

สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก การที่ทายาทโดยธรรมตกลงรับมอบกิจการอันเป็นทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินกิจการเรียบร้อยแล้ว โดยในข้อตกลงไม่ติดใจจะเรียกร้องหรือเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากกองมรดกอีกต่อไป ดังนี้ แม้ผู้จัดการมรดกจะยังมิได้โอนกิจการและสิทธิการเช่าให้ ก็หาใช่เป็นสาระสำคัญของข้อตกลงไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้ว พ.ทายาทของส. เจ้ามรดกตกลงรับมอบปั๊มน้ำมันอันเป็นทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินกิจการเรียบร้อยแล้ว โดยในข้อตกลง พ. ไม่ติดใจจะเรียกร้องหรือเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของส. อีกต่อไป ดังนี้ แม้ผู้จัดการมรดกจะยังมิได้โอนปั๊มน้ำมันและสิทธิการเช่า ให้แก่ พ. ก็หาใช่เป็นสาระสำคัญของข้อตกลงไม่ เพราะถือว่า พ. เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้ว ภายหลัง พ. ถึงแก่กรรมโจทก์ผู้เป็นทายาทของพ.ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของส. อีก. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองและนายไพบูลย์ เป็นทายาทของนายสตางค์ เจ้ามรดกซึ่งถึงแก่กรรมและมีทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 13,066,667 บาท โดยทรัพย์มรดกดังกล่าวมีทายาทมีสิทธิรับมรดก 7 คน และทายาทต่างครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันและแทนกันตลอดมา ต่อมานายไพบูลย์ถึงแก่กรรมโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรมีสิทธิรับมรดกแทนที่ จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดก จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกของนายสตางค์ เจ้ามรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 1 ใน 7 ส่วนคิดเป็นเงิน 1,866,666 บาท หากการแบ่งไม่อาจตกลงกันได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินจัดแบ่งกันตามส่วนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อนายสตางค์ถึงแก่กรรม นายไพบูลย์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทคนอื่น ๆ ขอรับทรัพย์มรดกหรือทรัพย์สินอื่นแทนทรัพย์มรดกไปครบถ้วนแล้ว จึงได้สละมรดกอื่น ๆ ไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายไพบูลย์ได้รับมรดกส่วนของตนไปแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งมรดกของนายสตางค์เจ้าของมรดกอีก พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งว่า...หลังจากนายสตางค์เจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วนายไพบูลย์ได้ทำหนังสือลงวันที่ 5 ตุลาคม 2514 ให้ไว้แก่นายไพโรจน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสตางค์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีข้อความว่า "...ข้อ 1. เนื่องจากข้าพเจ้านายไพบูลย์ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกและทรัพย์สินอื่น ๆ ของนายสตางค์ ตามกฎหมาย แต่เนื่องด้วยนายไพโรจน์ ผู้จัดการมรดกได้นำเงินทรัพย์สินมรดกของนายสตางค์ ไปลงทุนก่อสร้างปั๊มน้ำมันซัมมิท จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันต่าง ๆ ของบริษัทซัมมิทอินสเหรียล จำกัด (ปานามา) ตั้งอยู่ในตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองจังหวัดพังงา และได้เช่าที่ดินของนางลาภ ตั้งปั๊มน้ำมันดังกล่าวขึ้น บัดนี้ปั๊มน้ำมันนี้ได้จัดจำหน่ายน้ำมันแล้วนายไพโรจน์ ผู้จัดการมรดกตกลงยกปั๊มน้ำมันนี้ให้เป็นสิทธิดำเนินการหรือเป็นเจ้าของให้นายไพบูลย์ และจะได้จัดการโอนสิทธิการเช่าที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันให้แก่นายไพบูลย์ ด้วย...ข้าพเจ้านายไพบูลย์ พอใจทรัพย์สินที่ได้รับส่วนแบ่งนี้ และไม่ติดใจจะเรียกร้องหรือเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของนายสตางค์ อีกต่อไปขอสละสิทธิส่วนของมรดกทุกอย่าง..." ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 มีใจความเพียงว่านายไพโรจน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสตางค์ตกลงมอบปั๊มน้ำมันให้นายไพบูลย์เป็นผู้ดำเนินกิจการแล้วจะยกปั๊มน้ำมันและโอนสิทธิต่าง ๆ ให้นายไพบูลย์ในภายหลังเท่านั้น นายไพโรจน์ยังมิได้โอนปั๊มน้ำมันและสิทธิการเช่าให้นายไพบูลย์ ถือไม่ได้ว่าได้มีการแบ่งมรดกให้นายไพบูลย์แล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 ระบุชัดว่า นายไพโรจน์ในฐานะผู้จัดการมรดกตกลงยกปั๊มน้ำมันซึ่งลงทุนก่อสร้างด้วยทรัพย์มรดกของนายสตางค์เจ้ามรดกให้แก่นายไพบูลย์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก นายไพบูลย์ยินยอมรับมรดกอันเป็นส่วนแบ่งนี้โดยไม่ติดใจเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์ของเจ้ามรดกอีกต่อไป ซึ่งตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 ระบุว่านายไพโรจน์ตกลงยกปั๊มน้ำมันให้แก่นายไพบูลย์นับจากวันทำสัญญาเป็นต้นไปประกอบกับนางสว่างจิตรเบิกความว่า นายไพบูลย์ได้เข้าดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันอยู่ประมาณ 3 ปี จึงเลิก ระหว่างดำเนินกิจการนายไพบูลย์ได้ปลูกบ้านอยู่ข้างปั๊มน้ำมันในที่ดินที่เช่านั้นด้วย กรณีฟังได้ว่านายไพบูลย์ได้รับปั๊มน้ำมันมาเป็นของตนเองแล้ว มิใช่เพียงแต่ดูแลกิจการแทนนายไพโรจน์ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อไม่ได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินให้นายไพบูลย์ เอกสารหมาย ล.1 จึงไม่สมบูรณ์และไม่ผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า การโอนสิทธิการเช่าไม่ใช่สาระสำคัญของข้อตกลงแม้จะไม่มีการโอนสิทธิการเช่าก็ยังถือว่านายไพบูลย์เป็นเจ้าของปั๊ทน้ำมันและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และนายไพบูลย์ก็เข้าดำเนินกิจการปั๊มน้ำมันเองแล้ว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสาระสำคัญ ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 จึงผูกพันคู่สัญญา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นการประนีประนอมยอมความในการแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งนายไพบูลย์ลงชื่อให้ไว้กับนายไพโรจน์ในฐานะผู้จัดการมรดกว่านายไพบูลย์ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังกล่าวแล้วยินดีสละสิทธิรับมรดกและทรัพย์สินอื่น ๆ ในกองมรดกของนายสตางค์เจ้ามรดกทุกอย่างย่อมมีผลบังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850, 852,1750 โจทก์ผู้เป็นทายาทของนายไพบูลย์ ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว" พิพากษายืน. หมายเหตุ การสละมรดกกับการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น สามารถทำได้ด้วยสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจะมีผลบังคับได้เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญตามมาตรา 1612,1750 วรรค 2 คงมีปัญหาว่า อย่างไรถือว่าเป็นการสละมรดกและกรณีใดถือว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดก เพราะหากมีจุดคลาดเคลื่อนในข้อนี้แล้วจะก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น หากเป็นการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วนไม่ได้ ตามมาตรา 1613 ทายาทของผู้สละมรดกมีสิทธิสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน ตามมาตรา 1615 วรรค 2 กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการรับมรดกแทนที่ทายาทผู้สละมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1639 ซึ่งกำหนดไว้เพียง 2 กรณี คือ แทนที่ได้ในกรณีที่ทายาทตาย หรือถูกกำจัด ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่กรรมไปแล้ว ต่อมานายไพบูลย์ผู้เป็นบุตรจึงถึงแก่กรรม ซึ่งเป็นกรณีที่ทายาทตายหลังเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีโดยบรรยายฟ้องว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายไพบูลย์จากกองมรดกของนายสตางค์เจ้ามรดก จึงเห็นได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องโดยใช้หลักกฎหมายที่คลาดเคลื่อน แท้ที่จริงแล้วควรบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกของนายไพบูลย์ซึ่งมีสิทธิขอแบ่งปันทรัพย์จากกองมรดกของนายสตางค์แต่ยังมิได้มีการแบ่งปันกันมากกว่า นอกจากนี้ในประเด็นที่ว่าเป็นการสละมรดกหรือการแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้นจำเลยที่ 1 ให้การว่า "นายไพบูลย์ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทายาทอื่น ๆ ขอรับทรัพย์มรดกหรือทรัพย์สินอื่นแทนทรัพย์มรดกไปครบถ้วนแล้ว จึงได้สละมรดกอื่น ๆ ไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป" จะเห็นว่าเป็นการให้การต่อสู้ในทำนองว่ามีการสละมรดกกันแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสามในการสืบมรดกตามสิทธิของตนตามมาตรา 1615 วรรค 2 ข้อน่าคิดก็คือการสละมรดกนั้นหาใช่จะมีได้เฉพาะการสละมรดกโดยเสน่หาเพียงประการเดียวไม่ กฎหมายยังได้รับรองถึงกรณีที่เป็นการสละมรดกโดยมีค่าตอบแทนไว้ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1614 เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้ลึกซึ่งต่อไปด้วยว่า กรณีใดเป็นการสละมรดกโดยมีค่าตอบแทนและกรณีใดเป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก เพราะหากวินิจฉัยในประเด็นนี้ผิดพลาดแล้วจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันดังได้กล่าวแล้ว ข้อที่น่าจะนำมาเป็นหลักคิดง่าย ๆ ก็คือ หากมีความตอบแทนในสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทอื่นตกลงยกทรัพย์ของทายาทผู้นั้นให้แก่ตนหรือทายาทผู้นั้นยอมรับเงื่อนไขผูกพันใด ๆในอันที่จะต้องตอบแทนโดยไม่เกี่ยวกับการนำทรัพย์ในกองมรดกมาผูกพันหรือตอบแทนด้วยแล้วก็ย่อมเป็นการสละมรดกโดยมีค่าตอบแทน แต่หากการตกลงกันนั้นมีการให้นำทรัพย์มรดกมาตอบแทนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนหรือยอมให้ทายาทคนใดคนหนึ่งได้รับสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดในทรัพย์มรดกแล้วไม่ติดใจในทรัพย์มรดกอีกต่อไป ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่แม้จะกำหนดบทสรุปไว้เช่นนี้แล้วก็ตาม เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าจะนำมาพิจารณาประกอบข้อสังเกตดังกล่าวด้วยเช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597/2508 เมื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลย บุตรจำเลยและผู้ร้องขัดทรัพย์มีข้อตกลงว่า จำเลยยอมสละมรดกส่วนตนทั้งสิ้นเช่นนี้ แม้จะมีข้อตกลงต่อไปว่า ให้จำเลยมีสิทธิเก็บกินจนกว่าจะวายชนม์และผู้ร้องขัดทรัพย์ยกที่ดินส่วนหนึ่งให้บุตรจำเลยก็ดี ก็ไม่ถือว่าเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไข แต่ถือว่าเป็นการได้สิทธิเพราะการสละมรดกโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ การสละมรดกจึงสมบูรณ์ไม่ฝ่าฝืนมาตรา 1613 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597/2508 นี้ เป็นกรณีตกลงให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งได้รับสิทธิเก็บกินผลไม้ในที่สวนซึ่งเป็นมรดกกึ่งหนึ่ง และยกที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่บุตรของจำเลย โดยจำเลยสละไม่รับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสิ้น กรณีนี้เช่นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยสละมรดก ผลที่ติดตามต่อไปซึ่งไม่ได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวก็คือบุตรของจำเลยย่อมมีสิทธิสืบมรดกในส่วนของจำเลยได้ตามมาตรา 1615 วรรค 2 แต่แม้จะมีผลเช่นนั้นก็หาทำให้ที่ดินตกเป็นของจำเลยอีกต่อไปไม่ ดังนั้น โจทก์ในคดีดังกล่าวจึงหามีสิทธิยึดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยไม่ กรณีเช่นนี้ หากศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปในทางที่ว่าเป็นสัญญาแบ่งปันมรดกผลแห่งคดีย่อมเป็นเช่นเดียวกันคือ ต้องมีคำพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด หากแต่ผลที่จะเกิดมีขึ้นต่อไปเกี่ยวกับบุตรของทายาทผู้สละมรดกยังคงมีสิทธิสืบมรดกอันเป็นผลให้ทายาทอื่นเสียเปรียบก็จะยังสร้างความแคลงใจว่าควรจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ อย่างไรก็ดีผู้บันทึกเห็นว่า เหตุที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนั้นคงสืบเนื่องมาจากคู่ความตั้งรูปคดีว่าเป็นการสละมรดกโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลามาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงศาลฎีกานั่นเอง จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไปได้ ผู้บันทึกจึงมีความเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่597/2508 ยังไม่เป็นข้อยุติว่าการตกลงให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทจะไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งหากมองให้ไกลไปกว่านั้นอาจเห็นได้ว่าการแบ่งปันทรัพย์มรดกหาจำต้องตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์มรดกระหว่างทายาทเสมอไปไม่ อาจมีการตกลงในเรื่องสิทธิ์ก็ได้ เช่น เจ้ามรดกมีบ้าน 1 หลัง เป็นทรัพย์มรดก การแบ่งปันทรัพย์มรดกระวห่างทายาท 2 คน อาจกระทำได้โดยให้ทายาทคนหนึ่งมีสิทธิอาศัยในบ้านดังกล่าวและให้กรรมสิทธิ์ตกแก่ทายาทอีกคนหนึ่งกรณีเช่นนี้ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกตามมาตรา 1750 ได้เช่นกัน สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิจารณาอยุ่นี้มีข้อเท็จจริงว่า การที่ผู้จัดการมรดกตกลงกับนายไพบูลย์โดยยกกิจการปั๊มน้ำมันให้นั้น แม้จะไม่มีประเด็นในเรื่องการสละมรดกในชั้นฎีกา แต่ก็น่าคิดว่าเหตุใดจึงถือว่าเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดก เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันเป็นของบุคคลอื่น แต่ผู้จัดการมรดกได้เช่ามาและลงทุนก่อสร้างด้วยทรัพย์มรดก เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าค่าเช่ากับการลงทุนตั้งปั๊มน้ำมันล้วนแต่มาจากทรัพย์มรดกทั้งสิ้น แม้ที่ดินที่เช่าจะเป็นของบุตรอื่นก็ไม่เป็นสาระสำคัญเพราะมีมูลค่าส่วนน้อยกว่าเงินจากกองมรดกที่ลงทุนมาก ดังนั้น จึงถือว่าเป็นการแบ่งปันมรดกได้ แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป เช่น กิจการปั๊มน้ำมันเป็นของผู้จัดการมรดกเองทั้งสิ้นไม่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก กรณีเช่นนี้ หากมีการตกลงยกกิจการปั๊มน้ำมันให้โดยนายไพบูลย์ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์มรดกอีก ก็คงเป็นเรื่องการสละมรดกโดยมีค่าตอบแทนแน่นอนดังนั้นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในข้อตกลงนายไพบูลย์ยินดีสละสิทธิรับมรดกและทรัพย์สินอื่นในกองมรดกจึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว เพราะกรณีดังกล่าวหาได้หมายความว่าเป็นการสละมรดกไม่ หากแต่เป็นถ้อยคำธรรมดาที่แสดงว่าไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์มรดกอื่นต่อไป จึงต้องบังคับ ตามมาตรา 1750 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจสืบสิทธิ์ของนายไพบูลย์ต่อไปได้ ข้อน่าสังเกตต่อไปก็คือการตกลงแบ่งปันมรดกโดยมีข้อตกลงจะโอนสิทธิการเช่าที่ดินที่ตั้งปั๊มน้ำมันหาใช่เป็นการตกลงว่าหากยังไม่มีการโอนสิทธิการเช่าให้แล้วนายไพบูลย์จะยังมีสิทธิของแบ่งทรัพย์มรดกอื่นได้อันเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน การโอนสิทธิการเช่าเป็นเรื่องของการบังคับตามสัญญาต่อไปในภายหลังซึ่งสามารถเรียกร้องให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามสัญญา และมีผลผูกพันทายาทอื่นได้ ดังนั้นศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่ามีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันเรียบร้อยแล้ว. ชาติชาย อัครวิบูลย์.
|