ReadyPlanet.com


สอบถามเรื่องสัญญาจ้างงาน


สวัสดีคะ ดิฉันมีเรื่องจะปรึกษาคะ

ขอเกริ่นเรื่องก่อน ดิฉันเข้ามาทำงานในบิรษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทเปิดใหม่ โรงงานยังสร้างไม่เสร็จ ยังไม่มีฝ่ายบุคคล ก็ทำงานในฐานะล่ามมาประมาณหนึ่งเดือนกว่า ทางบริษัทบอกว่าจะส่งมาญี่ปุ่นเพราะจะมีพนักงานฝึกงานไปญี่ปุ่นกันหมดเลย แล้วเค้าก็ให็เซ็นต์สัญญาสองตัว ตัวแรกเป็นสัญญาจ้างเป็นภาษาญี่ปุ่น บอกเงินเดือน สวัสดิการเล็กน้อย แล้วก็ชื่อผู้จ้าง ชื่อผู้ถูกว่าจ้าง แล้วก็เซ็นต์ชื่อเรา  ตัวที่สองคือสัญญาบอกว่าเราจะทำงานให้บริษัทสองปีหลังจากกลับมาที่ไทยแล้ว  ถ้าออกก่อนเราต้องชดใช้ค่าฝึกงานทั้งหมดตามที่เค้าเสียไประบุจำนวนเงินไว้ (ซึ่งไม่เท่าตามที่ได้รับจริง)  เซ็นต์ชื่อตัวเอง แต่ไม่มีลายเซ็นต์พยาน และมีตัวจริงแค่ฉบับเดียวที่บริษัทเก็บไว้

เค้าบอกว่าสิ้นปีจะมีสัญญาจ้างตัวเต็มให้เราเซ็นต์อีกที  ตอนก่อนที่จะทำงานตกลงกันไว้ว่าจะทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์  แล้วพอตอนนี้ดิฉันไปถามว่าวันปิยะ กับวันพ่อทางบริษัทจะหยุดให้มั๊ย  สรุปก็ไม่หยุด และบอกว่าต่อจากนี้ ปีไหนๆ ก็ไม่หยุด เค้าให้เหตุผลว่า ก็เอาวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไปหยุดแทนวันเสาร์ให้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้วันหยุดตามประเพณี แต่เราจะได้หยุดวันเสาร์แทน เราก็งงว่าเอ๊ะ ตอนแรกตกลงกันไว้ว่าจะทำจันทร์ถึงศุกร์ ถ้างั้นวันเสาร์ถ้าทำต้องเป็นโอที สิ แต่พอมาทบกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ กลายเป็นว่าเราไม่ได้ โอที อะไรเลย เค้าอ้างว่าอ้างอิงตามปฎิทินของบริษัทลูกค้ารายใหญ่ แต่พอเราได้เห็นปฎิทินของบริษัทลูกค้าเราแล้ว ปรากฏว่าทำงานจันทร์ถึงศุกร์ หยุดตามประเพณีปกติ มีทำงานวันเสาร์ 1 ปี มีหกวัน ในสัญญาก็ไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่าทำงานวันไหนบ้าง เวลาเท่าไหร่ ค่าโอทีก็ไม่ได้เขียนบอก

ในสัญญามาญี่ปุ่นก็ไม่มีระบุจำนวนเดือนที่มา และสัญญามาญี่ปุ่นนั้นเป็นสัญญาสำหรับมาฝึกงาน แต่ด้วยหน้าที่ที่ดิฉันมาทำเป็นล่ามนั้น เป็นการทำงานไม่ใช่การฝึกงานคะ คือการมาล่ามให้คนไทยที่มาฝึกงาน

ดิฉันขอถามว่า

1. สัญญาที่มีรายละเอียดระบุไม่ชัดเจน ไม่มีเวลาทำงาน ไม่มีลายเซ้นต์พยาน และสัญญามาญี่ปุ่นนั้นเป็นของคนที่มาฝึกงาน (แต่ดิฉันมาทำงานในฐานะล่าม) จำนวนเงินที่ระบุไม่เท่ากับที่ได้รับ ลาป่วยมีใบรับรองแพทย์แต่โดนหักเงิน จะเป็นโมฆะได้มั๊ยคะ

2. ถ้าตามที่ตกลงกันไว้ว่าทำงานจันทร์ถึงศุกร์ แต่อยู่ๆดี เค้ามาเปลี่ยนเป็นทำวันเสาร์ด้วย (อาจจะเสาร์ เว้นเสาร์ หรืออาจจะถี่กว่า) แล้วบอกว่าจะให้มาทำงานวันหยุดนักขัตฤกษ์แทน แต่จะหยุดวันเสาร์ให้ อย่างนี้ถือว่าเค้าผิดสัญญาหรือเปล่าคะ ถ้าสมมุติเราไม่ยอม เราฟ้องศาลแรงงานได้หรือไม่ แล้วจะคำพูดเราจะมีน้ำหนักมั๊ย ในเมื่อตกลงกันปากเปล่า

 

ขอบคุณล่วงหน้าคะ



ผู้ตั้งกระทู้ Hane :: วันที่ลงประกาศ 2013-10-23 17:06:54


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3378330)

1. สัญญาที่มีรายละเอียดระบุไม่ชัดเจน ไม่มีเวลาทำงาน ไม่มีลายเซ้นต์พยาน และสัญญามาญี่ปุ่นนั้นเป็นของคนที่มาฝึกงาน (แต่ดิฉันมาทำงานในฐานะล่าม) จำนวนเงินที่ระบุไม่เท่ากับที่ได้รับ ลาป่วยมีใบรับรองแพทย์แต่โดนหักเงิน จะเป็นโมฆะได้มั๊ยคะ
ตอบ - สัญญาที่ไม่ชัดเจนต้องดูที่เจตนาของคู่สัญญาครับ ว่ามีเจตนาผูกพันกันอย่างไร หากสัญญาในส่วนใดไม่สามารถบังคับได้ก็ให้ตกเป็นโมฆะเฉพาะในส่วนนั้น แต่ในส่วนที่ยังใช้ได้ก็ต้องบังคับกันไปไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับครับ
เช่น รายละเอียดไม่ช้ดเจนในเรื่องใดก็ต้องไปดูว่าที่คู่สัญญาตกลงเข้าทำสัญญากันไปแล้วด้วยความสมัครใจนั้นแท้จริงแล้วฝ่ายใดเข้าใจว่าอย่างไร จึงเข้าทำสัญญา แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจอย่างนี้แล้วมันฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานส่วนที่ฝ่าฝืนก็ต้องตกเป็นโมฆะได้ครับ ส่วนพยานไม่ลงลายมือชื่อนั้น สำหรับเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีพยานลงลายมือชื่อจึงจะสมบูรณ์ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีพยานลงชื่อก็ได้ครับ สำหรับจำนวนเงินที่ระบุไม่เท่ากับที่ได้รับ ก็ต้องถือเอาสัญญาที่ตกลงกันไว้เป็นหลักถ้าไม่จ่ายตามสัญญาก็ฟ้องครับ สำหรับลาป่วยแล้วหักก็เช่นกัน นายจ้างไม่สามารถหักเงินสำหรับวันลาป่วยได้เป็นสิทธิของลูกจ้าง กรณี้สามารถร้องเรียนพนักงานตรวจแรงงานได้ครับ

2. ถ้าตามที่ตกลงกันไว้ว่าทำงานจันทร์ถึงศุกร์ แต่อยู่ๆดี เค้ามาเปลี่ยนเป็นทำวันเสาร์ด้วย (อาจจะเสาร์ เว้นเสาร์ หรืออาจจะถี่กว่า) แล้วบอกว่าจะให้มาทำงานวันหยุดนักขัตฤกษ์แทน แต่จะหยุดวันเสาร์ให้ อย่างนี้ถือว่าเค้าผิดสัญญาหรือเปล่าคะ ถ้าสมมุติเราไม่ยอม เราฟ้องศาลแรงงานได้หรือไม่ แล้วจะคำพูดเราจะมีน้ำหนักมั๊ย ในเมื่อตกลงกันปากเปล่า
ตอบ - กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง วันละ 7 ชั่วโมง เกินจากนั้นต้องเป็นการทำงานล่วงเวลาครับ, ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวันโดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมี ระยะห่างกันไม่เกินหกวัน, ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า สิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนด, ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงาน  ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือ นายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้ ,  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมี สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน,  ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง,  ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน , 

 

 มาตรา 23 ให้นายจ้างประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้าง ทราบโดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน ของลูกจ้างได้ไม่เกินเวลาทำงานของแต่ละประเภทงาน ตามที่ กำหนดในกฎกระทรวง แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินแปดชั่วโมงและเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง เว้นแต่ งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างที่ กำหนดในกฎกระทรวง จะมีเวลาทำงานปกติวันหนึ่งต้องไม่เกิน เจ็ดชั่วโมง แต่เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งไม่เกิน สี่สิบสองชั่วโมง
 ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจประกาศกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลา สิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันได้เนื่องจากลักษณะหรือสภาพของงาน ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดชั่วโมงทำงานแต่ละวันไม่เกิน แปดชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่ เกินสี่สิบแปดชั่วโมง

 มาตรา 24 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวัน ทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป
 ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วง เวลาได้เท่าที่จำเป็น

 มาตรา 25 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น
 ในนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการ โรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขาย เครื่องดื่มสโมสรสมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่ กำหนดในกฎกระทรวง
 เพื่อประโยชน์แก่การผลิต การจำหน่าย และการบริการ นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงาน นอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และสองในวันหยุดเท่าที่จำเป็น โดยได้รับความยินยอมจาก ลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

 มาตรา 26 ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาตาม มาตรา 24 วรรคหนึ่ง และชั่วโมงทำงานในวันหยุดตาม มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม เมื่อรวมแล้วจะต้องไม่เกินอัตราตามที่กำหนดใน กฎกระทรวง

 มาตรา 27 ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง มีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลัง จากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมงติดต่อกัน นายจ้าง และลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า หนึ่งชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าหนึ่ง ชั่วโมง
 ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาพักระหว่าง การทำงานตามวรรคหนึ่งเป็นอย่างอื่น ถ้าข้อตกลงนั้นเป็นประโยชน์ แก่ลูกจ้าง ให้ข้อตกลงนั้นใช้บังคับได้
 เวลาพักระหว่างการทำงานไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน เว้น แต่เวลาพักที่รวมกันแล้วในวันหนึ่งเกินสองชั่วโมง ให้นับเวลาที่เกิน สองชั่วโมงนั้นเป็นเวลาทำงานปกติ
 ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อย กว่าสองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่ายี่สิบ นาทีก่อนที่ลูกจ้างเริ่มทำงานล่วงเวลา
 ความในวรรคหนึ่งและวรรคสี่มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ลูกจ้าง ทำงานที่มีลักษณะ หรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปโดยได้ รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน

 มาตรา 28 ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวันโดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมี ระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้
 ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานใน ที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้าง และลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และ เลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน

 มาตรา 29 ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า สิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนด
 ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจาก วันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
 ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุด ประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุด ตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
 ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณี ได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงาน ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้าง ว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือ นายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

 มาตรา 30 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมี สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้ นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือ กำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
 ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้
 ในายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อน วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนด วันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้

 มาตรา 31 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดในงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความ ปลอดภัยของลูกจ้างตาม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

 มาตรา 32 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาล ของทางราชการในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ
 ในกรณีที่นายจ้างจัดแพทย์ไว้ ให้แพทย์นั้นเป็นผู้ออกใบรับรอง เว้นแต่ลูกจ้างไม่สามารถให้แพทย์นั้นตรวจได้
 วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานและวันลาเพื่อคลอดบุตรตาม มาตรา 41 มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตาม มาตรา นี้

 มาตรา 33 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้และมีสิทธิลา เนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง กำหนดและออกใบรับรอง

 มาตรา 34 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

 มาตรา 35 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารในการ เรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความ พรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

 มาตรา 36 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนา ความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ กระทรวง

 มาตรา 37 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกินอัตราน้ำหนักตามที่ กำหนดในกฎกระทรวง

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 085-9604258 วันที่ตอบ 2013-10-24 17:24:17



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล