้นที่ให้แก่นางสาวอรนลิน ปานาที จากเอกสารที่คุณอรนลินสแกนส่งมาให้ทางอีเมลล์ กล่าวคือ (๑) สูติบัตรประเภท ท.ร.๓  ออกโดยนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๔  ให้แก่เด็กหญิงอรนลิน ปานาที (๒) ทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ซึ่งอำเภอเวียงป่าเป้าออกให้แก่นายปรีชา ปานาที ซึ่งเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เด็กชายพสิษฐา ปานาที และ เด็กหญิงกนกรัชต์ ปานาที ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดาและมารดาเดียวกัน (๓) แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงโดยอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ให้แก่นางชมพู่ ซึ่งเป็นมารดา เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔ และ (๔) บัตรประจำตัวตามกฎหมายทะเบียนราษฎรประเภทบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งออกโดยอำเภอเวียงป่าเป้าให้แก่นางชมพู่ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังผ่านอีเมลล์ของนางสาวอรนลิน ปานาที

          ข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งมาจากการสอบปากคำโดยผู้เขียนเองโดยผ่านทางอีเมลล์หลายครั้งตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา และโดยการสอบปากคำนางสาวอรนลินและครอบครัว ณ ที่พักของบุคคลทั้งหมดที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓


ข้อเท็จจริง

ปรากฏตามสูติบัตรประเภท ท.ร.๓  ออกโดยนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๔  ให้แก่เด็กหญิงอรนลิน ปานาทีว่า เด็กหญิงอรนลินเกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔ ณ โรงพยาบาลแม่และเด็กเชียงใหม่ จากนางชมพู่ บุรีรมย์ คนสัญชาติลาว และนายปรีชา ปานาที คนสัญชาติไทย จะเห็นว่า สูติบัตรนี้ระบุว่า เด็กหญิงอรนลิน "ยังไม่ได้สัญชาติ" สูติบัตรนี้ระบุว่า อรนลินถูกเพิ่มชื่อ "เข้าทะเบียนคนบ้านกลาง แขวงเม็งราย สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่" นอกจากนั้น สูติบัตรนี้ยังระบุว่า อรนลินมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗

ปรากฏตามทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ซึ่งอำเภอเวียงป่าเป้าออกให้แก่นายปรีชา ปานาที  ระบุว่า นายปรีชาเป็นคนสัญชาติไทยซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗ จากนางจิ๋นและนายปุ๊ด ซึ่งมีสัญชาติไทย  นายปรีชามีชื่อในทะเบียนบ้านประเภท ท.ร.๑๔ ณ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ส่วนนางชมพู่นั้น ปรากฏตามแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงโดยอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔ ว่า นางชมพู่เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ณ แขวงเวียงจันทร์ ประเทศลาว จากนางแพงศรีและนายคำสิงห์ ซึ่งมีสัญชาติลาว  เธอเข้ามาในประเทศไทย โดยเข้ามาทางจังหวัดหนองคายเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ และเข้ามาร้องขอรับการบันทึกรายการสถานะบุคคลใน “แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง” การบันทึกรายการสถานะบุคคลทำโดยอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔ นางชมพู่ถือบัตรประจำตัวตามกฎหมายทะเบียนราษฎรประเภทบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งออกโดยอำเภอเวียงป่าเป้าเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๔ และหมดอายุเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ ชมพู่ไม่ได้ต่อบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่ราบสูงหลังจากนั้น

นอกจากนั้น ยังปรากฏตามทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ซึ่งอำเภอเวียงป่าเป้าออกให้แก่นายปรีชา ปานาที อีกว่า นายปรีชาและนางชมพู่มีบุตรอีก ๒ คน กล่าวคือ (๑) เด็กชายพสิษฐา ปานาที ซึ่งเกิดที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๘ และ (๒) เด็กหญิงกนกรัชต์ ปานาที ซึ่งเกิดที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐ เด็กทั้งสองถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย มิได้ตกอยู่ในสถานะคนต่างด้าวดังเช่นนางสาวอรนลิน

