ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ถอนอำนาจปกครองตามบันทึกการหย่า

ถอนอำนาจปกครองตามบันทึกการหย่า

สามีภิริยากันต่อมาจดทะเบียนหย่ากันโดยบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่าให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของภริยาแต่ผู้เดียว ให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท สามีเคยนำเงินฝากเข้าบัญชีของภริยาเพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาท แต่ภริยาก็ถอนเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจนหมด พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปไม่สมควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอีกต่อไป ขอให้ถอนอำนาจปกครอง และแต่งตั้งสามีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองกับทั้งให้มีอำนาจหากศาลมีคำสั่งให้สามีเป็นฝ่ายออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อไปเช่นเดิม ขอให้มีคำสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเหลือเดือนละ 20,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในระหว่างเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมคนละเดือนละ 10,000 บาท ในระดับชั้นมัธยมศึกษาคนละเดือนละ 15,000 บาท ในระดับชั้นอุดมศึกษาคนละเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น  ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน  ฎีกาของภริยาว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ศาลมีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้เมื่อพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองมานั้น จึงเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4681/2552
 
 การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใด มิได้พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์

 ตามคำร้องขอของผู้ร้องนอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของ ป. และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย อันส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดู เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์แก่ ป. ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรอง นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้ ป. เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจ ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วย ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้

          ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลี่ยนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องและนางปวีณาหรืออรวรรยา เป็นสามีภิริยากัน ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ผู้ร้องกับนางปวีณาจดทะเบียนหย่ากันโดยบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่าให้เด็กชายชนาธิป และเด็กหญิงกันตา บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของนางปวีณาแต่ผู้เดียว ให้ผู้ร้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท แต่ภายหลังนางปวีณาไม่ได้ประกอบอาชีพ ไม่มีรายได้และไม่ได้เลี้ยงดูอบรมสั่งสอนบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามสมควร ผู้ร้องเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นส่วนใหญ่และเป็นผู้ส่งเสียบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้เล่าเรียนหนังสือ อีกทั้งผู้ร้องยังนำเงินฝากเข้าบัญชีของนางปวีณาเพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาท แต่นางปวีณาถอนเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจนหมด พฤติการณ์ของนางปวีณาเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีความพร้อมและไม่สมควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอีกต่อไป ผู้ร้องมีความพร้อมและเต็มใจเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็เต็มใจอยู่ในความปกครองของผู้ร้อง นอกจากนั้นที่ผู้ร้องตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท เนื่องจากนางปวีณาจะนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอาศัยที่จังหวัดอื่นซึ่งไกลจากจังหวัดเลย และให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเรียนที่โรงเรียนนานาชาติแต่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังคงอยู่อาศัยและเรียนหนังสือที่จังหวัดเลย พฤติการณ์ในเรื่องฐานะและความจำเป็นในการใช้เงินเพื่ออุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ขอให้ถอนอำนาจปกครองของนางปวีณา และแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองกับทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดู ขอให้มีคำสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดู โดยให้ผู้ร้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่นางปวีณาเดือนละ 20,000 บาท

          ในวันนัดไต่สวน ทนายความของนางปวีณายื่นคำร้องว่าทนายความเพิ่มได้รับการแต่งตั้งแต่ติดว่าความที่ศาลอื่นและไปดูงานราชการที่ต่างประเทศขอขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านและเลื่อนการพิจารณาไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้เลื่อนการยื่นคำคัดค้านและให้เลื่อนการพิจารณา จากนั้นจึงไต่สวนพยานผู้ร้องฝ่ายเดียวจนเสร็จ

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในระหว่างเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมคนละเดือนละ 10,000 บาท ในระดับชั้นมัธยมศึกษาคนละเดือนละ 15,000 บาท ในระดับชั้นอุดมศึกษาคนละเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้ผู้ร้องนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และให้นางปวีณาหรืออรวรรยา ทำบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเสนอต่อศาลทุกเดือนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นกับให้ผู้ร้องมีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปดูแลในวันศุกร์หลังจากบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเลิกเรียนวันเสาร์ และวันอาทิตย์โดยให้ผู้ร้องไปรับบุตรผู้เยาว์ทั้งสองที่โรงเรียนหลังเลิกเรียนและให้ผู้ร้องนำบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปส่งโรงเรียนในวันจันทร์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          ระหว่างอุทธรณ์ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดเลยแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

          ผู้ร้องและนางปวีณาหรืออรวรรยา อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          นางปวีณาหรืออรวรรยา ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า เดิมผู้ร้องกับนางปวีณาหรืออรวรรยา เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชายชนาธิป และเด็กหญิงกันตา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 ผู้ร้องกับนางปวีณาจดทะเบียนหย่าโดยบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่าให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของนางปวีณาแต่ผู้เดียว ให้ผู้ร้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของนางปวีณาว่า คดีของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นคดีมีทุนทรัพย์ต้องยื่นเป็นคำฟ้อง แต่ผู้ร้องยื่นเป็นคำร้องขอและศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไป เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เบื้องแรกเห็นว่า การที่บุคคลจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งโดยการยื่นเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดนั้น หาใช่พิจารณาว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ดังข้อฎีกาของนางปวีณาไม่ และตามคำร้องขอของผู้ร้องนี้ นอกจากมีคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว ยังขอให้มีคำสั่งถอนอำนาจปกครองของนางปวีณาและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองด้วย อันย่อมส่งผลกระทบต่อค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว เนื่องเพราะหากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องก็ไม่จำต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแก่นางปวีณาตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าอีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแก้ไขได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่ไม่มีดังข้อเถียงในฎีกาและถือได้ว่าคำขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นคำขอรองที่เกี่ยวเนื่องกับคำขอหลัก นอกจากนี้แม้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าจะกำหนดให้นางปวีณาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองก็ตาม แต่ถ้าภายหลังพึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง ศาลก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566 (5) แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้โดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขออย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ด้วยทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและรักษาประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ผู้ร้องจึงชอบที่จะเสนอคดีขอให้ถอนอำนาจปกครองและแต่งตั้งผู้ใช้อำนาจปกครองคนใหม่ โดยทำเป็นคำร้องขอ รวมทั้งชอบที่จะเสนอคดีขอให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งเกี่ยวเนื่องกันเข้ามาในคำร้องขอฉบับเดียวกันได้ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้แก่นางปวีณาผู้เสียสิทธิได้มีโอกาศคัดค้านแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของนางปวีณาในประการนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของนางปวีณามีว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้นางปวีณาเลื่อนการยื่นคำคัดค้านและไม่สั่งให้เลื่อนการพิจารณาชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ โดยนางปวีณายกเป็นข้อเถียงในฎีกาว่า นางปวีณามิได้มีเจตนาจะประวิงคดีเพราะทันทีที่ได้รับสำเนาคำร้องขอก็ได้รีบไปติดต่อกับทนายความผู้มีชื่อให้เป็นทนายแก้ต่าง แต่ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2548 จึงเพิ่งได้รับแจ้งจากทนายความผู้มีชื่อดังกล่าวว่าไม่สามารถเป็นทนายความให้เพราะสูงวัยและอยู่ต่างท้องที่ ซึ่งนางปวีณาก็ได้ติดต่อนายอุดม เป็นทนายความแต่นายอุดมติดภาระกิจที่นัดไว้ก่อนเช่นเดียวกันนั้น เห็นว่า แม้เป็นความจริงว่า ทนายความผู้มีชื่อจะเพิ่งแจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถเป็นทนายความให้ แต่นางปวีณาได้รับหมายนัดและสำเนาคำร้องขอก่อนวันนัดไต่สวนประมาณ 2 เดือน หากนางปวีณาใส่ใจขวนขวายติดตามเรื่องย่อมพึงทราบเรื่องที่ทนายความผู้มีชื่อไม่พร้อมมาเนิ่นนานแล้วและอยู่ในวิสัยที่จะทำคำคัดค้านเข้ามาภายในกำหนด เมื่อนางปวีณาไม่ยื่นคำคัดค้านภายในกำหนด จึงต้องนับว่าเป็นความบกพร่องของนางปวีณาเอง ที่ศาลชั้นต้นไม่ให้เลื่อนการยื่นคำคัดค้านจึงชอบแล้ว นอกจากนี้ภายหลังศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนพยานผู้ร้องเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นก็ได้ให้โอกาศนางปวีณาแสดงหลักฐานเอกสารเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องและสอบถามข้อเท็จจริงจากนางปวีณาด้วยเป็นการให้โอกาศนางปวีณาได้ชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงที่ประสงค์จะไต่สวนเพื่อคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง ที่สำคัญศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็หาได้สั่งถอนอำนาจปกครองของนางปวีณา อันนับว่าเป็นประโยชน์แก่นางปวีณาแล้ว และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิดูแลบุตรผู้เยาว์ทั้งสองและลดค่าอุปการะเลี้ยงบุตรผู้เยาว์ทั้งสองลงมาก็เนื่องเพราะข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในสำนวน ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งให้เลื่อนการพิจารณา จึงชอบแล้วเช่นเดียวกัน ฎีกาในประการนี้ของนางปวีณาฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของนางปวีณาว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงว่าพฤติการณ์รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ ดังนั้น แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะกระทำขึ้นโดยชอบด้วยความสมัครใจของคู่กรณี กล่าวโดยเฉพาะเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนี้ ถ้าต่อมาพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีเปลียนแปลงไป ศาลก็มีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติข้างต้น และพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีนั้นก็หาได้จำกัดหมายถึงผู้ร้องลำพังตามที่นางปวีณายกอ้างเถียงในฎีกาไม่ ดังเห็นได้จากนัยมาตรา 1898/38 ที่ว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วย เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ผู้ร้องตกลงให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท นั้นเป็นไปในข้อไขอนาคตว่านางปวีณาจะให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเรียนหนังสือที่โรงเรียนนานาชาติในจังหวัดอื่น แต่กลับปรากฎว่านางปวีณาให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้าเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดเลยซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางปวีณานั้นเอง อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองมานั้น จึงเหมาะสมแล้ว”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 มาตรา 1521 ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตาม มาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลง ไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึง ความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้
(1) มารดาหรือบิดาตาย
(2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย
(3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ ความสามารถ
(4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน
(5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา
(6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้

  -Line Official Account : เพิ่มเพื่อน QR CODE

 

 




ผู้ใช้อำนาจปกครอง

ไม่มีกฎหมายให้ศาลรับฟังความประสงค์ของบุตรว่าจะอยู่กับฝ่ายบิดา หรือฝ่ายมารดา
สมควรให้มารดาเป็นผู้ปกครองบุตรผู้เยาว์
การได้อำนาจปกครองมาโดยข้อสัญญา
เรียกบุตรคืนจากสามีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย