

นิติบุคคลเชิดกรรมการเป็นตัวแทนทำหนังสือมอบอำนาจไม่ประทับตราสำคัญ
ติดต่อเรา โทร. 085-9604258
นิติบุคคลเชิดกรรมการเป็นตัวแทนทำหนังสือมอบอำนาจไม่ประทับตราสำคัญ,ตัวการ, ตัวแทนเชิด ในคดีนี้เป็นการฟ้องเรื่องขับรถยนต์โดยประมาท จำเลยเป็นนิติบุคคลมอบอำนาจให้ตัวแทนไปตกลงค่าเสียหายแต่หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ประทับของบริษัทจำเลย จึงปฏิเสธบันทึกข้อตกลงว่าไม่เคยมอบอำนาจให้ตัวแทนไปเจรจาตกลงใด ๆ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสุชาติได้รับมอบอำนาจจากนางสุจิตรากรรมการของจำเลยมาเจรจาตกลงเรื่องความเสียหายโดยนำหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนางสุจิตราและนายสุชาติ หนังสือรับรองของบริษัทจำเลยมาแสดงต่อร้อยเวร และนายสุชาติตกลงเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และค่าซ่อมรถให้แก่โจทก์ ทั้งได้รับรถบรรทุกสิบล้อคืนไป แสดงให้เห็นว่านางสุจิตรากระทำในนามของจำเลย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะมอบหนังสือรับรองของจำเลยไปแม้จะมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการเชิดนางสุจิตราเป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แม้ว่านางสุจิตราจะมิได้กระทำด้วยตนเองแต่มอบอำนาจให้นายสุชาติกระทำการแทนก็ตาม จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหายนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7802/2552 เมื่อเกิดเหตุรถชนกัน ส. ไปเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์โดยมอบใบมอบอำนาจที่มี จ. กรรมการของจำเลยลงลายมือชื่อโจทก์ พร้อมหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทของจำเลยให้ร้อยตำรวจเอก พ. เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า จ. กระทำในนามของจำเลย แม้ จ. มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจ แต่การที่ ส. เจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ยอมชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ 70,000 บาท และรับรถกระบะของโจทก์เพื่อนำไปซ่อม ทั้งยังนำรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุคืนไปจากพนักงานสอบสวน และไม่ปรากฏว่าจำเลยมิได้รับรถคันดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยเชิด จ. เป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แม้ จ. จะมิได้กระทำด้วยตนเอง แต่มอบอำนาจให้ ส. กระทำการแทนก็ตาม จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหาย บันทึกตกลงค่าเสียหายไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินเท่าใด และหากฝ่ายจำเลยไม่ซ่อม โจทก์จะเรียกร้องได้เพียงใด ไม่ชัดแจ้งที่จะเป็นการระงับข้อพิพาท จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ที่จะทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับไป จำเลยจึงยังต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างจำเลย มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทน ของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็น ตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน โจทก์ฟ้องว่า นายไพทูร ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยไปในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถกระบะของโจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยมอบอำนาจให้ตัวแทนไปพบพนักงานสอบสวนบันทึกตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ 70,000 บาท แล้ว ทั้งตกลงจะซ่อมรถกระบะของโจทก์ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี จำเลยนำรถกระบะของโจทก์ไปซ่อมแต่ยังมิได้ซ่อม ขอให้บังคับจำเลยส่งซากรถกระบะของโจทก์คืนแก่โจทก์ในสภาพเดียวกับที่จำเลยรับไปซ่อม ให้จำเลยชดใช้เงิน 365,097.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 350,894 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ก็ไม่ใช่เจ้าของรถกระบะ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ใช่เจ้าของครอบครองรถบรรทุกสิบล้อ นายไพทูรไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยไม่เคยมอบหมายให้นายไพทูรขับรถบรรทุกดังกล่าว และไม่เคยมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำบันทึกตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ ทั้งไม่เคยนำรถกระบะของโจทก์ไปซ่อม ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2541 นายไพทูรขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 - 4656 กาญจนบุรี ชนรถกระบะหมายเลขทะเบียน บ - 9557 กาญจนบุรี ของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสและรถได้รับความเสียหาย วันที่ 1 ธันวาคม 2541 นางสุจิตรามอบอำนาจให้นายสุชาติตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ นายสุชาติได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ 70,000 บาท รับรถกระบะของโจทก์ไปซ่อมและรับรถบรรทุกสิบล้อคืไปจากพนักงานสอบสวน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดเครื่องยนต์รถกระบะของโจทก์จากอู่ซ่อมรถไป โจทก์ติดตามเอาคืนได้แล้ว ส่วนหัวเก๋งรถกระบะของโจทก์หายไป มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของนายสุชาติที่ตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ตามบันทึกตกลงค่าเสียหายมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกไพบูลย์ พนักงานสอบสวนในคดีที่นายไพทูรขับรถเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์ขับเบิกความเป็นพยานว่า นายสุชาติได้รับมอบอำนาจจากนางสุจิตรากรรมการของจำเลยมาเจรจาและตกลงเกี่ยวกับเรื่องความเสียหายโดยนายสุชาตินำหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนางสุจิตราและนายสุชาติ หนังสือรับรองของบริษัทจำเลยมาแสดงต่อร้อยตำรวจเอกไพบูลย์ และนายสุชาติตกลงเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และค่าซ่อมรถให้แก่โจทก์ ทั้งได้รับรถบรรทุกสิบล้อคืนไป เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกไพบูลย์เป็นพยานคนกลาง คำเบิกความจึงน่าเชื่อถือ การที่นายสุชาตินำใบมอบอำนาจที่มีนางสุจิตราลงลายมือชื่อโดยไม่ประทับตราของจำเลย และหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทของจำเลยไปมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกไพบูลย์แสดงให้เห็นว่านางสุจิตรากระทำในนามของจำเลย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่จะมอบหนังสือรับรองของจำเลยไปให้แก่ร้อยตำรวจเอกไพบูลย์ แม้นางสุจิตราจะมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่การที่นายสุชาติเจรจาตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ 70,000 บาท และรับรถกระบะจากโจทก์เพื่อนำไปซ่อม ทั้งยังนำรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุคืนไปจากพนักงานสอบสวน และไม่ปรากฏว่าจำเลยมิได้รับรถคันดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการเชิดนางสุจิตราเป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แม้ว่านางสุจิตราจะมิได้กระทำด้วยตนเองแต่มอบอำนาจให้นายสุชาติกระทำการแทนก็ตาม จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหายนั้น แม้จำเลยจะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อทางทะเบียน แต่ทะเบียนรถมิใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์เป็นแต่เพียงหลักฐานการควบคุมรถของทางการเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยประเด็นต่อไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัย โดยเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าบันทึกการตกลงค่าเสียหาย เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดหรือไม่ เห็นว่า บันทึกดังกล่าวไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินเท่าใดและหากฝ่ายจำเลยไม่ซ่อมโจทก์จะเรียกร้องได้เพียงใด ไม่ชัดแจ้งที่จะเป็นการระงับข้อพิพาท จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง... พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 221,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (30 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท เพิ่มเพื่อนไลน์ QR CODE
|