ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ทรัพย์สินได้มาขณะอยู่กินด้วยกันเป็นกรรมสิทธิ์รวม

ทรัพย์สินได้มาขณะอยู่กินด้วยกันเป็นกรรมสิทธิ์รวม

จำเลย(สามี)ให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ มอบให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์เพื่อการเลี้ยงชีพ มิได้มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย(สามี) ทั้งที่ดินดังกล่าวยังมิได้มีการออกโฉนด จึงไม่ใช่สินสมรส โจทก์(ภริยา)ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ให้กึ่งหนึ่งตามฟ้อง คดีมีประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทสองแปลงในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยเพียงแต่อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9577/2552

 ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว
 
มาตรา 1356  ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12
มาตรา 12   ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือ รับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้น ไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี
 ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความ รับผิดแห่งการบังคับคดี
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2508 และได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2510 เมื่อประมาณปลายปี 2510นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล ได้จัดสรรที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยเป็นที่ดินแปลงที่ 50 ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล รวมเนื้อที่ 18 ไร่เศษ โจทก์และจำเลยได้ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินเพื่ออยู่อาศัยป็นบ้านไม้สองชั้น และปลูกยางพารา ในปี 2511 จำเลยประพฤติตนเสเพล ไม่รับผิดชอบปล่อยให้โจทก์ต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง และนับตั้งแต่ปี 2517 โจทก์กับจำเลยก็ได้เลิกร้างมิได้ยุ่งเกี่ยวกันอีกเลย โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไป โจทก์ได้พยายามหย่าขาดกับจำเลยหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้จำเลยหย่ากับโจทก์ และแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

          จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล มอบให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์เพื่อการเลี้ยงชีพ มิได้มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ทั้งที่ดินดังกล่าวยังมิได้มีการออกโฉนด จึงไม่ใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ให้กึ่งหนึ่งตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งสินสมรสคือโฉนดที่ดินเลขที่ 4208 และเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล พร้อมส่วนควบให้โจทก์ จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจกระทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ให้ขายโดยการประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ 4208 และเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2508 โจทก์กับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 1 คนแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2510 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูลและได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทจากนิคมดังกล่าวในวันเดียวกัน โดยที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมือเปล่ายังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อย่างใด หลังจากนั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2510 โจทก์จำเลยจึงเพิ่งจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาปี 2548 โจทก์มายื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้และขอแบ่งสินสมรสซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน และจำเลยเพิ่งได้รับโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินปลูกบ้านอาศัยและที่ดินทำสวนยางพารา ตามโฉนดที่ดินดังกล่าวระบุข้อห้ามโอนตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 คือ ห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2548 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ตามลำดับ สำหรับบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 70/4 และต้นยางพาราในที่ดินโฉนดเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรส

          คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทสองแปลงในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้หรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้บังคับคดีโดยให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งนั้นถูกต้องชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยเพียงแต่อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียว ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกันโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์และจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้แบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่ เพียงใด ก็ครอบคลุมถึงประเด็นว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ด้วยแล้ว เพราะเป็นผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อต่อสู้ของจำเลย ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลยหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติว่า ที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีสิทธิกระทำได้ ทั้งมิใช่การบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่จำเลยอยู่กินกับโจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และพิพากษาให้ใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
หมายเหตุ
          ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินที่จำเลยได้รับการจัดสรรจากรัฐให้เข้าไปทำกินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวหลังจากที่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์แล้วประมาณ 2 ปี โดยโจทก์กับจำเลยเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2548 ขณะที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยหย่ากับโจทก์และแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่งนั้น ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นที่ดินมือเปล่า แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน และจำเลยเพิ่งได้รับโฉนดที่ดินแปลงพิพาท กรณีจึงมีปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรส ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่ และต่อมาได้พิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง
           ในประเด็นปัญหาที่ว่า ที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ราษฎรตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพเป็นสินสมรสหรือไม่ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
           คำพิพากษาฎีกาที่ 2800/2543 เดิมโจทก์ฟ้อง ก. ขอหย่าและแบ่งสินสมรสซึ่งมีที่ดินพิพาทนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี - ลพบุรี จัดสรรให้แก่ ก. สมาชิกนิคมทำประโยชน์รวมอยู่ด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ ก. แบ่งสินสมรสซึ่งรวมที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ขณะนั้นที่ดินพิพาทยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่ระบุว่าก่อนมีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ให้ถือว่าบุคคลที่รัฐอนุญาตให้เข้าทำกินมีสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์เด็ดขาด แต่กลับมีมาตรา 12 บัญญัติว่าภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินผู้ที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และในวรรคสองบัญญัติว่า ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินที่รัฐยังไม่ได้มอบสิทธิครอบครองให้แก่ ก. ในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อ ก. เพิ่งได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์และออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทมาภายหลัง จึงไม่ใช่สินสมรสระหว่างโจทก์และ ก. โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งรับโอนมรดกจาก ก. ให้แบ่งที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และ ก. ตามคำพิพากษาของศาลได้
           คำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2540 ที่ดินมือเปล่าที่พิพาท ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเป็นสินสมรส เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนิคมสร้างตนเองยังมิได้มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยและยังอยู่ในระหว่างที่กำลังปฏิบัติตามเงื่อนไขของการจะได้กรรมสิทธิ์ แต่ยังปฏิบัติไม่สำเร็จตามเงื่อนไข และตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และถึงแม้หากจะได้มีหลักฐานกรรมสิทธิ์อยู่ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์เกินกว่าห้าปีแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งในฐานะเป็นสินสมรสได้
           คำพิพากษาฎีกาที่ 2800/2543 และ 7034/2540 นี้ วินิจฉัยยืนยันในหลักการที่ว่า ที่ดินที่รัฐให้ราษฎรเข้าทำกินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ รัฐเพียงแต่จัดสรรให้ราษฎรเข้าไปทำกินเท่านั้น ไม่ได้มอบสิทธิครอบครองหรือมอบกรรมสิทธิ์ให้เด็ดขาดจนกว่ารัฐจะได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือออกโฉนดที่ดินให้และได้พ้นกำหนดห้ามโอนห้าปีแล้ว ซึ่งก็เดินตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 704/2508 ที่วินิจฉัยว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นที่ดินซึ่งกรมประชาสงเคราะห์จัดสรรให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองเข้าทำกินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2485 แต่ก็ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่สมาชิกรายใดเลย จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 (2)
           เช่นเดียวกับคดีที่หมายเหตุนี้ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว หลังจากนั้นจำเลยก็ได้รับโฉนดที่ดินแปลงที่พิพาทมา กรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อไม่ใช่สินสมรสโจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่งได้ แต่เหตุที่คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมและพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง อันต่างจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น ผู้หมายเหตุเห็นว่าคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกานี้ไม่ได้กลับหลักเดิมข้างต้น แต่เป็นเพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้หย่าและแบ่งทรัพย์สินกึ่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยา แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่สินสมรสก็ตาม ศาลฎีกาได้ปรับใช้ข้อกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ โดยเฉพาะโจทก์ผู้ต้องเสียเปรียบในมูลหนี้เพราะหากแปลความและวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3034/2540 และ 2800/2543 โดยเคร่งครัดแล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้รับสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทเลยซึ่งผู้หมายเหตุเห็นพ้องด้วยกับผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว แม้ว่าในแง่ทางวิชาการแล้วเหตุแห่งผลนั้นออกจะขัดกันในตัวก็ตาม ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ข้อที่ผู้หมายเหตุเห็นว่าจะขัดกันในตัวนั้น เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาได้ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายที่ว่า สิทธิที่จำเลยได้รับในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกัน จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย กรณีจึงมีปัญหาว่า เมื่อถือว่าสิทธิดังกล่าวเป็นทรัพย์สิน แต่ทรัพย์สินประเภทนี้จะนำบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 หมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ตามมาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับได้หรือไม่ เพราะเมื่อดูเจตนารมณ์แล้วหมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมอยู่ใต้ลักษณะ 2 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ดังนั้นคำว่าทรัพย์สินตามมาตรา 1356 น่าจะใช้เฉพาะกับทรัพย์สินที่เป็นวัตถุมีรูปร่างเท่านั้น เพราะลักษณะสำคัญประการหนึ่งของกรรมสิทธิ์คือต้องมีทรัพย์เป็นวัตถุแห่งสิทธิ แต่สิทธิที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนี้ มิใช่ทรัพย์สินประเภทที่เป็นวัตถุมีรูปร่าง ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่าขณะฟ้องจำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเลย คำพิพากษาฎีกาที่หมายเหตุนี้ได้แปลความขยายความคำว่าทรัพย์สินตามมาตรา 1356 รวมไปถึงทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์สินประเภทสิทธิเหนือพื้นที่ดินซึ่งเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างด้วย
           นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ แต่ที่วินิจฉัยว่า "หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์และจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง..." นั้น ก็เพื่อนำไปเป็นเหตุในการปรับและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ เพราะหากวินิจฉัยตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เดิมว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ผลแห่งคำวินิจฉัยก็คงจะต้องเป็นไปตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2540 และ 2800/2543 ข้างต้น แต่หากปรับเปลี่ยนประเด็นข้อพิพาทใหม่ แนวคำวินิจฉัยนี้ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นๆ ที่มีข้อเท็จจริงทำนองนี้ได้เช่นกัน จึงนับว่าเป็นความชาญฉลาดและมองการณ์ไกลของศาลฎีกาในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้ผลที่ตามมาหลังจากนี้ การให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของโจทก์หลังจากที่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและถือครองร่วมกับจำเลยจนพ้นกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนห้าปีแล้ว โจทก์จะต้องฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่หากจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ก็ตาม ก็ไม่เป็นเรื่องยากสำหรับโจทก์ในการนำสืบ เพราะประเด็นต่างๆ ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาฎีกานี้ ซึ่งต่างจากแนวคำวินิจฉัยเดิมที่ถือว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรส โจทก์ย่อมไม่อาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีก เพราะเป็นฟ้องซ้ำ
         
ณัฏฐ์พงษ์ สมศักดิ์

 




กรรมสิทธิ์รวมเจ้าของรวม

ขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สินของเจ้าของรวม
เจ้าของรวมจำหน่ายที่ดินในส่วนของตนได้
ให้ยึดที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยขายทอดตลาด
เจ้าของรวมจำหน่ายส่วนของตน ตัวทรัพย์ยังไม่ได้แบ่งแยก
การใช้สิทธิต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น