ReadyPlanet.com


ผิดไหม สามีปลอมลายมือไปกู้เงิน


สวัสดีค่ะ ขอเรียนถาม แยกกันอยุ่กับสามี  สามีปลอมลายมือไปกู้เงิน    กรณีถ้าหย่าแล้วจะเอาผิดได้ไหม หรือยังไม่ได้หย่าก็เอาผิดได้  ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ สิน่า :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-21 20:33:28


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3348292)

การปลอมเอกสารตามข้อเท็จจริงที่สอบถามมานั้น สามารถเอาผิดได้ทุกกรณีครับ ไม่ว่าขณะเป็นคู่สมรสกัน หรือ จดทะเบียนหย่าแล้ว แต่ต้องอยู่ภายในอายุความครับ

กรณีไม่เข้าหลักยกเว้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 71 ความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ถึง มาตรา 336 วรรคแรก และ มาตรา 341 ถึง มาตรา 364 นั้นถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

(มาตรา 334-336 เป็นเรื่องลักทรัพย์) (มาตรา 341-364 เป็นเรื่อง ฉ้อโกง,ยักยอก, รับของโจร, ทำให้เสียทรัพย์, บุกรุก)

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-21 15:24:25


ความคิดเห็นที่ 2 (3348343)

สามีลักทรัพย์ภริยาไม่ต้องรับโทษ
จำเลยที่ 1 เป็นสามีผู้เสียหาย ขณะกระทำความผิดยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 71 ไม่ต้องรับโทษ

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3756 - 3757/2550


 
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก มาตรา 336 ทวิ แม้ศาลชั้นต้นจะระบุว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ มาด้วย แต่ตามมาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดอาญา มาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากจากบทมาตราดังกล่าวไม่ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว
 
________________________________
 
            คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกนางพัชรี โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ร่วมเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ และให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 36,300 บาท แก่ผู้เสียหาย
          จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
            ระหว่างพิจารณานางพัชรี ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นอนุญาต

            ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก มาตรา 336 ทวิ อันเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละสี่กระทง กระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 ปี และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 16,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองกระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี และปรับคนละ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 36,300 บาท แก่โจทก์ร่วม
          โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

            ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหาย จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          โจทก์ร่วมทั้งสองสำนวนฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ร่วมตั้งแต่ปี 2520 และขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน คดีนี้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก ที่บัญญัติว่าความผิดดังกล่าวถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยาผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะระบุว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ มาด้วย แต่ตามมาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดอาญา มาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากจากบทมาตราดังกล่าวไม่ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืนและให้ยกฎีกาของโจทก์ร่วมสำหรับสำนวนหลัง
 
 
( พันวะสา บัวทอง - พินิจ บุญชัด - สมศักดิ์ ตันติภิรมย์ )
 
ศาลอาญา - นางสาวจิราวรรณ ไชยศิรินทร์
ศาลอุทธรณ์ - นายสมศักดิ์ จันทรา
 

          
 
 

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-21 18:01:16



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล