ReadyPlanet.com


การทำพินัยกรรม


อยากทราบค่ะว่า ถ้าเจ้าบ้าน ณ ตอนยังมีสติครบถ้วนอยู่  มีบุตร 3 คน แต่เพิ่งเสียไป และตอนนี้เท่ากับเหลือ 2 คน และ ทางเจ้าบ้านต้องการจะให้บ้านหลังนี้ ไม่มีการ ซื้อ ขาย จำนำ จำนอง หรือ ทำการใดๆๆทั้งสิ้น ให้ตกเป็นมรดกตกทอดไปเรื่อยๆๆ อยากสอบถามว่าแบบนี้ต้องทำเป็นพินัยกรรมแบบใด และต้องมีระบุเวลา หรือกำหนดข้อบังคับใดๆๆได้บ้างค่ะ เพื่อไม่ให้มีการฟ้องร้อง หรือ เรียกร้องสิทธิ์ตามหลัง จากที่เจ้าบ้านได้เสียชีวิต  รบกวนตอบคำถามด้วยนะค่ะ...ขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ ปาณิสรา :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-24 15:30:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3285785)

คำว่า "เจ้าบ้าน" ของคุณ คงหมายถึง เจ้ามรดกหรือเจ้าของทรัพย์ หรือ ผู้ทำพินัยกรรม ซึ่งตามคำถาม ถามถึงวิธีทำพินัยกรรมที่มีข้อกำหนดว่าห้ามโอนทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นสามารถทำได้ครับ โดยกำหนดผู้รับพินัยกรรมไว้ และผู้อื่นที่เป็นตัวสำรองในกรณีที่ผู้รับพินัยกรรมละเมิดข้อกำหนดพินัยกรรมห้ามโอนเอาไว้ด้วย และต้องกำหนดเวลาห้ามโอนเอาไว้ ในกรณีที่ไม่ใช่ที่ดิน ก็ต้องเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียนจึงจะห้ามโอนได้ และต้องนำหลักฐานทางทะเบียนไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยจึงจะบริบูรณ์

                  มาตรา 1700 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิต หรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน
        (วรรคสอง)ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดังกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่างๆได้อยู่ในขณะที่การจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ
(วรรคสาม)ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย

                  มาตรา 1701 ข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตราก่อนนั้นจะให้มีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ก็ได้
          (วรรคสอง)ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลธรรมดา ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนมีระยะเวลาอยู่ตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นนิติบุคคล ให้มีระยะเวลาเพียงสามสิบปี
(วรรคสาม)ถ้าได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ กำหนดนั้นมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี

                  มาตรา 1702 ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้นั้นให้ถือว่าเป็นอันไม่มีเลย
          (วรรคสอง)ข้อกำหนดห้ามโอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
(วรรคสาม)บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 18:50:35


ความคิดเห็นที่ 2 (3285791)

การให้ทรัพย์สินและข้อกำหนดห้ามโอนขาย

ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การให้ทรัพย์ที่มีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สิน ผู้ให้ทรัพย์สินจะต้องกำหนดบุคคลที่รับทรัพย์ที่ให้ และทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5521/2538
 

          โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่1โดยเสน่หาโดยมีข้อตกลงด้วยวาจาว่าห้ามมิให้จำเลยที่1นำที่ดินพิพาทไปขาย ต่อมาจำเลยที่1ได้ขายที่ดินพิพาทจำนวน1,000ส่วนใน1,064ส่วนให้แก่จำเลยที่2ในราคา 500,000 บาทโดยจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจำนวนดังกล่าวดังนี้เมื่อข้อห้ามโอนดังกล่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แต่โจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งมิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ข้อห้ามโอนดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1700 และ 1702 จำเลยที่1จึงมีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่2ได้
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 โจทก์ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8938 ตำบลไทรม้า อำเภอเมืองนนทบุรีจังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาให้จำเลยที่ 1 โดยไม่มีค่าภาระติดพันและตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะนำไปยกให้ โอนขาน แลกเปลี่ยนหรือให้ผู้ใดถือกรรมสิทธิ์รวมไม่ได้ เว้นแต่โจทก์ตายเสียก่อน จำเลยที่ 1ต้องอุปการะเลี้ยงดูและจัดงานศพโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่พอใจบิดามารดาที่ว่ากล่าวตักเตือนได้ออกจากบ้านไปไม่เลี้ยงดูโจทก์ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวม มีค่าตอบแทนเป็นเงิน 500,000 บาท โดยรู้ดีกว่าโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1เพื่อเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้เพิกถอนการถือกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2533 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

          จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1โดยเสน่หาไม่มีค่าภาระติดพัน และไม่มีข้อตกลงและเงื่อนไขใด ๆจำเลยที่ 1 เลี้ยงดูโจทก์ตลอดมา ไม่เคยประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 2 จ่ายค่าตอบแทนโดยสุจริต

          จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยนายหน้านำมาเสนอขาย จำเลยที่ 2ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเป็นเงิน7,250,000 บาท ไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
                โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหลานของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1  มาตั้งแต่จำเลยที่ 1 อายุ 2 ปี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ตามเอกสารหมาย จ.2 โดยมีข้อตกลงด้วยวาจาว่าห้ามมิให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขายและให้จำเลยที่ 1 อุปการะเลี้ยงดูโจทก์จนกว่าโจทก์จะตาย และเมื่อตายแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้จัดการศพของโจทก์ต่อมาประมาณเดือนสิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทและวันที่ 25 มิถุนายน 2533  จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทจำนวน 1,000 ส่วนใน1,064 ส่วน ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 500,000 บาท โดยจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจำนวนดังกล่าว ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบอำนาจให้บิดาจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เหตุเนรคุณซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นสำหรับคดีนี้โจทก์ก็ได้มอบอำนาจ ให้บิดาจำเลยที่ 1 ฟ้องเช่นเดียวกัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อกำหนดห้ามโอนของโจทก์มีผลใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า บุคคลใดจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิตโดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิขาดในเมื่อมีการละเมิดข้อตกลงห้ามโอนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1700 วรรคหนึ่ง ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1700 วรรคสาม นอกจากนี้ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1702 วรรคสอง เมื่อข้อห้ามโอนดังกล่าวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่โจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งมิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ข้อห้ามโอน ดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1จึงมีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้สมรู้หรือคบคิดกับจำเลยที่ 1 หรือรับโอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตอย่างใดโจทก์คงนำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 2 เพียง 500,000 บาท ซึ่งเป็นราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมากทำให้โจทก์เสียเปรียบเท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์จะฟ้องเพิกถอนการให้ที่ดินจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่อาจจะเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องได้
          พิพากษายืน 

( นิวัตน์ แก้วเกิดเคน - ยงยุทธ ธารีสาร - ยรรยง ปานุราช )

      

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 19:35:51



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล