
ผู้ใหญ่บ้านถูกจับยาเสพติดมีโทษจำคุก 3 เท่า กรณีไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองเมื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 กรณีไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2554
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยสามเท่าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 จึงไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 เป็นจำคุก 12 ปี และปรับ 1,200,000 บาท คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และปรับ 800,000 บาท ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน รวมสองกระทง จำคุก 8 ปี 6 เดือน และปรับ 800,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ระวางโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ลงโทษจำคุก 12 ปี และปรับ 1,200,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และปรับ 800,000 บาท ลงโทษฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ที่ถูกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน รวมทุกกระทง จำคุก 8 ปี 3 เดือน และปรับ 800,000 บาท คืนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และซองกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 27 และ 28 ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยสามเท่าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงชอบที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ กรณีไม่ใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 212 คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้ อุทธรณ์ในทำนองนั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
มาตรา 10 กรรมการหรืออนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมาย เกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภา เทศบาลหรือสภาท้องถิ่นอื่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงาน ของรัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใด กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกระทำความผิด ตาม มาตรา 42 ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น