ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ผู้มีอำนาจพิเศษในคดีฟ้องขับไล่ในฐานะคู่สมรส

ผู้มีอำนาจพิเศษในคดีฟ้องขับไล่ในฐานะคู่สมรส

แม้ที่ดินจะเป็นสินสมรส แต่ศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ที่ดินยังคงเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งรวมถึงคู่สมรสออกไปจากที่ดินที่ได้ ถือไม่ได้ว่าคู่สมรสเป็นผู้มีอำนาจพิเศษ ที่จะอยู่ในที่ดินต่อไป

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7674/2550

          ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งรวมถึงผู้ร้องออกไปจากที่ดินพิพาทได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป
 
          คดีสืบเนื่องมาจากคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 629/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยในคดีนี้และบริวารออกไปจากที่ดินที่พิพาทในโฉนดเลขที่ 7555 ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 15,000 บาท ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินที่พิพาท คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลย (ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 629/2544) กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท คู่ความมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุด โจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อขับไล่จำเลยและบริวาร

          ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นสามีจำเลย ที่ดินที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินที่พิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอมนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย

          โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยผู้ร้องเป็นเพียงบริวารของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          ผู้ร้องอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          ผู้ร้องฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องเป็นสามีจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินที่พิพาทไว้กับโจทก์โดยผู้ร้องไม่ได้ให้ความยินยอม ต่อมาจำเลยไม่ได้ไถ่ถอนที่ดินที่พิพาทภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากแต่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินที่พิพาท โจทก์จึงยื่นฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่พิพาท ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่พิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ที่ดินที่พิพาทที่จำเลยขายฝากไว้กับโจทก์เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย จำเลยทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้อง นิติกรรมการขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว...” ดังนั้น แม้จะฟังว่าที่ดินที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินที่พิพาทก็ยังคงเป็นของโจทก์อยู่ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารซึ่งรวมถึงผู้ร้องออกไปจากที่ดินที่พิพาทได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ที่จะอยู่ในที่ดินที่พิพาทต่อไป สำหรับที่ผู้ร้องฎีกาในทำนองว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ไต่สวนพยานหลักฐานก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคำร้องแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟังเพื่อวินิจฉัยประเด็นตามคำร้องได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดไต่สวนพยานแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยจึงชอบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 ป.พ.พ.
มาตรา 1480  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
         
 ป.วิ.พ.

มาตรา 296 จัตวา  ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารยังไม่ออกไปตามคำบังคับของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารดังกล่าวนั้น และศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีนี้ ให้นำมาตรา 300 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(2) เมื่อศาลมีคำสั่งให้จับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารตาม(1) แล้ว หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารหลบหนี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา 296 ตรี โดยอนุโลม
(3) ปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
บุคคลที่เข้ามาอยู่อาศัยในทรัพย์นั้นในระหว่างที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครอง ให้ถือว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา




การบังคับคดี

สิทธิในการบังคับคดี ผู้มีส่วนได้เสีย
การนับเวลา 10 ปีในการบังคับคดี
สิทธิที่จะบังคับคดีภายในสิบปี