ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การใช้สิทธิต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น

การใช้สิทธิต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น

 เจ้าของที่ดินร่วมกัน 10 คน เจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนยินยอมให้โจทก์ครอบครองที่ดินทั้งแปลงแต่เพียงผู้เดียว จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่า  ได้ความว่าจำเลยผิดนัดแล้วจำเลยไปทำสัญญาเช่าใหม่กับนางสมศรี เจ้าของรวมอีกคน โจทก์จะฟ้องขับไล่ได้หรือไม่? แม้นางสมศรีจะเป็นเจ้าของรวมด้วยและมีสิทธิให้เช่าที่ดินก็ตาม แต่การใช้สิทธิต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น การที่จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับนางสมศรีโดยเสียค่าเช่าน้อยกว่าเดิมย่อมทำให้เจ้าของรวมคนอื่นซึ่งได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยได้รับความเสียหาย นางสมศรีจึงไม่มีอำนาจที่จะทำสัญญาเช่ากับจำเลย สัญญาเช่าที่ดิน จึงไม่ผูกพันโจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่า จำเลยยังอยู่ในที่ดินที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่เช่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9009/2552 

 ส. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าและการให้เช่าที่ดินเป็นการจัดการตามธรรมดาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สินซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอแต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง และ 1360 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่จำเลยเช่า โดยเสียค่าเช่าเพียงเดือนละ 2,500 บาท น้อยกว่าเดิมที่เคยเสียค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ย่อมทำให้เจ้าของรวมคนอื่นซึ่งได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยได้รับความเสียหาย ส. จึงไม่มีอำนาจที่จะทำสัญญาเช่ากับจำเลย สัญญาเช่าที่ดินจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยยังอยู่ในที่ดินที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินเช่าได้

          จำเลยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้นำเงินมัดจำประกันค่าเสียหาย 9,000 บาท มาหักชำระค่าเช่าค้างชำระ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้ตกลงกันว่า เงินมัดจำประกันค่าเสียหายจะคืนให้ต่อเมื่อหักค่าเสียหายแล้ว ส่วนที่เหลือจะคืนให้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า และค้างชำระค่าเช่าเป็นเงิน 4,500 บาท พร้อมกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องนำเงินมัดจำประกันค่าเสียหาย 9,000 บาท มาหักค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหายก่อนตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน การที่ศาลชั้นต้นไม่นำเงินมัดจำประกันค่าเสียหายมาหักให้แก่จำเลยตามสัญญาย่อมทำให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเกินกว่าที่โจทก์มีสิทธิเป็นการไม่ชอบ และเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในเวลาพิพากษาคดี จึงเป็นพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้

          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5341 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวาร่วมกับบุคคลอื่นรวม 10 คน ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนยินยอมให้โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงแต่เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2543 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินบางส่วนของโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ เนื้อที่ 91 ตารางวา เพื่อทำร้านค้า ตกลงเสียค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท ชำระทุกวันที่ 1 ของเดือน กำหนดเวลาเช่า 1 ปี ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 โจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยว่าประสงค์จะเช่าที่ดินอีกหรือไม่ จำเลยแจ้งว่าไม่ประสงค์เช่าต่ออีกโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย แต่จำเลยและบริวารไม่ยอมออกจากที่เช่า เป็นการละเมิดสิทธิ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากสิ่งปลูกสร้างและที่ดินดังกล่าวและให้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

          จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับนางสมครีซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าที่แท้จริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยได้ชำระค่าเช่าให้แก่นางสมศรีตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 การบอกกล่าวของโจทก์ไม่ชอบเพราะมิได้ส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากสิ่งปลูกสร้างและที่ดินที่เช่าโฉนดเลขที่ 5341 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และให้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ 4,500 บาท แก่โจทก์กับค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบ มาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่ให้จำเลยเช่า โดยจำเลยได้วางเงินมัดจำประกันค่าเสียหายในการเช่าให้โจทก์ไว้ 9,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 แล้วจำเลยไปทำสัญญาเช่าใหม่กับนางสมศรี เจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าอีกคนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยได้รับแล้วตามเอกสารหมาย จ.6 สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544

          พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่เช่าหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาเช่ากับนางสมศรี เจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าอีกคนตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายการอยู่ในที่ดินที่เช่าของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดโจทก์นั้น เห็นว่า แม้นางสมศรีจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่เช่าด้วยและการให้เช่าที่ดินก็เป็นการจัดการตามธรรมดาเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สิน ซึ่งเจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอ แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสอง และ 1360 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับนางสมศรีซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่จำเลยเช่า โดยเสียค่าเช่าเพียงเดือนละ 2,500 บาท น้อยกว่าเดิมที่เคยเสียค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ย่อมทำให้เจ้าของรวมคนอื่นซึ่งได้มอบหมายให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับจำเลยได้รับความเสียหาย โดยได้รับค่าเช่าน้อยลงจากเดิมและไม่ปรากฏว่า โจทก์กับเจ้าของรวมคนอื่นยินยอมด้วย นางสมศรีจึงไม่มีอำนาจที่จะทำสัญญาเช่ากับจำเลยในลักษณะดังกล่าวได้ สัญญาเช่าที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 จึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยแล้ว จำเลยยังอยู่ในที่ดินที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่เช่าได้

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยเรื่องที่จำเลยขอให้นำเงินมัดจำประกันค่าเสียหายมาหักค่าเช่าค้างชำระ เพราะไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้นชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าเรื่องการนำเงินมัดจำประกันค่าเสียหาย 9,000 บาท มาหักค่าเช่าค้างชำระ เป็นปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้นำเงินมัดจำประกันค่าเสียหาย 9,000 บาท มาหักชำระค่าเช่าค้างชำระ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 แล้ว โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันว่า เงินมัดจำประกันค่าเสียหายนี้ จะคืนให้ต่อเมื่อหักค่าเสียหายแล้ว ส่วนที่เหลือจะคืนให้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า และค้างชำระค่าเช่าเป็นเงิน 4,500 บาท พร้อมกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องนำเงินมัดจำประกันค่าเสียหาย 9,000 บาท มาหักค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหายก่อนตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 การที่ศาลชั้นต้นไม่นำเงินมัดจำประกันค่าเสียหายมาหักให้แก่จำเลยตามสัญญาย่อมทำให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเกินกว่าที่โจทก์มีสิทธิ และเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจในเวลาพิพากษาคดีจึงเป็นพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยสำหรับความรับผิดของจำเลยนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องการนำเงินมัดจำประกันค่าเสียหายจำนวน 9,000 บาท มาหักค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหายตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสืบพยานจนเสร็จแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียเลยทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาใหม่

          มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า จำเลยผิดสัญญาเช่าโดยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นมา ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 เดือน 15 วันเป็นเงิน 4,500 บาท โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว แต่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินที่เช่าจึงเป็นละเมิด จำเลยจึงต้องใช้ค่าเช่าค้างชำระดังกล่าวพร้อมกับรับผิดค่าเสียหายตลอดเวลาที่ยังอยู่ในที่ดินที่เช่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ศาลฎีกาเห็นว่าพอสมควรแล้ว แต่ต้องนำเงินมัดจำประกันค่าเสียหาย 9,000 บาท มาหักค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหายดังกล่าวก่อนตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินมัดจำประกันค่าเสียหายจำนวน 9,000 บาท มาหักจากค่าเช่าค้างชำระ 4,500 บาท และค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

     มาตรา 537    อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่าตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดและผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

มาตรา 1358 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการ ทรัพย์สินรวมกัน

มาตรา 1360 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ แต่การใช้ นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ
 
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิได้ดอกผลตาม ส่วนของตนที่มีในทรัพย์สินนั้น




กรรมสิทธิ์รวมเจ้าของรวม

ขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวม
ทรัพย์สินได้มาขณะอยู่กินด้วยกันเป็นกรรมสิทธิ์รวม
เจ้าของรวมจำหน่ายที่ดินในส่วนของตนได้
ให้ยึดที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยขายทอดตลาด
เจ้าของรวมจำหน่ายส่วนของตน ตัวทรัพย์ยังไม่ได้แบ่งแยก