นายปรีชาได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนางชมพู่ ณ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๒๗ กรฏาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งส่งผลให้บุตรทั้งสามมีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ความเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวอรนลินและน้องอีก ๒ คนจึงเริ่มต้นตั้งแต่วันที่บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใน พ.ศ.๒๕๕๑ ได้บัญญัติให้ความเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาย้อนหลังไปมีผลตั้งแต่เกิด จึงสรุปในวันนี้ได้ว่า ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ นางสาวอรนลินและน้องอีก ๒ คนจึงเริ่มต้นตั้งแต่เกิด

ครอบครัวของนางสาวอรนลินเข้ามาอาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เพราะบิดากับมารดาต้องมารับจ้างทำงานที่สมุทรปราการ  นอกจากนั้น บิดารวมถึงน้อง ๒ คนของอรนลินมีชื่อในทะเบียนบ้านที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีแล้ว ในขณะที่มารดายังมีชื่อในแบบพิมพ์ประวัติที่ออกโดยอำเภอเวียงป่าเป้า ส่วนนางสาวอรนลินก็ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง ณ แขวงเม็งราย สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน นางสาวอรนลินเรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (วิทยาเขตสมุทรปราการ)  ในส่วนปัญหาความไร้สัญชาติของอรนลิน อรนลินและบิดาได้ไปร้องขอเพิ่มชื่ออรนลินในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ต่ออำเภอพานทองแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของอำเภอดังกล่าวยังไม่รับคำร้องของอรนลิน

 

ประเด็นแห่งการศึกษา

          นางสาวอรนลินมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ ? หากไม่มี จะต้องทำอย่างไร ?

ความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียน

ปรากฏตามเอกสารที่คุณอรนลินส่งมาให้ศึกษา ผู้เขียนใคร่จะมีความเห็นทางกฎหมายเพื่อนางสาวอรนลิน ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) ความเห็นทางกฎหมายต่อสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลิน (๒) ความเห็นทางกฎหมายต่อการพิสูจน์สัญชาติไทยของนางสาวอรนลิน (๓) ความเห็นทางกฎหมายต่อการตรวจสอบปัญหาความไร้รัฐของนางสาวอรนลิน และ (๔) ความเห็นทางกฎหมายต่อสิทธิทางการศึกษาของนางสาวอรนลิน
 
   ๑. ความเห็นทางกฎหมายต่อสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลิน
 
ปรากฏตามเอกสารที่คุณอรนลินส่งมาให้ศึกษา เราอาจสรุปสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของนางสาวอรนลินออกได้เป็น ๓ ข้อยืนยัน กล่าวคือ (๑) ข้อยืนยันสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลินในขณะที่เกิด (๒) ข้อยืนยันสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลินตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ และ (๓) ข้อยืนยันสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลินตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน
 
๑.๑. ข้อยืนยันสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลินในขณะที่เกิด
เราพบว่า อรนลินมีจุดเกาะเกี่ยวกับกับประเทศไทยโดยการเกิด ๒ จุดเกาะเกี่ยว อันได้แก่ (๑) การเกิดในประเทศไทย และ (๒) การเกิดจากบิดาสัญชาติไทย ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะได้สัญชาติไทยของนางสาวอรนลินจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวทั้งสองของนางสาวอรนลินตามที่กฎหมายสัญชาติไทยกำหนด
เราจึงต้องมาตรวจสอบว่า (๑) นางสาวอรนลินอาจได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในขณะที่เกิดหรือไม่ ? และ (๒) นางสาวอรนลินอาจได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในขณะที่เกิดหรือไม่ ?
 
๑.๑.๑. นางสาวอรนลินมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมายในขณะที่เกิดหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?
เราอาจยืนยันได้ในประการแรกว่า นางสาวอรนลินไม่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน “ตั้งแต่เกิด” ทั้งนี้ เพราะว่า เธอไม่มีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายที่มีผลในขณะที่เกิดกำหนด
กฎหมายไทยที่มีผลกำหนดปัญหาการได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในช่วงเวลาที่อรนลินเกิด ก็คือ มาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ประกอบด้วย ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปย่อๆ ว่า “ปว.๓๓๗” ซึ่ง ปว.๓๓๗ เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อถอนหรือมิให้สิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดนของบุคคลที่เกิดในประเทศไทยใน ๒ กรณี กล่าวคือ (๑) บุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะคนเข้าเมืองแบบไม่ถาวร หรือ (๒) บุคคลที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาที่เป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะคนเข้าเมืองแบบไม่ถาวรโดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางชมพู่และนายปรีชามิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายก่อนการเกิดของนางสาวอรนลิน จึงฟังได้ว่า อรนลินมีข้อเท็จจริงครบตามที่ ปว.๓๓๗ กำหนด ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) อรนลินเกิดในประเทศไทยในขณะที่ ปว.๓๓๗ มีผล (๒) อรนลินเกิดจากมารดาต่างด้าว โดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และ (๓) มารดาต่างด้าวของอรนลินมีลักษณะการเข้าเมืองแบบไม่ถาวร เพราะเข้าเมืองไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายคนเข้าเมือง ผลก็คือ อรนลินไม่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนแม้จะเกิดในประเทศไทย สิทธิประการเดียวที่มี ก็คือ สิทธิที่จะร้องขอสัญชาติไทยนี้จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหากรัฐมนตรีนี้ยังไม่มีคำสั่งอนุญาต อรนลินก็จะไม่ได้รับสิทธิในสัญชาติไทยนี้
 
๑.๑.๒.นางสาวอรนลินมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลของกฎหมายในขณะที่เกิดหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?
ประเด็นแห่งสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของนางสาวอรนลินประการที่สามที่ต้องสรุป ก็คือ แม้บิดาของนางสาวอรนลินจะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย แต่นางสาวอรนลินก็ไม่มีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตั้งแต่เกิด ทั้งนี้ เพราะไม่มีข้อเท็จจริงต้องตามที่กำหนดในมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ กล่าวคือ บิดามิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่บุตรเกิด กฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลในขณะที่อรนลินเกิดไม่ยอมรับให้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาแก่อรนลิน แม้การจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดาและมารดาภายหลังการเกิดของอรนลินก็ไม่อาจทำให้อรนลินได้สัญชาติไทยดังกล่าว
 
โดยสรุป นางสาวอรนลินไม่อาจได้รับสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในขณะเกิดและไม่อาจได้รับสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา อันส่งผลให้นางสาวอรนลินตกเป็น “คนไร้สัญชาติ” ตั้งแต่เกิด ทั้งที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศไทย กล่าวคือ เกิดในประเทศไทยและมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทย แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมายนี้เกิดแก่นางสาวอรนลินจนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เท่านั้น
 
๑.๒. ข้อยืนยันสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลินตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑
เราพบว่า การปฏิรูปกฎหมายสัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ทำให้บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาสัญชาติไทยนอกสมรสได้รับสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน กฎหมายรับรองสิทธิของบุตรในสถานการณ์นี้ทั้งที่จะเกิดภายใต้กฎหมายปฏิรูปใน พ.ศ.๒๕๓๕ และเกิดก่อนการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว[1]
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕  ซึ่งเป็นวันที่มีผลของ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ อันเป็นผลของการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติใน พ.ศ.๒๕๓๕ บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาสัญชาติไทยนอกสมรสได้รับสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนจึงมีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน” โดยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องมีการร้องขอต่อใครแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม กลับเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยที่รักษาการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่จะต้องลงรายการสัญชาติหรือเพิ่มชื่อบุตรในสถานการณ์นี้ในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย

ประเด็นแห่งสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของนางสาวอรนลินประการที่สองที่ต้องสรุป ก็คือ  นางสาวอรนลินย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๑๑ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕  ทั้งนี้ เพราะนางสาวอรนลินไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ เพราะบิดาของนางสาวอรนลินเป็นคนสัญชาติไทย แม้จะมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม การมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทยทำให้นางสาวอรนลินไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๑ จึงมีผลทำให้นางสาวอรนลินกลับมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนเพราะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย การปฏิรูปกฎหมายสัญชาติใน พ.ศ.๒๕๓๕ จึงทำให้นางสาวอรนลินได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา อันทำให้ความไร้สัญชาติโดยข้อกฎหมายสิ้นสุดลง เหลือเพียงความไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง เนื่องจากการเพิ่มชื่อของอรนลินในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยอันเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนราษฎรยังไม่เกิด
 
