ReadyPlanet.com


จนหนทาง


โดนคดี ลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืน ได้ชดใช้ค่าเสียหายไปบางส่วนแล้ว กำลังจะไปขึ้นศาล ถ้านายจ้างไม่ยอมความจะเป็นอย่างไรต่อคะ



ผู้ตั้งกระทู้ สุ :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-22 02:29:31


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3348788)

ลักทรัพย์นายจ้าง
จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่าให้จำคุกกระทงละ 1 ปี ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเท่ากับศาลอุทธรณ์ โดยไม่รอลงอาญาตามที่จำเลยฎีกา
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5454/2553

พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา     โจทก์

 
          คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมไปลักทรัพย์ของนายจ้าง โดยเหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงอันเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นในเวลากลางวันหรือเกิดในเวลากลางคืน อันเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องเท่านั้น แต่ไม่อาจจะรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในส่วนนี้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้ คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางวันเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) ด้วยจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 335 (1) (11), 335 วรรคสาม, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 351,002.13 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยให้การรับสารภาพ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 335 (1) (11) (ที่ถูก มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 335 (1) (11) วรรคสอง) การที่จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบถอนเงินผู้เสียหายแล้วใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวก็ด้วยเจตนาเพื่อจะเอาเงินที่อยู่ในครอบครองของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไปเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) (ที่ถูก มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 14 กระทง จำคุก 28 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี ที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยว่าผู้เสียหายได้รับคืนจากจำเลยครบถ้วนแล้ว จึงยกคำขอในส่วนนี้

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 14 กระทงจำคุก 14 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 7 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปลักทรัพย์ของนายจ้าง โดยเหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง อันเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นในเวลากลางวันหรือเกิดในเวลากลางคืน อันเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องเท่านั้น แต่ไม่อาจจะรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในส่วนนี้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้ คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางวันเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) ด้วย จึงไม่ชอบปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อศาลฎีกาปรับบทลงโทษจำเลยเพียงอนุมาตราเดียว ศาลฎีกาก็สมควรกำหนดโทษเสียใหม่ แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี อันเป็นขั้นต่ำสุดของกฎหมายแล้ว ไม่อาจกำหนดโทษจำคุกให้ต่ำกว่านี้ได้อีก ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาขอรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยอาศัยโอกาสที่นายจ้างให้ความไว้วางใจแล้วลักทรัพย์นายจ้างไปเป็นเงิน 351,002.13 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก และลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
 
 
( บุญมี ฐิตะศิริ - สิทธิชัย พรหมศร - จักร อุตตโม )

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายลีนนท์0859604258 วันที่ตอบ 2012-10-25 12:22:46


ความคิดเห็นที่ 2 (3348789)

ลักทรัพย์นายจ้าง รอลงอาญา ผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดี

จำเลยลักทรัพย์นายจ้างแม้พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ให้การรับสารภาพของจำเลยและรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดใด ๆ มาก่อน ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการไร่ดูแลไร่ของผู้เสียหายซึ่งมีจำนวนหลายร้อยไร่มาหลายปี จำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา เพิ่งจะมีปัญหาคดีนี้ แต่ผู้เสียหายก็ปรับความเข้าใจกับจำเลยได้แล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ทั้งยังให้จำเลยทำงานกับผู้เสียหายต่อไปเช่นเดิมอีกด้วย จำเลยมีอายุ 45 ปีแล้ว การดำรงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีนิสัยและความประพฤติในทางเสื่อมเสีย จำเลยมีครอบครัวและมีบุตร 3 คน ดังนั้น สาเหตุที่กระทำความผิดน่าจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คดีมีเหตุอันควรปรานีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7815/2552

พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี     โจทก์

            คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักท่อพีอี (ท่อส่งน้ำ) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (12) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
 
________________________________
 
          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335 (7) (11) (12) ให้จำเลยคืนทรัพย์หรือชดใช้ราคาเป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) (12) วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพกสิกรรม โดยมิได้บรรยายว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์พืชพันธ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้จากการทำกสิกรรมนั้นตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น ที่ศาลล่างปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (12) ด้วย ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ สำหรับปัญหาในชั้นฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยลักทรัพย์นายจ้างแม้พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ได้ความจากคำร้องขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพของจำเลยลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 กับรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดใด ๆ มาก่อน ผู้เสียหายมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการไร่ดูแลไร่ของผู้เสียหายซึ่งมีจำนวนหลายร้อยไร่มาหลายปี จำเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีตลอดมา เพิ่งจะมีปัญหาคดีนี้ แต่ผู้เสียหายก็ปรับความเข้าใจกับจำเลยได้แล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ทั้งยังให้จำเลยทำงานกับผู้เสียหายต่อไปเช่นเดิมอีกด้วย จำเลยมีอายุ 45 ปีแล้ว การดำรงชีวิตที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีนิสัยและความประพฤติในทางเสื่อมเสีย จำเลยมีครอบครัวและมีบุตร 3 คน ดังนั้น สาเหตุที่กระทำความผิดน่าจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คดีมีเหตุอันควรปรานีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

            อนึ่ง เมื่อผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำความผิดแล้ว ก็ไม่อาจจะสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์อีก ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225
          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) ให้ลงโทษและรอการลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
 
 
( พิทักษ์ คงจันทร์ - ตรีวุฒิ สาขากร - เฉลียว พลวิเศษ )
 
ศาลจังหวัดราชบุรี - นางอรอุมา วชิรประดิษฐพร
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายไมตรี ศิริเมธารักษ์

ผู้แสดงความคิดเห็น * วันที่ตอบ 2012-10-25 12:31:17



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล