ReadyPlanet.com


การครอบครองที่ดินทำกินมาแล้ว 21 ปี


นาย ก.ซิ้อขายที่นากับ นายข.อย่างถูกต้องมีพยานรู้เห็นและทำทำกินมาแล้ว 21 ปี แต่ยังไม่ได้โอนที่เพราะโฉนดดิดจำนองอยู่แต่พอ นาย ก. ยกมรดกที่ดินให้นาง ค. (ลูก)ทำกินต่อมาแล้ว 7 ปี   แล้ววันหนึ่งมีนาย ง. มาบอกว่าเป็นเจ้าของที่ได้จากการซื้อขายทอดตลาดมาอีกทีแต่  นาง ค. ก็ยังคงทำกินอยู่เหมือนเดิมไม่มีการแจ้งเหตุหรือหมายศาลใดๆ ให้ทราบหรือให้ออกจากที่นาไปอยากทราบว่าอย่างนี้นาง ค. (ลูก)นายก.มีสิทธิยื่นขอครอบครองที่ดินทำกินเกิน 10 ปี (ครอบครองปรปักษ์)ได้หรือไม่คะ



ผู้ตั้งกระทู้ BB (nim_kf-at-hotmail-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-24 16:13:52


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3285794)

ทรัพย์สินที่ดินของนาย ข. ติดจำนองอยู่ แม้จะได้นำที่ดินไปจำนองแต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของนาย ข. อยู่ เมื่อนาย ข. นำที่ดินมาขายให้นาย ก. และไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นโมฆะ สิทธิตามสัญญาซื้อขายใช้บังคับกันไม่ได้ แต่การที่นาย ข. ส่งมอบที่ดินให้ นาย ก. ทำกินตลอดมา เป็นการที่นาย ข สละสิทธิครอบครอง นาย ก. และนาง ค. ครอบครองติดต่อกันเรื่อยมา โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาอย่างเป็นเจ้าของเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิในที่ดิน

แต่เนื่องจากผู้รับจำนองได้ทำนิติกรรมก่อนที่ นาย ก. จะซื้อที่ดินอันเป็นวันเริ่มนับการครอบครองปรปักษ์ เจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินได้ เมื่อผู้รับจำนองได้รับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้ทะเบียนจำนองโดยสุจริต นาย ก. ซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับจำนองไม่ได้

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 19:55:31


ความคิดเห็นที่ 2 (3285797)

ครอบครองปรปักษ์ที่ดินติดจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8613/2549


          แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ก่อนไต่สวนคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้คัดค้านเพื่อให้มีโอกาสคัดค้านแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ ก็ต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) เพราะผู้คัดค้านเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ และชอบที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านเพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านให้ตามรูปคดี
________________________________

          คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งแสดงว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง และแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่แก้ทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนธนาคารอาคารสงเคราะห์

          ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 47400 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเชียงใหม่ทราบ

          ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ คดีอยู่ระหว่างแจ้งคำสั่งศาลไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่เพื่อแก้ไขทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หากมีการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง จึงมีสิทธิร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) และยื่นคำคัดค้านอีกฉบับหนึ่งว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขาย ถือว่าครอบครองแทนนางพิศศุภร แก้วสว่าง ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทจากนางพิศศุภรโดยสุจริต และซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยสุจริต จึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และหากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่แก้ไขทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปแล้วขอให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่แก้ไขทะเบียนกลับมาเป็นชื่อของผู้คัดค้าน

          ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอของผู้คัดค้านว่า คำร้องขอของผู้คัดค้านไม่ต้องด้วยมาตรา 57 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองย่อมบังคับจำนองตามสัญญาจำนองซึ่งตกติดไปกับทรัพย์จำนองได้อยู่แล้ว จึงให้ยกคำร้องขอ และสั่งคำคัดค้านของผู้คัดค้านว่า เนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาที่ผู้ค้ดค้านจะยื่นคำคัดค้านได้ ประกอบกับศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่ขอร้องสอดตามมาตรา 57 (1) จึงให้ยกคำคัดค้าน

          ผู้คัดค้านอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิร้องขอเข้ามาในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ผู้ร้องมีสิทธินำคำสั่งศาลอันถึงที่สุดไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการใช้ชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหากผู้ร้องดำเนินการต่อไปและเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้เป็นชื่อของผู้ร้องแล้ว ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ และชอบที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ก่อนไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้คัดค้านเพื่อให้มีโอกาสคัดค้านแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านมิได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ก็ต้องถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกคดีมีสิทธิพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 (2) ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านเพื่อวินิจฉัยถึงข้อโต้แย้งสิทธิของผู้คัดค้านให้ตามรูปคดี การที่ผู้คัดค้านเป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทมิใช่เหตุที่จะยกคำร้องขอของผู้คัดค้านดังที่ศาลชั้นต้นอ้างมาในคำสั่งได้ เพราะผู้คัดค้านร้องขอเข้ามาในคดีในฐานะเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หาได้อาศัยสิทธิจำนองซึ่งผู้คัดค้านได้บังคับตามสิทธิเสร็จสิ้นไปแล้วไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอและคำคัดค้านของผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น”

          พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอและคำคัดค้านของผู้คัดค้านในศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอและคำคัดค้านดังกล่าวแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมคำสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่

( ชัชลิต ละเอียด - บุญรอด ตันประเสริฐ - เฉลิมเกียรติ ชาญศิลป์ )

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 20:02:59


ความคิดเห็นที่ 3 (3285805)

สิทธิของผู้รับจำนองกับการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  988/2541


 ธนาคาร กสิกร ไทย จำกัด           โจทก์
 

          ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อประมาณปี 2514 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 84 ตารางเมตรพร้อมตึกแถว 2 คูหา เลขที่ 2741ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่4783 ที่จำเลยได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องชำระราคาแล้ว ผู้ร้องและครอบครัวได้เข้าไปอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตั้งแต่ปี 2515 แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต่อมาผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่โจทก์รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่4783 ทั้งแปลงจากจำเลยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2516 จึงเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมได้สิทธิจำนองอันครอบไปถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 ทั้งแปลงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่ก่อนที่ผู้ร้องจะสามารถอ้างได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาท สิทธิจำนองนี้เป็นสิทธิครองเหนือทรัพย์จำนองทั้งหมดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 ทรัพย์ส่วนที่ผู้ร้องได้ไปโดยการครอบครองปรปักษ์นับเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่จำนอง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินทั้งแปลงได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ผู้รับจำนองได้รับจำนองได้รับจำนองที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้ทะเบียนจำนองโดยสุจริต ผู้ร้องซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองไม่ได้

________________________________


          คดีสืบเนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 4783และ 70102 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยซึ่งโจทก์ได้ฟ้องและบังคับจำนองเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อปลายปี 2514 ผู้ร้องซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 จำนวน 84 ตารางเมตรพร้อมตึกแถว 2 คูหา เลขที่ 2741 จากนายง่วนฮง แซ่ลี้ ในราคา310,000 บาท ผู้ร้องชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องได้เข้าครอบครองที่ดินเนื้อที่ 84 ตารางเมตร พร้อมตึกแถวเลขที่ 2741อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์โจทก์รับจำนองที่ดินและตึกแถวโดยผู้ร้องไม่รู้เห็น การรับจำนองของโจทก์ไม่คลุมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโจทก์จึงรับจำนองโดยไม่สุจริตและประมาทเลินเล่อทำให้ผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของผู้ร้องได้ก่อนเสียเปรียบ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามคำร้อง

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์รับจำนองที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

          ผู้ร้องอุทธรณ์
                 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          ผู้ร้องฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2516 จำเลยซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 70102 และที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 จากคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร และในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวกับโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือหนี้ประเภทอื่น ๆ ของผู้จำนองทั้งที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าเป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท วันที่ 22 มิถุนายน 2519จำเลยได้จดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองอีก 1,800,000 บาทและวันที่ 12 เมษายน 2520 จำเลยจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองอีก 2,000,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำนองทั้งสิ้น5,000,000 บาท สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่บนที่ดินทั้งสองแปลงนี้ในขณะนี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าจำนองด้วยทั้งสิ้นเมื่อประมาณปี 2514 ผู้ร้องซื้อที่ดินบางส่วนของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 4783 เนื้อที่ 84 ตารางเมตร พร้อมตึกแถว 2 คูหาเลขที่ 2741 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินเนื้อที่ดังกล่าวจากนายง่วนฮง แซ่ลี้ บิดาจำเลยราคา 310,000 บาท แต่มิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ร้องและครอบครัวได้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทและตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่ปี 2515ได้ขอให้นายง่วนเฮงและจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวให้ แต่คนทั้งสองขอผัดผ่อนเรื่อยมา จนปี 2527 ผู้ร้องจึงร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้กันส่วนที่ดินเนื้อที่ 84 ตารางเมตร พร้อมตึกแถว 2 คูหาเลขที่ 2741 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 ที่โจทก์นำยึดเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่า เมื่อประมาณปี 2514 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 84 ตารางเมตรพร้อมตึกแถว2 คูหา เลขที่ 2741 ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 ที่จำเลยได้จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ผู้ร้องชำระราคาแล้ว ผู้ร้องและครอบครัวได้เข้าไปอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตั้งแต่ปี 2515 แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และต่อมาผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 ทั้งแปลงจากจำเลยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2516 จึงเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมได้สิทธิจำนองอันครอบไปถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 4783 ทั้งแปลงโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่ก่อนที่ผู้ร้องจะสามารถอ้างได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาท สิทธิจำนองนี้เป็นสิทธิครอบเหนือทรัพย์จำนองทั้งหมดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 ทรัพย์ส่วนที่ผู้ร้องได้ไปโดยการครอบครองปรปักษ์นับเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่จำนอง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินทั้งแปลงได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ผู้รับจำนองได้กระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ผู้รับจำนองได้รับจำนองที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนจำนองโดยสุจริต ผู้ร้องซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับจำนองซึ่งได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตไม่ได้

          พิพากษายืน
( สมชัย สายเชื้อ - วิรักษ์ เอื้ออังกูร - ธรรมนูญ โชคชัยพิทักษ์ )

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 20:14:41


ความคิดเห็นที่ 4 (3285809)

การครอบครองปรปักษ์ที่ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2869/2532


 ธนาคาร กสิกร ไทย จำกัด          โจทก์
 
          แม้ผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ในที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว แต่เมื่อผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนสิทธิของตนไว้ ทั้งไม่ได้กล่าวอ้างว่าโจทก์รับจำนองที่พิพาทไว้โดยไม่สุจริตเพื่อตั้งประเด็นไว้ในคำร้อง จึงฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งสิทธิจำนองที่พิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธินั้นแล้วโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองในสิทธิแห่งตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
________________________________

          กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้เงินยืมและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 429,123.79บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ทรัพย์สินของจำเลยที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทราบคำบังคับแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตราจองเลขที่ 306 หมู่ที่ 9 ตำบลเสือโฮก อำเภอเมืองชัยนาทจังหวัดชัยนาท ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์นั้น ผู้ร้องทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยในส่วนทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 2 งาน ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวและบ้านเลขที่ 136 ด้วยความสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบัน และผู้ร้องทั้งสองได้ล้อมรั้วแสดงอาณาเขตและแดนกรรมสิทธิ์ไว้อย่างชัดแจ้งทั้งสี่ด้านผู้ร้องทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ปล่อยหรือถอนการยึดทรัพย์ส่วนของผู้ร้องทั้งสองด้วย โจทก์ให้การว่า จำเลยได้นำที่ดินดังกล่าวมาจำนองแก่โจทก์ โจทก์จดทะเบียนจำนองกับจำเลยโดยสุจริตเปิดเผย และมีค่าตอบแทน ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองจะนำมาใช้ยันกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้ เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องทั้งสองฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ในปัญหาที่ว่าผู้ร้องทั้งสองจะขอให้ปล่อยการยึดเฉพาะที่พิพาทได้หรือไม่ ผู้ร้องทั้งสองอ้างตามคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและเป็นส่วนสัดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีจนที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ร้องทั้งสองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่พิพาท ตามข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นข้ออ้างของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังเป็นจริงได้ตามที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างก็เป็นเพียงการได้มาซึ่งสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น อันมิใช่การได้มาโดยทางนิติกรรม เมื่อผู้ร้องทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนสิทธิของตนไว้ จึงไม่อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ทั้งต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1299 วรรคสอง ส่วนปัญหาว่าโจทก์ผู้รับจำนองได้รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่นั้น ผู้ร้องทั้งสองไม่ได้กล่าวอ้างหรือยกประเด็นเพื่อการนำสืบไว้ในคำร้อง ทั้งที่ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายตนที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่โจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์รับจำนองที่ดินตราจองเลขที่ 306 ไว้โดยสุจริตหรือไม่ดังนั้น ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและคำให้การของโจทก์จึงฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งสิทธิจำนองที่ดินตามตราจองเลขที่ 306 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองในสิทธิแห่งตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินตราจองเลขที่ 306ส่วนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการยึดไว้นั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น"

          พิพากษายืน

( บุญส่ง วรรณกลาง - ประชา บุญวนิช - นิเวศน์ คำผอง )

           

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-24 20:24:35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล