ReadyPlanet.com


สัญญาค้ำประกัน


เป็นผู้ค้ำประกันสหกรณ์ออมทรัพย์ครู  ซึ่งในสัญญาระบุ 1) ไม่จำกัดจำนวน 2) หากไม่สามารถเรียกเงินจากผู้กู้ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม จะเรียกจากผู้คำประกัน  ขณะนี้ผู้กู้กำลังจะโยกย้ายไปจังหวัดอื่น  ซึ่งที่ผ่านมาจะหักเงินเดือนผู้คำประกัน  ทั้งๆ ที่ผู้กู้ยังมีงานทำ มีเงินเดือนให้หัก  จึงขอคำแนะนำว่า  ในฐานะผู้คำประกันควรทำอย่างไร สหกรณ์จึงเรียกจากผู้กู้ก่อน  และสัญญาการค้ำประกันเช่นนี้เป็นธรรมกับผู้กู้หรือไม่  บางแห่งถึงบีบคอคนค้ำ  ระบุว่า "....โดยไม่ขอใช้สิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 688, 689, 690 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ประการใด..."

                                             ขอบคุณค่ะ  



ผู้ตั้งกระทู้ kaewjai :: วันที่ลงประกาศ 2011-02-21 14:39:15


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3285616)

เมื่อสัญญาค้ำประกันได้ทำกันไว้แล้ว และต้องผูกพันตามเงื่อนไขที่สมัครใจ ก่อ นิติสัมพันธ์ต่อกันก็จะต้องปฏิบัติตามสัญญาครับ

เพราะเจ้าหนี้ก็ต้องการความมีหลักประกันว่าจะได้รับชำระหนี้คืนจากผู้กู้จึงต้องให้ผู้กู้หาคนค้ำประกันมา และสัญญาก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผู้ค้ำประกันไม่ขอใช้สิทธิตาม มาตรา 688 , 689, 690  ...ผู้ค้ำประกันรับทราบและได้ลงนามผูกพันตามสัญญแล้ว

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-23 18:04:03


ความคิดเห็นที่ 2 (3285617)

1. ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วม


2.  ผู้ค้ำประกันสละสิทธิ์ที่จะขอให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน


3.  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันคนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10306/2550

 กรมสรรพากร         โจทก์
 
          ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากร จำเลยที่ 3 ให้สัญญาไว้กับกรมสรรพากรโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691

          โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24
________________________________

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายประมวลเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2546 เมื่อประมาณปี 2537 เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เครดิตภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีตุลาคม 2536 เป็นเงิน 16,407.40 บาท เดือนภาษีเมษายน 2537 เป็นเงิน 8,452.33 บาท และเดือนภาษีสิงหาคม 2537 เป็นเงิน 32,477.53 บาท โจทก์จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ชำระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 237,477 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปี 2538 เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีมีนาคมและเมษายน 2538 ต่อเจ้าพนักงาน เมื่อเจ้าพนักงานเรียกตรวจตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงิน 69,279 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน และเจ้าพนักงานของโจทก์ยังตรวจพบอีกว่าจำเลยที่ 1 มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างจากส่วนราชการแต่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 จึงออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 มาตรวจสอบไต่สวน จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายหลังแต่แสดงรายได้ขาดไป 10,830.72 บาท มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร 319,691.43 บาท คำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินต่ำกว่าความเป็นจริง 85,652.01 บาท เมื่อเจ้าพนักงานปรับปรุงแล้วจำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีก 241,918 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยื่นประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีต่ำกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิทั้งปี เจ้าพนักงานของโจทก์จึงประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระขาดตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 4,023.26 บาท เบี้ยปรับ 1 เท่า ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 15,340.02 บาท รวมเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 19,363 บาท และจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับปี 2536 ไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ในเดือนภาษีกุมภาพันธ์ เมษายน พฤษภาคมและสิงหาคม 2536 แสดงยอดขายขาดไป 77,298.13 บาท 3,553.49 บาท 0.94 บาท และ 0.03 บาท ตามลำดับ และเดือนภาษีเมษายน พฤษภาคม และสิงหาคม 2536 แสดงยอดภาษีซื้อเกินไป 18,691.60 บาท 71,440 บาท และ 57,773.46 บาท ตามลำดับ โจทก์จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้ง 4 เดือนภาษีดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระรวมเป็นเงิน 26,253 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงเหลืออัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามการประเมิน โจทก์จึงแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 และภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 198,164 บาท รวมเป็นค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามการประเมินแก่โจทก์ทั้งสิ้น 504,920 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 จำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระค่าภาษีอากรค้างต่อโจทก์รวม 24 งวด โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนแล้วไม่ชำระ ยังคงเหลือหนี้ภาษีอากรค้างอีก 261,929.25 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 261,929.25 บาท แก่โจทก์

          จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน

          ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 261,929.25 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 3 ชำระเทนจนครบถ้วนกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท คำขออื่นให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจนครบถ้วนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากรเอกสารหมาย จ.14 แผ่นที่ 48 และ 49 จำเลยที่ 3 ให้สัญญาไว้ในข้อ 4 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากร เมื่อสรรพากรภาค 10 ได้แจ้งจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้แจ้ง โดยจำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

          อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) (ก) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการไม่ถูกต้องและต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 261,929.25 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - องอาจ โรจนสุพจน์ - เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ )

หมายเหตุ 

          ในเรื่องค้ำประกันนั้น จะมีหนี้ชั้นต้นผูกพันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ซึ่งอาจเกิดมูลสัญญาหรือละเมิดก็ได้กับมีหนี้ตามสัญญาค้ำประกันผูกพันระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 แสดงว่าผู้ค้ำประกันมิได้เป็นลูกหนี้ในหนี้ชั้นต้นโดยตรง ดังนั้น ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ชั้นต้นก็มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันในหนี้ชั้นต้นอย่างลูกหนี้ร่วมโดยแท้ตามมาตรา 291 (คำพิพากษาฎีกาที่ 9156/2538, 2569/2541) เพียงแต่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690 เท่านั้น

           คดีนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตกลงสละสิทธิตามมาตรา 688 และ 689 ศาลฎีกากลับถือว่าจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 691 และพิพากษาแก้เป็นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ ทำให้จำเลยที่ 3 กลายเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ชั้นต้นตามมาตรา 291 ยิ่งกว่าผลตามมาตรา 691 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่มิใช่ลูกหนี้ในหนี้ชั้นต้น กรณีเช่นนี้ศาลน่าจะเพียงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจนครบโดยจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิขอให้เรียกหรือบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อน                            

          ไพโรจน์ วายุภาพ 
 
                

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-23 18:14:01


ความคิดเห็นที่ 3 (3285620)

1.  สัญญาค้ำประกันการทำงาน


2.   สัญญาค้ำประกันกำหนดให้ผู้ค้ำประกันสละสิทธิ ตาม มาตรา 688, 689 , 690 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่???


3.    เจ้าหนี้ผู้กำหนดสัญญาได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร


4.   ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรม


5.    ข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้หนี้แทนลูกหนี้โดยไม่ต้องทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถือว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมจึงไม่มีสิทธิอ้างมาตรา 688, 689, 690 ได้ และถือว่าผู้ค้ำประกันไม่ได้รับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกัน ดังนั้นการกำหนดให้ผู้ค้ำประกัน รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6087/2550

          แม้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่า เอาเปรียบจำเลยที่ 2 โดยทำสัญญาค้ำประกันกำหนดสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าให้จำเลยที่ 2 ต้องยอมสละสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 688, 689 และ 690 จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 นั้น จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แต่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้

          พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูปหรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปหรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้น เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ดังกล่าว จึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,098,972 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,028,286 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 แถลงสละข้อต่อสู้ตามคำให้การในส่วนที่ว่าลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ในใบแต่งทนายความเป็นลายมือชื่อปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้

          ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,028,286 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547) ต้องไม่เกิน 70,686 บาท

          จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่ขายสินค้าประเภทตลับลูกปืนและเก็บเงินค่าสินค้าดังกล่าวส่งมอบให้แก่โจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน ระหว่างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าหลายรายแต่ไม่นำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องส่วนที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และการยักยอกเงินค่าสินค้าว่าเกิดในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์หรือไม่ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ตรวจสอบการขายในการค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทุจริตเก็บเงินค่าสินค้าหลายรายแล้วไม่นำเงินมาส่งให้แก่โจทก์กลับทุจริตยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนเอง จึงขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ และส่งเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้และรายละเอียดการเก็บเงินค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เมื่ออ่านคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบกันแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้หยิบยกข้อที่จำเลยที่ 2 ให้การในคำให้การ ข้อ 3 ว่า การยักยอกเงินค่าสินค้าและการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำขึ้นในระหว่างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์หรือไม่ ขึ้นวินิจฉัย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับคำเบิกความของพยานบุคคล ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 หลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ข้อ 3 ต่อสู้เพียงว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการยักยอกเงินและการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำขึ้นในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์หรือไม่ ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถให้การต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ คำฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมเท่านั้น และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปแล้วว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่า การยักยอกค่าสินค้าและการรับสภาพหนี้มิได้กระทำในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่า เอาเปรียบจำเลยที่ 2 โดยทำสัญญาค้ำประกันกำหนดสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าให้จำเลยที่ 2 ต้องยอมสละสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 มาตรา 289 และมาตรา 690 มารับผิดในลำดับเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (2) และมาตรา 10 (1) ชอบที่ศาลฎีกาจะพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียง 200,000 บาทนั้น เห็นว่า แม้อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 จะมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แต่เป็นปัญหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพหรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกัน ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันไว้ 5 ข้อ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 มาตรา 690 มาตรา 691 ดังกล่าว จึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          พิพากษายืน.

( จรัส พวงมณี - พิชิต คำแฝง - ชุติมา จงสงวน )
ศาลแรงงานกลาง - นายสมมาตร ฑีฆาอุตมากร
 

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-23 18:35:47


ความคิดเห็นที่ 4 (3285624)

1.-   ข้อตกลงว่าผู้ค้ำประกันสละสิทธิ์ที่จะขอให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน


2.-   ผู้ค้ำประกันสละสิทธิ์ที่จะให้เจ้าหนี้บังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน


3.-   เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันหรือลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำหนี้ทั้งหมดหรือชำระหนี้สิ้นเชิง


4.-   ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดกับลูกหนี้อย่างลูกหนี้ร่วม


 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8215/2549
 
 
สัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากรระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระภาษีอากร เมื่อโจทก์ได้แจ้งจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการไม่ถูกต้อง และต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระ 1,817,779 บาท แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,817,779 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากรระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระภาษีอากร เมื่อสรรพากรภาค 4 ได้แจ้งจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะนำเงินมาชำระให้แก่กรมสรรพากรภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) (ก) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการไม่ถูกต้อง และต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,817,779 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินว่า 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

( ไพโรจน์ วายุภาพ - ทองหล่อ โฉมงาม - ชาลี ทัพภวิมล )

ศาลภาษีอากรกลาง - นายบัญชา สหเกียรติมนตรี
ศาลอุทธรณ์
            

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-23 18:52:33


ความคิดเห็นที่ 5 (3285630)

ผู้ค้ำประกันที่ไม่มีสิทธิอ้างมาตรา 688,689,690 มีความหมายว่าอย่างไร?

ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8143/2548

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์โดยมีคำสั่งว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์" และในวันเดียวกันโจทก์แถลงขอให้ส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ข้ามเขตศาลโดยแนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท เป็นค่าส่งหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งให้ทนายโจทก์ทราบว่าอัตราค่าส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ยังขาดค่าพาหนะอีก 100 บาท ให้นำเงินค่าพาหนะมาวางเพิ่ม โจทก์มีหน้าที่ต้องนำค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่ง ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วย ซึ่งในคดีนี้เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ข้ามเขตศาลและโจทก์ไม่ไปจัดการนำส่ง จึงต้องเสียเงินค่าพาหนะในการนำส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลให้ครบถ้วน การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ไม่ได้วางเงินค่าพาหนะเพิ่มและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์เป็นเวลา 2 เดือนเศษ และเมื่อนับถึงวันที่นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์ก็ยังมิได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 691 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกันประเภทนี้ว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 272,517.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์อุทธรณ์

          คดีสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์วางเงินค่าพาหนะส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ขาดไป 100 บาท ศาลชั้นต้นแจ้งให้โจทก์วางเงินเพิ่มโดยวิธีปิดหมาย แต่โจทก์มิได้วางเงินเพิ่มจนเวลาล่วงเลยมานาน เป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเป็นการทิ้งอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในชั้นรับอุทธรณ์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ และในวันเดียวกันโจทก์แถลงขอให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยแนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท เป็นค่าส่งหมาย ต่อมาศาลจังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์กับตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท คืนศาลชั้นต้นและแจ้งว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 1 ได้เนื่องจากยังขาดค่าพาหนะอีกเป็นเงิน 100 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ทนายโจทก์ทราบว่าอัตราค่าส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ยังขาดค่าพาหนะอีก 100 บาท ให้นำเงินค่าพาหนะมาวางเพิ่มตามรายงานลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 และโจทก์ได้รับหมายดังกล่าวโดยชอบแล้วด้วยวิธีปิดหมายวันที่ 5 มิถุนายน 2544 ย่อมมีผลว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 20 มิถุนายน 2544 โจทก์มีหน้าที่ต้องนำค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่ง ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วย ซึ่งในคดีนี้เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ข้ามเขตศาลและโจทก์ไม่ไปจัดการนำส่ง จึงต้องเสียเงินค่าพาหนะในการนำส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลให้ครบถ้วน การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งจนถึงวันที่ 3 กันยายน 2544 ที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ไม่ได้วางเงินค่าพาหนะเพิ่มและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์ เป็นเวลา 2 เดือนเศษ และเมื่อนับถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกวันที่ 26 สิงหาคม 2545 เป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์มิได้ดำเนินการนำเงินค่าพาหนะเพิ่มอีก 100 บาท มาวางตามคำสั่งศาล ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่น ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องเพียงใด เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามฟ้อง เมื่อคดีนี้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ดังนั้น กรณีของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 691 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกันประเภทนี้ว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเป็นอื่น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

( สถิตย์ ทาวุฒิ - สุรพล เจียมจูไร - เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายปฏิกรณ์ คงพิพิช
ศาลอุทธรณ์ - นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์
        

ผู้แสดงความคิดเห็น ทนายความ ลีนนท์ วันที่ตอบ 2011-02-23 19:39:17



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล