ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




เลิกจ้างอ้างเหตุลูกจ้างปกปิดคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จ

เลิกจ้างอ้างเหตุลูกจ้างปกปิดคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จ

นายจ้างตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานเพราะเห็นว่าลูกจ้างเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงานมากกว่าการเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียนายจ้างเลิกจ้างโดยอ้างเหตุว่าลูกจ้างปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จแต่การที่ลูกจ้างสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลาผู้แทนนายจ้างรู้จักลูกจ้างมาก่อนเคยชักชวนลูกจ้างแต่แรกแล้วให้มาร่วมทำงานกับนายจ้างดังนั้นการที่ลูกจ้างรับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จแม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับนายจ้างก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรงจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6075/2549

    จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ต้องอาศัยคุณสมบัติทางวิชาชีพที่น่าเชื่อถือ คุณสมบัติทางวิชาชีพจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้ามาทำงานก็เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาจ้างเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

          ตามหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ถึง 12 ข้อ ซึ่งพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้แล้ว โดยเฉพาะในข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงานของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ได้อ่าน ยอมรับและตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยในข้อ 7 ของกฎและมาตรฐานความประพฤติ ระบุไว้ว่าห้ามมิให้พนักงานจัดเตรียมหรือยื่นแบบการให้ถ้อยคำ คำขอหรือเอกสารอื่น ๆ อันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องแก่สำนักงาน ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ประการหนึ่งมาจากการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จนั่นเอง หนังสือเลิกจ้างดังกล่าวจึงระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้ว และการที่โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลา จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้จักโจทก์มาก่อน จำเลยที่ 3 เคยชักชวนโจทก์แต่แรกแล้วให้มาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่โจทก์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยขอดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากโจทก์เลย ดังนี้ การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่า เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) และเมื่อศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการของบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชักชวนพนักงานหรือลูกความของจำเลยที่ 1 ไปทำงานหรือใช้บริการสำนักกฎหมายอื่น และฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำเอารายชื่อที่อยู่ลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัท จำเลยที่ 1 รายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 (4)

          โจทก์แจ้งคุณสมบัติด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงาน และในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง

          ตามใบสมัครงานตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า “นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท)” โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า “(The preceding sentence dose not apply to lawyers engaged with the firm.)” คำในวงเล็บคำว่า “lawyers” นั้น ย่อมหมายถึง ทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้ว โจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานครจึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ จำเลยที่ 1 ได้ซื้อกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ และรับโอนโจทก์และลูกจ้างอื่นมาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 และมีอำนาจหน้าที่ด้านการเงิน บัญชีและพนักงาน โจทก์เข้าเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2537 ตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2538 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา ตำแหน่งสุดท้ายได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 850,000 บาท กำหนดชำระทุกวันที่ 27 ของเดือน ในการทำงานโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 30 วัน ทำงานโดยได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้สัญญากับโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากรายได้ของจำเลยที่ 1 ของปี 2543 เป็นเงินจำนวน 10,700,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันออกหนังสือเวียน ด้วยการสำเนาหนังสือเลิกจ้างให้พนักงานในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้อ่าน ซึ่งข้อความในหนังสือเลิกจ้างนั้นล้วนไม่เป็นความจริง จึงเป็นการไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงให้แพร่หลายโดยเอกสารสิ่งพิมพ์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสามต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ ดังนี้ เงินเดือนสะสมที่ตั้งอยู่ในบัญชีค้างจ่ายที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันว่ายังไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์และให้จ่ายเมื่อโจทก์มีคำสั่ง ซึ่งในวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างมีเงินอยู่ในบัญชีจำนวน 1,456,072.59 บาท เงินเดือนที่จำเลยที่ 1 ปรับให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นมา เดือนละ 170,000 บาท ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2544 เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 850,000 บาท ค่าเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ปีเว้นปี เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการโอนกิจการจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลดังกล่าว โจทก์มีสิทธิและผลประโยชน์เหมือนเดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเดินทางดังกล่าวสำหรับปี 2542 และปี 2544 ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 160,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 25 วัน เป็นเงิน 708,333.33 บาท ในระหว่างการทำงานจำเลยที่ 1 หักค่าจ้างโจทก์ในอัตราร้อยละ 3 รวมกับส่วนของจำเลยที่ 1 ในอัตราเดียวกัน นำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด เป็นผู้บริหาร เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์มีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่า 1,238,252.66 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ได้จัดส่งเช็คจ่ายเงินสมทบเฉพาะส่วนของโจทก์คืนให้แก่โจทก์แล้ว แต่หาได้จ่ายส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่ ในการทำงานโจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์ตู้ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นรีเจียส หมายเลขทะเบียน ภม 8332 กรุงเทพมหานคร โดยซื้อด้วยเงินของโจทก์ และโจทก์ได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อเมอร์ซิเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ภน 2119 กรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญา รถยนต์ทั้งสองคันอยู่ในความครอบครองของโจทก์มาโดยตลอด ภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เจ้าหน้าที่บริษัทเมอร์ซิเดสเบนซ์ลีสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ยึดรถยนต์เก๋งคันดังกล่าวไปจากโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยไม่แจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อที่แท้จริงทราบ ทำให้โจทก์ต้องไปเจรจากับบริษัทดังกล่าว เพื่อทำการแก้ไขสัญญาและส่งมอบรถคืน โจทก์เสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเป็นเงิน 157,854.65 บาท ส่วนแบ่งกำไรจากการประกอบการของจำเลยที่ 1 ทั้งในและต่างประเทศในปี 2543 ตามที่จำเลยทั้งสามตกลงกับโจทก์ 10,700,000 บาท และเมื่อนับถึงวันที่เลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งกำไรช่วง 4 เดือนแรกของปี 2544 ซึ่งขอเทียบกับผลกำไรในปี 2543 เฉลี่ยแล้ว 4 เดือนแรกของปี 2544 โจทก์มีสิทธิจะได้รับผลส่วนแบ่งผลกำไรไม่น้อยกว่า 3,566,666 บาท รวมเป็นเงิน 14,266,666 บาท และเนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม ซึ่งได้ไขข่าวการเลิกจ้างไปยังบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันออกหนังสือประกาศแจ้งต่อพนักงานในบริษัท จำเลยที่ 1 ออกหนังสือเวียนถึงลูกความของจำเลยที่ 1 ทุกรายที่เกี่ยวกับงานทรัพย์สินทางปัญญา ลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยและหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ให้มีข้อความทำนองว่า จำเลยทั้งสามขอยกเลิกหนังสือเลิกจ้างโจทก์ ฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดใดดังที่กล่าวอ้างในหนังสือเลิกจ้างและให้ถือว่าเป็นการอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามความประสงค์ได้นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไป หากจำเลยทั้งสามปฏิเสธที่จะออกหนังสือดังกล่าว จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดจ่ายค่าชดเชย เนื่องจากเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์มีอายุงานเกินกว่า 6 ปี แต่ยังไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 8 เดือน เป็นเงิน 6,800,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 35 วัน เป็นเงิน 991,666 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยโจทก์ต้องเสียโอกาสในการทำธุรกิจ สูญเสียอำนาจในการต่อรองในการหางานใหม่ความไม่ต่อเนื่องในการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสที่โจทก์มีอยู่ก่อนการกระทำของจำเลยทั้งสาม ซึ่งโจทก์เห็นว่าต้องใช้เวลาในการทำงานอีกไม่น้อยกว่า 3 ปี ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 44,244,600 บาท ค่าเสียหายจากการละเมิดโดยการไขข่าวแพร่หลายต่อบุคคลภายนอกทำให้โจทก์รับความเสียหายเป็นเงิน 73,741,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายเงินเดือนสะสมจำนวน 1,456,072.59 บาท เงินค่าเดินทางจำนวน 160,000 บาท เงินส่วนแบ่งกำไรจำนวน 14,266,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไป และให้เสียเงินเพิ่มตามกฎหมายจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 850,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี  708,333.33 บาท ค่าชดเชย 6,800,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 991,666 บาท ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบส่วนของจำเลยที่ 1 เข้าไปในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ครบถ้วน และแจ้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ พร้อมแสดงรายการนำส่งเงินสมทบของแต่ละฝ่าย อัตราดอกเบี้ยและประโยชน์อื่นที่ได้รับ ให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่นรีเจียส หมายเลขทะเบียน ภม 8332 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 157,584.65 บาท อันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน ภน 2119 กรุงเทพมหานคร กับบริษัทเมอร์ซิเดสเบนซ์ลีสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้ชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 44,244,600 บาท กับออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามยอมร่วมกันแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ โดยยอมแถลงข้อความจริงต่อบุคคลที่สามด้วยวิธีการและข้อความตามฟ้องแล้วโจทก์ยินยอมไม่เรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยทั้งสาม

          จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การ และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การว่าคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 โอนรถยนต์ตู้และชำระค่าเสียหายกรณีสัญญาเช่าซ้อรถยนต์เก๋ง ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรจากการประกอบการของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันประกาศโฆษณาในที่ทำการบริษัทจำเลยที่ 1 และในหน้าหนังสือพิมพ์ กับมีหนังสือไปยังลูกความของจำเลยที่ 1 ข้อความว่า เหตุตามหนังสือเลิกจ้างลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 ไม่เป็นความจริง และที่เรียกให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 73,741,000 บาท อ้างว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดโดยการไขข่าวแพร่หลายนั้นเป็นคำฟ้องที่ไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะกรรม จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญ ด้วยโจทก์ได้แสดงข้อความที่เกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษาและคุณสมบัติเฉพาะในทางวิชาชีพเป็นเท็จ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อ หากจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นทนายความ จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์อันถือได้ว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว หากศาลฟังว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรงและกระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต คือ โจทก์กระทำผิดข้อบังคับและมาตรฐานความประพฤติข้อที่ 1 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวดที่ 7 ข้อ 3 โดยประกอบธุรกิจแข่งขันกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้แจ้งข้อความที่เกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษาและคุณสมบัติเฉพาะในทางวิชาชีพเป็นเท็จในใบสมัครงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เสนอให้จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทำการชักชวนพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ลาออกจากการเป็นพนักงาน และออกไปทำงานในที่แห่งอื่นซึ่งมีสภาพการประกอบธุรกิจในรูปแบบเดียวกับจำเลยที่ 1 โจทก์เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับลูกความและพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นที่ประกอบธุรกิจรูปแบบเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้ทราบ โจทก์ได้ทำการทุจริตเอาไปซึ่งแบบฟอร์มทางกฎหมาย แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย แบบฟอร์มจดหมายติดต่อกับลูกความ รายชื่อและที่อยู่ของลูกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้กระทำการดังกล่าวในขณะที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นตำแหน่งงานระดับบังคับบัญชา การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงและไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องสุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงปรับเงินเดือนให้โจทก์อีกเดือนละ 170,000 บาท ไม่เคยตกลงให้โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ในการเบิกค่าเดินทาง ไม่เคยตกลงให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 30 วัน และโดยที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายเงินในส่วนนี้ให้แก่โจทก์สำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์ได้รับไปจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมทิสโก้ จำกัด ครบถ้วนแล้ว และคำขอของโจทก์ข้อนี้ เป็นการฟ้องบังคับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันเพื่อโจทก์ตามที่โจทก์อ้าง ไม่เคยตกลงแบ่งกำไรให้โจทก์ ไม่เคยกระทำละเมิดตามที่โจทก์อ้างจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและบรรดาเงินที่โจทก์เรียกร้อง และไม่ต้องดำเนินการประกาศโฆษณาข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับหนังสือรับรองการทำงานจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง และขอฟ้องแย้ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แล้ว จึงขอเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานจนถึงวันที่สัญญาจ้างแรงงานถูกบอกล้างมีค่าจ้างและโบนัสจำนวน 34,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการส่งโจทก์ไปอบรมทั้งในและต่างประเทศจำนวน 503,134.18 บาท ค่ารับรองลูกความและค่าใช้จ่ายอื่นที่โจทก์เบิกไปจำนวน 10,101,646.21 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 44,604,780.39 บาท หากศาลฟังว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เป็นโมฆียะกรรม ตามสัญญาจ้างมีข้อตกลงห้ามลูกจ้างที่ไม่เป็นทนายความไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นเฉพาะที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่ลูกจ้างคนนั้นพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้ว ปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาโดยเมื่อพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วได้เข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายแห่งอื่นที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนระยะเวลา 2 ปี หลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ชักชวนพนักงานของจำเลยที่ 1 จำนวนหลายคนให้ออกไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรับสมัครคัดเลือก ฝึกอบรมพนักงานใหม่คิดเป็นค่าเสียหาย 4,442,514.81 บาท การที่โจทก์ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ให้เลิกใช้บริการของจำเลยที่ 1 ทำให้มีลูกความของจำเลยที่ 1 เลิกใช้บริการจำนวน 13 ราย จำเลยที่ 1 จึงสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับ โดยลูกความแต่ละรายจ่ายค่าบริการให้จำเลยที่ 1 เดือนละประมาณ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ลูกความแต่ละรายเลิกใช้บริการเป็นเงิน 60,000,000 บาท ขอให้โจทก์ชำระเงินที่ได้รับไปจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างที่เป็นโมฆียะกรรมที่ถูกบอกล้างจำนวน 44,604,780.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2544 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 บอกล้างสัญญาจ้างแรงงานจนกว่าจะชำระเสร็จ หากศาลพิพากษาว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เป็นโมฆียกรรม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์เลิกทำงานกับสำนักงานกฎหมายที่โจทก์ทำงานอยู่ในขณะนี้ และห้ามโจทก์ไม่ให้ทำงานในสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครอีกเป็นเวลา 2 ปี นับแต่ที่ศาลมีคำพิพากษา ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญานับแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานกับสำนักงานอื่นจนถึงวันที่โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาคิดเป็นค่าเสียหายเท่ากับเงินที่โจทก์ได้รับจากสำนักงานกฎหมายแห่งอื่นที่เข้าทำงานโดยผิดสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ชักชวนพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นจำนวน 4,442,514.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 51,119.60 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากลูกความเป็นเงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ส่งคืนบัญชีรายชื่อลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัทจำเลยที่ 1 และรายงานทางการเงินของบริษัทจำเลยที่ 1

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกล้างสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ ทั้งสัญญาดังกล่าวก็หาได้เป็นโมฆียะตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างไม่ ตามหนังสือเลิกจ้างลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 ก็ไม่มีข้อความใดระบุเกี่ยวกับการบอกล้างสัญญาหรืออ้างเหตุการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างเป็นโมฆียะตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องเงินจำนวน 44,604,780.39 บาท จากโจทก์และไม่อาจเรียกเงินเดือน ผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการทำงานค่าใช้จ่ายและค่ารับรองลูกความเป็นการจ่ายไปในการทำงานเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้คืนที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่ามีข้อตกลงห้ามโจทก์ทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นเป็นเวลา 2 ปีนั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งการกำหนดข้อห้ามดังกล่าว เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 50 ไม่อาจใช้บังคับได้ ค่าเสียหายจำนวน 1,500,000 บาท นั้น เป็นตัวเลขที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาลอย ๆ โจทก์ไม่ได้ทำความเสียหายใดให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยชักชวนพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้ออกไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่น ค่าเสียหายในส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ให้เลิกใช้บริการของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยนำเอาบัญชีรายชื่อและที่อยู่ลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์ม รวมทั้งรายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป บรรดาเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3 มีถึงโจทก์ ถือเป็นเอกสารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างกรรมสิทธิ์ได้ การแสดงความเห็นทางกฎหมายของโจทก์ย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างค้างจ่าย 804,667 บาท และเงินสะสมในบัญชีพิเศษของโจทก์ 1,452,473 บาท กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนรถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นรีเจียส หมายเลขทะเบียน ภม 8332 กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ และให้ออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

          โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในใบสมัครงานเอกสารหมาย ล. 3 ข้อประวัติการศึกษาโจทก์ระบุว่า จบปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลาแมรี่เมาท์ ลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย แม้โจทก์จะกรอกข้อความในข้อที่ให้ระบุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพว่า เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ปี 2529 ก็ตาม แต่จากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ความว่า จำเลยที่ 3 รู้จักกับโจทก์มาก่อน จำเลยที่ 3 เคยชักชวนโจทก์มาทำงานด้วย แต่ขณะนั้นโจทก์ต้องติดตามสามีไปต่างประเทศ ต่อมาปี 2536 เมื่อโจทก์เดินทางกลับประเทศไทย โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงได้เจรจากันอีกครั้ง ในที่สุดห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ได้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2537 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญา และตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่บริหารฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญารวมเรื่องเครื่องหมายการค้าสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ การตลาดด้วย การหาลูกความ การทำความเห็นทางกฎหมายให้แก่ลูกความ และงานในส่วนการบังคับตามสิทธิในประเทศไทย ประเทศเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง จำเลยที่ 1 มีสาขาในต่างประเทศเฉพาะในแถบอินโดจีนเท่านั้น กรณีลูกความประสงค์จะจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาโจทก์จะให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นทางกฎหมายแก่ลูกความเท่านั้น มิได้ดำเนินการจดทะเบียนให้ งานในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ไม่ได้เป็นทนายความว่าความในศาลและไม่จำต้องใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามแบบฟอร์มสัมภาษณ์เอกสารหมาย ล. 4 จำเลยที่ 2 ยังได้ระบุในข้อ 1 ว่า ติลลิกีฯ พร้อมจะให้ค่าตอบแทนสูงแก่ผู้สมัครสัญชาติไทยที่จบการศึกษาด้านกฎหมายจากสหรัฐอเมริกาและมีประสบการณ์สามารถทำหน้าที่ฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาแทน เจ อาร์ เอช ซึ่งโจทก์มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน โจทก์ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันเป็นเวลาถึง 7 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เบิกความรับว่าโจทก์ทำงานแบบมืออาชีพ มีความรู้ความสามารถ มีผลงานดีมาก ทำให้กิจการของจำเลยที่ 1 เติบโตและมีผลกำไรจำนวนมาก ดังนั้น เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ตามใบสมัครงานโจทก์ระบุชัดเจนว่า โจทก์สมัครงานกับจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งลอร์เยอร์ และเป็นเนติบัณฑิตจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จำเลยที่ 1 ประกาศให้พนักงานทราบถึงการรับโจทก์เข้าทำงานระบุคุณสมบัติทางวิชาชีพโจทก์ว่าเป็นเนติบัณฑิตจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จำเลยที่ 1 ให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติทางวิชาชีพของโจทก์ โจทก์รับผิดชอบงาน 3 ลักษณะ คือการบริหารบังคับบัญชาฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา การหาลูกค้าให้จำเลยที่ 1 และงานทนายความโดยทำความเห็นให้แก่ลูกความ การเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาต้องเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการประชุมกับหน่วยงานอื่นทั้งในและนอกประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ จึงต้องอาศัยคุณสมบัติทางวิชาชีพที่น่าเชื่อถือ คุณสมบัติทางวิชาชีพจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ และจำเลยที่ 1 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้ามาทำงานก็เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาจ้างเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แม้ศาลแรงงานกลางจะรับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล. 7 หรือ จ. 25 ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าโจทก์ปกปิดเรื่องคุณวุฒิหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตเป็นเท็จอันเป็นการฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงาน แต่ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล. 7 ข้อ 1 ไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างกรณีนี้ไว้ จึงขัดต่อมาตรา 17 วรรคสาม เห็นว่า ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7 ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ถึง 12 ข้อ ซึ่งพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้แล้ว โดยเฉพาะในเอกสารหมาย ล. 7 ข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงานของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ได้อ่าน ยอมรับ และตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยในข้อ 7 ของกฎและมาตรฐานความประพฤติเอกสารหมาย ล. 1 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้พนักงานจัดเตรียมหรือยื่นแบบ การให้ถ้อยคำ คำขอหรือเอกสารอื่น ๆ อันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องแก่สำนักงานซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ประการหนึ่งมาจากการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จนั่นเอง หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล. 7 จึงระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ตามมาตรา 17 วรรคสาม แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์กรอกข้อความในใบสมัครงานเอกสารหมาย ล. 3 ในข้อที่ให้ระบุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ปี 2529 และเมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์โดยระบุไว้ด้วยว่าโจทก์เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย ซึ่งโจทก์ตรวจแล้วรับรองว่าถูกต้อง เห็นว่า แม้ขณะที่โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นลูกจ้างนายจ้างกัน กฎและมาตรฐานความประพฤติของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล. 1 ยังไม่มีผลบังคับโจทก์ จะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีกรอกข้อความในใบสมัครอันเป็นเท็จไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์โดยระบุว่าโจทก์เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียตามที่โจทก์ระบุไว้ในใบสมัครอันเป็นเท็จ ซึ่งโจทก์ตรวจแล้วรับรองว่าถูกต้องนั้น ย่อมเป็นการกระทำผิดข้อบังคับและมาตรฐานความประพฤติของพนักงานตามเอกสารหมาย ล. 1 ข้อ 7 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสาร ล. 2 หมวดที่ 7 ข้อ 3.7 และข้อ 3.15 และเมื่อกรณีที่โจทก์อ้างว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียหาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูดีมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษมีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลา จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้จักโจทก์มาก่อน จำเลยที่ 3 เคยชักชวนโจทก์แต่แรกแล้วให้มาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่โจทก์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยขอดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากโจทก์เลย ดังนี้ การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรง และเมื่อศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่ากรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการของบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชักชวนพนักงานหรือลูกความของจำเลยที่ 1 ไปทำงานหรือใช้บริการสำนักกฎหมายอื่น และฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำเอารายชื่อที่อยู่ลูกความแฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัทจำเลยที่ 1 รายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 850,000 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2544 โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยยี่สิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) เป็นเงิน 6,800,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้แจ้งคุณวุฒิด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงาน และในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์จำนวน 25 วัน ตามฟ้องคิดเป็นเงิน 708,333.33 บาท สำหรับเงินสมทบส่วนของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องจ่ายเข้าในเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 20 ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทิสโก้รวมทุน 2 ได้จดทะเบียนแล้วกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทิสโก้รวมทุน 2 มีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 23 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์ชอบที่จะได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรหรือไม่เพียงใด ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า คำเบิกความของโจทก์เกี่ยวกับส่วนแบ่งกำไรขัดหรือต่างจากคำฟ้องของโจทก์ เท่ากับโจทก์นำสืบไม่ได้ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกส่วนแบ่งกำไรจากจำเลยทั้งสามได้ตามที่อ้าง โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้ให้การต่อศาลเป็นไปตามคำฟ้อง ประกอบเอกสารหลักฐานอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งยังได้กล่าวถึงที่มาของเงินส่วนแบ่งชัดเจน และมีข้อเท็จจริงเพียงพอในการวินิจฉัยคดี เห็นว่า เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สี่ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ห้ามโจทก์ไปทำงานกับสำนักงานกฎหมายอื่นที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามใบสมัครงานเอกสารหมาย ล. 3 ตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า “นอกจากนี้ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท” โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า “(The preceding sentence dose not apply to lawyers engaged with the firm.)” คำในวงเล็บคำว่า “lawyers” ท้ายเอกสารหมาย ล. 3 นั้น ย่อมหมายถึงทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ ดังนั้น ข้อความท้ายเอกสารหมาย ล. 3 จึงมีผลผูกพันไม่ให้โจทก์ทำงานเพื่อหรือทำงานให้แก่สำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง คือนับแต่วันที่เลิกจ้าง เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้วโจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว แต่เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานาน หากให้มีผลนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมจึงสมควรกำหนดให้เป็นค่าเสียหายโดยให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 6,800,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 708,333.33 บาท ให้แก่โจทก์ และให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชดใช้แก่จำเลยที่ 1 แทนการที่โจทก์ได้ไปทำงานเพื่อหรือทำงานให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นแล้ว พิพากษาคดีในส่วนนี้ใหม่ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
 
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

มาตรา 54 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมาย ไปยัง ศาลฎีกาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
การอุทธรณ์นั้น ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลแรงงานซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้ศาลแรงงานส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ฝ่ายนั้นได้รับสำเนาอุทธรณ์
เมื่อได้มีการแก้อุทธรณ์แล้วหรือไม่แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองให้ศาลแรงงานรีบส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา        




กฎหมายแรงงาน

ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง
นายจ้างมีอำนาจลงโทษตักเตือนบังคับบัญชาเป็นการจ้างแรงงาน
ลงโทษลูกจ้างในความผิดเรื่องนั้นแล้วไม่อาจอ้างคำเตือนเดิมเลิกจ้าง
ลูกจ้างส่งภาพโป๊ลามกอนาจารในเวลาทำงาน
เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือ
สัญญาจ้างแรงงานนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีฐานะเป็นนายจ้าง
ย้ายตำแหน่งลูกจ้างเป็นอำนาจของนายจ้างในทางบริหาร
เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลแรงงาน
เล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงานเลิกจ้างไม่ต้องบอกล่วงหน้า
นายจ้างมอบอำนาจบังคับบัญชาให้ผู้อื่น
ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างที่ต้องถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าชดเชย
เงินค่านายหน้าในการยึดรถนอกจากค่าจ้างรายเดือนถือเป็นค่าจ้าง
สัญญายอมความหลีกเลี่ยงไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า