๑.๓. ข้อยืนยันสถานะแห่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาวอรนลินตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน
ประเด็นแห่งสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของนางสาวอรนลินประการที่สี่ที่ต้องสรุป ก็คือ  นางสาวอรนลินย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑  จนถึงปัจจุบัน

โดยผลของมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เนื่องจากมาตรานี้กำหนดให้เอามาตรา ๗ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ  พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑ ย้อนหลังมาใช้กับคนที่เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผล  ซึ่งมาตรานี้มีผลทำให้บุตรของบิดาสัญชาติไทยนอกสมรสที่เกิดก่อนกฎหมายใหม่ได้สัญชาติไทยจากบิดาเช่นเดียวกับบุตรในสถานการณ์เดียวกันที่เกิดภายใต้กฎหมายใหม่ เมื่อฟังว่า นางสาวอรนลินมีบิดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่เกิด นางสาวอรนลินจึงได้สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในวันที่กฎหมายใหม่มีผล กล่าวคือ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ การใช้สิทธิในสถานะคนสัญชาติไทยประเภทนี้ย่อมจะได้เมื่อมีการปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามมาตรา ๗ วรรค ๒ นี้ที่ออกมาเพื่อกำหนดวิธีการรับรองสัมพันธภาพระหว่างบิดาสัญชาติไทยและบุตรนอกสมรสตามกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีของนางสาวอรนลินนั้น มีข้อพิจารณาเพิ่มเติมขึ้นว่า แม้ในขณะที่เธอเกิด บิดาและมารดาจะมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และเพิ่งมามีสถานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาที่มีสัญชาติไทย นับแต่วันที่บิดาและมารดาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กรฏาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ก็ตาม[2] แต่ด้วยความมีผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ในเรื่องผลของการจดทะเบียนสมรสระหว่างบิดาและมารดาภายหลังบุตรเกิด มาตรา ๑๕๕๗[3] แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ถือว่า บุตรในสถานการณ์ดังกล่าวเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เกิด ด้วยผลของกฎหมายครอบครัวใหม่นี้จึงทำให้อรนลินไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗ วรรค ๒ ซึ่งจะต้องรอการรับรองสัมพันธภาพระหว่างบิดาสัญชาติไทยและบุตรนอกสมรสตามกฎหมายเพื่อการใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ อรนลินมิใช่บุตรนอกสมรสหรือบิดาที่มิชอบด้วยกฎหมายของบิดาอีกต่อไป

โดยสรุป อรนลินจึงมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตั้งแต่เกิด เพียงแต่ความสามารถที่จะมีสิทธิในสัญชาติไทยนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑
 
โดยสรุป นางสาวอรนลินจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยทั้งโดยหลักดินแดนและโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลของกฎหมาย ซึ่งนายทะเบียนราษฎรย่อมมีหน้าที่เพิ่มชื่อของนางสาวอรนลินลงในทะเบียนคนอยู่ถาวร ท.ร.๑๔ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑
 
๒. ความเห็นทางกฎหมายต่อการพิสูจน์สัญชาติไทยของนางสาวอรนลิน
 
เราพบว่า นางสาวอรนลินอาจจะประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคล ๓ ประการที่จะต้องจัดการ กล่าวคือ  ในประการแรก เราพบว่า นางสาวอรนลินประสบความไร้สัญชาติ เพราะไม่ปรากฏมีชื่อของนางสาวอรนลินในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวรในสถานะคนสัญชาติไทยซึ่งบิดาและน้อง ๒ คนมีชื่ออยู่ และเราไม่พบว่า นางสาวอรนลินได้รับการยอมรับสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในทะเบียนบ้านอื่น

ความเป็นไปได้ในการจัดการปัญหานี้ ก็คือ นางสาวอรนลินจะต้องไปร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยที่มีอยู่ทั้ง ๒ ประเภทดังกล่าวข้างต้นต่อนายทะเบียนราษฎร ซึ่งอาจเป็นไปได้ ๒ ทาง ก็คือ
ทางแรก ก็คือ นางสาวอรนลินมีสิทธิร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยต่อนายทะเบียนราษฎร ซึ่งอาจทำต่อนายทะเบียนราษฎรแห่งอำเภอเวียงป่าเป้าอันเป็นท้องที่ที่บิดามีทะเบียนบ้านอยู่ แต่อาจมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะการเดินทางระหว่างสมุทรปราการและเชียงรายน่าจะสร้างภาระทางเศรษฐกิจมากทีเดียว
ทางที่สอง ก็คือ นายปรีชาบิดาควรจะร้องขอย้ายชื่อของบิดาและบุตรที่ได้รับการยอมรับว่า มีสัญชาติไทยแล้วจากทะเบียนบ้านที่เวียงป่าเป้ามาเข้าทะเบียนบ้านของบ้านที่อาศัยที่สมุทรปราการ แล้วนางสาวอรนลินจึงค่อยมาใช้สิทธิร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยต่อนายทะเบียนราษฎรในพื้นที่สมุทรปราการ ทั้งนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งจะถูกกว่ามาก
เราทราบต่อมาว่า นายปรีชาได้เลือกแนวทางที่สองที่จะเริ่มต้นจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของนางสาวอรนลิน และการย้ายทะเบียนบ้านก็ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ในปัจจุบัน นายปรีชาและบุตร ๒ คนหลังมีชื่อในทะเบียนบ้าน ณ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้น อรนลินและบิดาได้ไปร้องขอเพิ่มชื่ออรนลินในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ต่ออำเภอพานทองแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของอำเภอดังกล่าวยังไม่รับคำร้องของอรนลิน
 
๓. ความเห็นทางกฎหมายต่อการตรวจสอบปัญหาความไร้รัฐของนางสาวอรนลิน
 
เราควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่า นางสาวอรนลินประสบความไร้รัฐด้วยหรือไม่  เรายังสงสัยว่า เธอมีชื่อใน ท.ร.๑๓ หรือไม่  หรือในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงตามมารดาหรือไม่ เราพบเพียงว่า สูติบัตรของนางสาวอรนลินระบุว่า เธอมีชื่อทะเบียนบ้านกลาง แขวงเม็งราย สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และเราพบว่า สูติบัตรระบุว่า เธอมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๗

การจัดการปัญหาในขั้นตอนนี้ย่อมขึ้นอยู่กับผลของการตรวจสอบว่า นางสาวอรนลินประสบความไร้รัฐหรือไม่ ?

หากนางสาวอรนลินประสบความไร้รัฐเพราะตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ก็ควรจะต้องมีการบันทึกชื่อของอรนลินชั่วคราวในทะเบียนราษฎรไทยในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยที่มีอยู่ ซึ่งการจัดการที่ควรทำ ก็คือ (๑) การเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงตามมารดา หรือ (๒) การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ ประเภทคนอยู่ชั่วคราว หรือ (๓) การเพิ่มชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรประเภทชนกลุ่มน้อยที่อพยพมานานแล้วที่ตกสำรวจ หรือบุคคลในสถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะบันทึกชื่อของนางสาวอรนลินในทะเบียนราษฎรในกรณีใดกรณีหนึ่ง ก็มีความจำเป็นที่รัฐไทยโดยนายทะเบียนราษฎรจะต้องออกเอกสารรับรองตัวบุคคลเท่าที่เป็นไปได้ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่นางสาวอรนลินในขณะที่ยังพิสูจน์สัญชาติไทยมิได้

หากนางสาวอรนลินไม่ประสบความไร้รัฐเพราะปรากฏชื่อของนางสาวอรนลิน ณ ทะเบียนใดทะเบียนหนึ่งในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ซึ่งการจัดการที่ควรทำ ก็มีเพียงอย่างเดียวในขณะที่ยังพิสูจน์สัญชาติไทยมิได้ กล่าวคือ การออกเอกสารรับรองตัวบุคคลเท่าที่เป็นไปได้ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่นางสาวอรนลิน ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัมพันธภาพระหว่างนางสาวอรนลินและนายปรีชาซึ่งเป็นบิดาที่มีสัญชาติไทย ยังไม่แล้วเสร็จ
ควรจะเริ่มต้นหารือกับสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เทศบาลนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งดูแลทะเบียนคนบ้านกลาง แขวงเม็งรายซึ่งมีชื่อของนางสาวอรนลินถูกบันทึกอยู่ ทั้งนี้ เพื่อจัดการสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรไทยของนางสาวอรนลินโดยพลัน หรือหากมีข้อมูลในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อำเภอพานทองจะ print out ออกมาได้ อำเภอพานทองก็น่าจะแก้ไขปัญหานี้ให้แก่นางสาวอรนลิน

 
๔. ความเห็นทางกฎหมายต่อสิทธิทางการศึกษาของนางสาวอรนลิน
 
สิ่งที่นางสาวอรนลินและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องควรจะต้องทราบ ก็คือ ไม่ว่าจะการพิสูจน์สัญชาติไทยของนางสาวอรนลินจะล่าช้าเพียงใด หรือสำเร็จหรือไม่ ย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิทางการศึกษาของนางสาวอรนลิน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ผูกติดกับสถานะตามกฎหมายสัญชาติ นอกจากนั้น สิทธิทางการศึกษายังได้รับการรับรองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยและกฎหมายระหว่างประเทศลายลักษณ์อักษรที่ผูกพันประเทศไทย

เราทราบว่า ในปัจจุบัน นางสาวอรนลินเรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (วิทยาเขตสมุทรปราการ) ซึ่งสถาบันการศึกษาดังกล่าวรับรองสิทธิทางการศึกษาของนางสาวอรนลินอย่างไม่มีเงื่อนไข

ข้อเสนอเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่สังคมไทย

          ผู้เขียนได้เสนอให้มีกระบวนการเรียนรู้สาธารณะเกี่ยวกับปัญหาความไร้สัญชาติของนางสาวอรนลิน ซึ่งเป็น “กรณีตัวอย่าง” ของคนสัญชาติไทยที่ตกเป็นคนไร้สัญชาติทั้งที่มีข้อเท็จจริงฟังได้ชัดเจนว่ามีสัญชาติไทย โดยการผู้เขียนมีข้อเสนอต่อ ๒ องค์กร กล่าวคือ   (๑) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch
for Research and Development Institute of Thailand หรือ SWIT) และ (๒) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

          ในประการแรก ผู้เขียนเสนอให้ SWIT รับกรณีของนางสาวอรนลินเพื่อทำ test case และสร้าง “ต้นแบบองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติ” ซึ่ง SWIT ก็รับข้อเสนอของผู้เขียน และมอบให้นางสาวบงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาโทของสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและดำเนินการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยให้แก่นางสาวอรนลิน

          ในประการที่สอง ผู้เขียนเสนอให้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ  ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ  และชนพื้นเมือง เข้าร่วมดำเนินการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยให้แก่นางสาวอรนลิน และใช้ประโยชน์ “ต้นแบบองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติ” ซึ่งนางสาวบงกชสร้างสรรค์ขึ้นจากกระบวนการวิจัยเพื่อการพัฒนา นอกจากนั้น ในกรณีที่อำเภอพานทองปฏิเสธที่จะบันทึกชื่อนางสาวอรนลินในสถานะคนสัญชาติไทย การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของนางสาวอรลินย่อมจะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาลปกครอง ซึ่งในสถานการณ์นี้จำเป็นที่จะต้องร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฟ้องต่อศาลปกครองแทนนางสาวอรนลิน ทั้งนี้ จะเป็นการทำ test case สำหรับบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามมาตรา ๒๕๗ (๓) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ....(๓) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง”  ซึ่งการทำ test case ในกรณีหลังนี้จะนำมาซึ่งความชัดเจนในการจัดการปัญหาของคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตที่ตกเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งยังมีอีกหลายกรณีที่มีลักษณะเดียวกับนางสาวอรนลินและรอการจัดการจัดการปัญหา

 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2013-07-01 11:22:22



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล