

ลูกจ้างได้รับประโยชน์ไม่เป็นการที่ต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ ข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและเบี้ยปรับ -ลูกจ้างได้รับประโยชน์ไม่เป็นการที่ต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ ข้อตกลงให้ทุนฝึกอบรมกำหนดให้ลูกจ้างกลับมาทำงานกับนายจ้าง 3 ปี หรือต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของค่าใช้จ่าย ข้อตกลงดังกล่าวลูกจ้างได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยมีคุณวุฒิเพิ่มขึ้น ลูกจ้างมีสิทธิเลือกที่จะกลับมาทำงานกับนายจ้างหรือจ่ายเบี้ยปรับ 3 เท่า ข้อกำหนดเบี้ยปรับไม่เป็นการที่ลูกจ้างต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่ลูกจ้างไปฝึกอบรม 14 วัน นายจ้างเสียค่าใช้จ่ายไปเพียง 2 แสนเศษ แต่ต้องทำงานมีกำหนด 3 ปี เป็นการที่ลูกจ้างรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมคือน 1 ปี เมื่อลูกจ้างกลับมาทำงานกับนายจ้าง 352 วันคิดเฉลี่ยค่าใช้จ่าย 7 พันบาทเศษและเบี้ยปรับ 3 เท่าเป็นเงิน 2 หมื่นบาทเศษ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2552 ข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์เป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น จำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกเอาได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนโจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า จึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 300,000 บาท โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไป 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขตซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 1,164,163.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,079,846.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นเรื่องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่แล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 143/2547 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระบุว่า เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมตามกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 จะทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์ได้กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี จำเลยที่ 1 ฝึกอบรมเสร็จเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 และเดินทางกลับมาทำงานกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 แต่จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 เพื่อไปทำงานที่แห่งใหม่ที่เจริญก้าวหน้ากว่า รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้โจทก์เพียง 352 วัน ไม่ครบ 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาหรือเป็นฝ่ายเลิกจ้างเลิกสัญญา แม้โจทก์จะจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนด แต่ก่อนเกิดกรณีพิพาท โจทก์ก็ไม่เคยติดค้างชำระค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ถึงขนาดจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ทำงานกับโจทก์ให้ครบกำหนดระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์และข้อตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในสัญญาดังกล่าว ไม่เป็นข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ถึงขนาดทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยที่ 1 จนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (2) และวรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 10 ตามที่จำเลยกล่าวอ้างเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเบี้ยปรับมาตรา 379 ถึงมาตรา 385 และว่าด้วยดอกเบี้ย มาตรา 7 มาตรา 224 และมาตรา 654 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14 บัญญัติให้คู่กรณีสามารถตกลงเบี้ยปรับผิดสัญญาและอัตราดอกเบี้ยกันได้ ซึ่งหากสูงเกินไปศาลก็ใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามจำนวนที่พอสมควร จึงมีผลใช้บังคับ ค่าฝึกอบรมภายในประเทศไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ โจทก์ไม่มีสิทธินำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 รับผิด คู่มือพนักงานของโจทก์ระบุให้พนักงานระดับผู้จัดการที่เดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศในทวีปเอเชียมีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ได้รับทุนเดินทางไปฝึกอบรมยังต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาทำงานให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงานของโจทก์ที่ต่างประเทศจึงมีสิทธิได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงตามคู่มือพนักงานดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธินำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน จึงต้องรับผิดชอบค่าที่พักของตนเองเพียง 14 วัน ไม่ใช่ 1 เดือน ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการให้ทุนจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมต่างประเทศซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์จึงคิดเป็นเงินเพียง 223,871.70 บาท และเมื่อนำมูลค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ทำงานชดใช้ให้โจทก์แล้ว 352 วัน มาหักออก จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนและค่าปรับอีก 3 เท่า อันเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ จึงรวมเป็นเงิน 607,622.56 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ต้องได้รับความเสียหายเดือดร้อนจากการสูญเสียบุคลากรที่เป็นนักบินให้แก่คู่แข่งทางธุรกิจ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 แม้จะไม่มากนัก ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ทำงานชดใช้ให้แล้วบางส่วนและได้ประโยชน์จากการนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีเงินได้ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องทำงานกับโจทก์โดยได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมและไม่ตรงตามกำหนด ทั้งยังถูกติดค้างค่าจ้างในช่วงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 รวมตลอดถึงทางได้เสียอื่นๆ ของทั้งสองฝ่ายเปรียบเทียบกันแล้วสมควรลดค่าเสียหายดังกล่าวลงเหลือ 400,000 บาท และลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ จำเลยทั้งสองอุธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์เป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นข้อตกลงที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งเสรีภาพเพราะจำเลยที่ 1 อยู่ในภาวะจำยอมต้องเข้าทำสัญญากับโจทก์เนื่องจากได้ลาออกจากราชการมาทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้ว และเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร จึงเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นการอุทธรณ์ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ซึ่งมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น และจำเลยทั้งสองสามารถยกขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขตซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ส่วนข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งนักบินอยู่แล้วและปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ผ่านการฝึกอบรมตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเครื่องบิน 737-200 ที่โจทก์นำมาใช้ในสายการบินของโจทก์ได้ แสดงว่าการฝึกอบรมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่นเพราะไม่ต้องลงทุนส่งคนไปฝึกอบรม ข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์มิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนและเสียเบี้ยปรับจึงเป็นข้อห้ามที่มีลักษณะเพื่อปกป้องกิจการของโจทก์ไม่ให้สูญเสียพนักงานที่อุตส่าห์ลงทุนส่งไปฝึกอบรมจนมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินตามกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการบินของกรมการบินพาณิชย์ จึงเป็นข้อตกลงที่สามารถกระทำได้ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 โดยมุ่งหวังที่จะได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่โจทก์ต้องการไว้ทำงานกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้นทั้งจำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกเอาได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนให้โจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า ดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมทั้งวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไว้ 300,000 บาท และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไปเพียง 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงเป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไป 223,871.70 บาท จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานชดใช้เป็นเวลา 1 ปี หรือ 365 วัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำงานให้โจทก์แล้ว 352 วัน จำนวนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์จึงคิดเป็นเงิน 7,973.52 บาท และเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืนเป็นเงิน 23,920.56 บาท จึงรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ 31,894.08 บาท อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 31,894.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลาง - นายสุพล พันธุมโน มาตรา 4 ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ในการพิจารณาข้อตกลงที่ทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตามวรรคสาม จะเป็นการได้เปรียบเกินสมควรหรือไม่ ให้นำมาตรา 10 มาใช้โดยอนุโลม มาตรา 5 ข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน หรือการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ในการวินิจฉัยว่าข้อตกลงตามวรรคหนึ่งทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้หรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงขอบเขตในด้านพื้นที่และระยะเวลาของการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ รวมทั้งความสามารถและโอกาสในการประกอบอาชีพการงานหรือการทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นหรือกับบุคคลอื่นของผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ ประกอบกับทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของคู่สัญญาด้วย
|