

เงินค่านายหน้าในการยึดรถนอกจากค่าจ้างรายเดือนถือเป็นค่าจ้าง เงินค่านายหน้าในการยึดรถนอกจากค่าจ้างรายเดือนถือเป็นค่าจ้าง ค่านายหน้าในการยึดรถเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างคันละ 10,000 บาท ซึ่งไม่รวมค่าจ้างรายเดือน ๆ ละ 9,500 บาท เป็นการจ่ายให้ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนที่ลูกจ้างทำงานตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาปกติของวันทำงาน ถือเป็นค่าจ้าง นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในเงินค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7891/2553 ค่านายหน้าในการยึดรถเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยคำนวณจากจำนวนรถที่ลูกจ้างยึดได้ในอัตราแน่นอนคันละ 10,000 บาท นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือนอัตราเดือนละ 9,500 บาท ที่กำหนดจ่ายให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน จึงเป็นการจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงานคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาปกติของวันทำงาน ถือเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ซึ่งนายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,460 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในส่วนของค่านายหน้าย้อนหลัง 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 57,300 บาท และค่านายหน้าย้อนหลัง 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 708,208 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนของจำเลยอีก 49,078 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่านายหน้าในการยึดรถให้แก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินค่านายหน้าในการยึดรถจำนวน 100,000 บาท และให้เสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2544 เป็นต้นไปชอบหรือไม่ เห็นว่า ค่านายหน้าในการยึดรถเป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์ โดยคำนวณจากจำนวนรถที่โจทก์ยึดได้ในอัตราแน่นอนคันละ 10,000 บาท นอกเหนือจากค่าจ้างรายเดือนอัตราเดือนละ 9,500 บาท ที่กำหนดจ่ายให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน จึงเป็นการจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงานคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ในเวลาปกติของวันทำงาน ถือเป็นค่าจ้างอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างที่ต้องจ่ายตามระยะเวลาการทำงานปกติตามความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” ที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความไว้ เมื่อจำเลยยังไม่ได้จ่ายให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2542 โดยอ้างว่าโจทก์ทำเรื่องขอเบิกเงินในวันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางมิได้ฟังข้อเท็จจริงดังที่อ้าง ทั้งโจทก์ฟ้องขอให้ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปตามคำขอของโจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนดอกเบี้ยของเงินค่านายหน้าในการยึดรถ ให้จำเลยชำระให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง. มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้ "นายจ้าง" หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่าย ค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง มาตรา 9 ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรค 2 หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน ในกรณีที่นายจ้างพร้อมที่จะคืนหรือจ่ายเงินตามวรรคหนึ่งและ วรรคสอง และได้นำเงินไปมอบไว้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มตั้งแต่ วันที่นายจ้างนำเงินนั้นไปมอบไว้ |