

สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้อย่างเจ้าหนี้สามัญ มิใช่ฟ้องบังคับจำนอง จึงต้องนำอายุความ 1 ปี มาใช้บังคับแก่คดี เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกแต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรม เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ ดอกเบี้ยซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์ย่อมเป็นอันขาดอายุความด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2474/2552 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 233 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 และนายบุญมี ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 28778 ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้จำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง โดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นสัญญากู้เงิน ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.2 หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 และนายบุญมีชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 และยังคงค้างชำระหนี้ต้นเงิน 91,111.03 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันดังกล่าว ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2548 โจทก์ตรวจสอบพบว่านายบุญมีถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนายบุญมีในฐานะทายาทโดยธรรม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อน เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้บทกฎหมายนี้จะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นผลให้เจ้าหนี้จำนองยังคงมีสิทธิฟ้องบังคับชำระหนี้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้จำนองฟ้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง อันเป็นการบังคับตามทรัพย์สิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องเป็นการฟ้องบังคับจำนองเท่านั้น คดีนี้แม้โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า นายบุญมีร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ แต่โจทก์เพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญมีชำระหนี้อันเป็นตัวเงินคือต้นเงินและดอกเบี้ย มิได้ขอให้บังคับชำระหนี้จากที่ดินที่จำนองแต่อย่างใด สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้อย่างเจ้าหนี้สามัญ มิใช่ฟ้องบังคับจำนอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 193/27 จึงต้องนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่คดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายบุญมีมาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2548 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายบุญมี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ ดอกเบี้ยซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์ย่อมเป็นอันขาดอายุความด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงขาดอายุความแล้ว ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้องตามสภาพแห่งคำฟ้องของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความเป็นประเด็นไว้แล้ว จึงย่อมมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ หาใช่เป็นการยกข้ออ้างหรือข้อเท็จจริงขึ้นใหม่อันจะเป็นการต้องห้ามอุทธรณ์ดังที่โจทก์โต้แย้งมาในคำแก้อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ข้ออื่นเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป สำหรับปัญหาในส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งอุทธรณ์ว่า ดอกเบี้ยก่อนฟ้องที่โจทก์ขอมาตามฟ้องขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า นับถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสี่ยังมีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 91,111.03 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญาจำนอง 5 ปี เป็นเงิน 68,333.25 บาท นั้น ยังไม่อาจแปลความหมายได้ว่าเป็นคำฟ้องที่เรียกดอกเบี้ยในช่วงเวลา 5 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญาจำนอง เพราะเห็นได้จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบบันทึกรายละเอียดหนี้เอกสารหมาย จ.8 ว่า ในวันที่ 13 มีนาคม 2540 ซึ่งมีการชำระเงิน 3,000 บาท แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายนั้น เมื่อหักชำระแล้วคงมีหนี้ค้างชำระต้นเงินซึ่งยังเหลืออยู่จำนวน 91,111.03 บาท ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันดังกล่าวไม่มีค้างชำระ แต่โจทก์คำนวณดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นเวลา 5 ปี ได้จำนวน 68,333.25 บาท ตามคำฟ้อง แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 5 ปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2546 มิใช่นับแต่วันทำสัญญาจำนอง 5 ปี ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) บัญญัติให้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระที่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี นับย้อนหลังตั้งแต่วันฟ้องขึ้นไปจึงเป็นอันขาดอายุความ ดังนั้น ดอกเบี้ยที่โจทก์ประสงค์จะเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2545 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2546 จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ถึง 25 มกราคม 2545 ขาดอายุความแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับดอกเบี้ยก่อนฟ้องที่โจทก์ขอมาเป็นจำนวน 14,153.40 บาท มาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี มาตรา 193/26 เมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานขาด อายุความให้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นขาดอายุความด้วย แม้ว่าอายุความของสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นจะยังไม่ครบ กำหนดก็ตาม มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือ ผู้ทรงบุริมะสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ อันตนได้ยึดถือไว้ยังคงมี สิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไป ไม่ได้ มาตรา 1754 ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
|