ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวม

ขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวม

กฎหมายกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินอันมีเจ้าของหลายคนไว้คือ 1. แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อน 2. เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง 3. ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดและ ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง หรือตามส่วนของเจ้าของรวม ในคดีนี้การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในทันทีนั้นไม่ถูกต้องศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

แม้ว่าเจ้าของรวมในบ้านพร้อมที่ดินมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกให้แบ่งกันได้ก็ตาม แต่การเรียกให้แบ่งก็ต้องเป็นเวลาที่เหมาะสม เจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ แล้วอย่างไรที่จะถือว่าไม่เป็นโอกาสอันควร ศาลยกตัวอย่างในคดีนี้ว่า ที่ดินแปลงพิพาทโจทก์ฟ้องขอให้แบ่ง จำเลยอ้างว่าที่ดินเป็นที่ตั้งของนิติบุคคลที่มีโจทก์จำเลยเป็นหุ้นส่วน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นว่า ได้เลิกกิจการไปแล้วและจำเลยได้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวนั้นข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6781/2545

 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งในเวลาไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การแบ่งทรัพย์สินในเวลานั้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของรวมคนอื่น การที่โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท โดย หจก. อ. ที่มีโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนและได้เลิกกิจการไปแล้วเปิดดำเนินกิจการอยู่ในอาคารบนที่ดินทั้งโจทก์และจำเลยมีปัญหากันถึงขนาดจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา โจทก์จึงมิได้เข้าไปในที่ดินและอาคารพิพาทอีก แม้จะปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินและอาคารพิพาท แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวจะฟังว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้

           การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในทันทีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ได้บัญญัติกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวมไว้เป็นขั้นตอนแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโดยให้จำเลยแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง
 
มาตรา 1363  เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้
สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้

มาตรา 1364  การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน
ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่งเช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้
 
          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแบ่งเงินให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเอาที่ดินโฉนดเลขที่ 7036 ตำบลท่าผา (บางพัง)อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมอาคารเลขที่ 104 ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี บนที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 7036 ตำบลท่าผา (บางพัง) อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีอาคารเลขที่ 104 ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 7036 ตำบลท่าผา (บางพัง) อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน โจทก์มีความประสงค์จะขอแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่จำเลยไม่ยอมจึงขอให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนเพียงพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่พิพาทร่วมกับจำเลยคนละครึ่งได้อย่างไร โจทก์ได้ชำระค่าที่ดินและค่าก่อสร้างเป็นเงินเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควร จึงฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์สินไม่ได้นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ดังนั้นข้อความที่ว่า ในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรนั้นจึงเป็นข้อยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่าเจ้าของรวมสามารถเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน ป้องกันมิให้การแบ่งทรัพย์สินในเวลานั้นจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของรวมคนอื่น การที่โจทก์และจำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 7036 และอาคารเลขที่ 104 ที่พิพาทตามฟ้อง โดยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุชามอเตอร์เซลล์ที่มีโจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนเพียงสองคนเปิดดำเนินกิจการอยู่ในอาคารดังกล่าวและห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเลิกกิจการไปแล้ว โดยนายทะเบียนจดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2541 ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้ ทั้งโจทก์จำเลยมีปัญหาทะเลาะวิวาทกันถึงขนาดจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้เข้าไปในที่ดินและอาคารที่พิพาทอีก แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินและอาคารพิพาทก็เป็นเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น การที่โจทก์ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวจะฟังว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทออกขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้แบ่งให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในทันทีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมมาตรา 1364 ได้บัญญัติกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวมไว้เป็นขั้นตอน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง"

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 7036 ตำบลท่านา (บางพัง) อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมอาคารเลขที่ 104 ที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยให้โจทก์จำเลยแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9761/2555
 
   ป.พ.พ. มาตรา 1361 บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ จะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้ ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน” แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง 1 ใน 7 ส่วน แต่จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอก บ.  จดทะเบียนใส่ชื่อของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพียงคนเดียว และนำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและบรรดาทายาทอื่นของจ่าสิบเอก บ. โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องและพี่น้องคนอื่นซึ่งเป็นบุตรของจำเลยยังเคยเจรจากับโจทก์ว่าไม่คิดจะโกงโจทก์ และภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ผู้ร้องยังมีส่วนเจรจากับโจทก์โดยขอให้โจทก์ยอมลดยอดหนี้ให้แก่จำเลย จนจำเลยและโจทก์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อมีการยึดที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ร้องยังได้ไปดูแลการขายทอดตลาดแทนจำเลยอีกด้วย แสดงว่าตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี นับแต่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องรู้มาโดยตลอด แต่ไม่เคยโต้แย้งหรือคัดค้าน แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาให้จำเลยแสดงตนเป็น เจ้าของที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวและยินยอมให้จำเลยจำนองที่ดินพิพาทได้ การจำนองผูกพันผู้ร้องตาม ป.พ.พ.          มาตรา 1361 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกจากการขายทอดตลาดได้

 




กรรมสิทธิ์รวมเจ้าของรวม

ทรัพย์สินได้มาขณะอยู่กินด้วยกันเป็นกรรมสิทธิ์รวม
เจ้าของรวมจำหน่ายที่ดินในส่วนของตนได้
ให้ยึดที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยขายทอดตลาด
เจ้าของรวมจำหน่ายส่วนของตน ตัวทรัพย์ยังไม่ได้แบ่งแยก
การใช้สิทธิต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น