ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง

ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง

การเป็นสามีภรรยากันถือเอาการที่ชายหญิงเจตนายินยอมเป็นสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสเป็นสำคัญ ดังนั้นแม้ต่างยินยอมจดทะเบียนสมรสแต่ไม่เจตนาหรือไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากัน การสมรสนั้นย่อมเป็นโมฆะ ซึ่งอาจมีการร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ แต่สถานะการสมรสก็ยังมีอยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา หมายความว่าจะนำหลักเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เช่นเรื่อง สินส่วนตัว สินสมรส มาใช้บังคับไม่ได้ กรณีที่ชายและหญิงได้ทรัพย์สินมาภายหลังจากจดทะเบียนสมรส แต่ก็หาทางออกไว้ว่าทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง

เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แม้จะระบุชื่อถือกรรมสิทธิ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว ก็ถือว่าทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และยิ่งกว่านั้น กรณีต่างฝ่ายต่างมีคู่สมรสแต่กลับมาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรสเดิม ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ย่อมเป็นของชายหญิงดังกล่าวร่วมกัน มีสิทธิฟ้องขอแบ่งส่วนของตนได้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  620/2543
 
          ฉ. (ภรรยา) อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. (สามี) โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของ ฉ. กึ่งหนึ่ง

           การที่ ฉ. (ภรรยา) ฝากเงินประจำไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 2 (ธนาคาร) เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.

           ฉ. มีเจตนายกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1(บุตรของสามี) และทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้ว่า ฉ. มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ฉ. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นอันสมบูรณ์สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น

มาตรา 306  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

มาตรา 672  ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น

มาตรา 1357  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน

มาตรา 1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวฉันทนา  โดยคำสั่งศาลชั้นต้น นางสาวฉันทนาเปิดบัญชีเงินฝากประจำชนิดกำหนด 3 เดือน ไว้แก่จำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ โดยได้รับดอกเบี้ยทบต้น หลังจากนั้นนางสาวฉันทนามีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่ายเงินในบัญชีจากเดิมที่ให้นางสาวฉันทนามีสิทธิถอนเงินได้เพียงผู้เดียวเป็นให้นางสาวฉันทนาหรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีได้ต่อมานางสาวฉันทนาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินในบัญชีไปทั้งหมดและปิดบัญชีโดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิ และจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,258,572.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นทุกระยะ3 เดือน อัตราร้อยละ 12 ต่อปี

           จำเลยที่ 1 ให้การว่า เงินในบัญชีเงินฝากประจำนางสาวฉันทนากับนายโชติพัฒนกุล บิดาจำเลยที่ 1 ได้เงินดังกล่าวมาจากการทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา และก่อนถึงแก่ความตาย นางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 563,398.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

          โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

          โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงินในบัญชีฝากประจำตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฉันทนาแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า เงินในบัญชีเงินฝากประจำตามฟ้องเป็นของนายโชติ  บิดาจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง เห็นว่า พยานโจทก์คงมีโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความว่านางสาวฉันทนาเป็นผู้เปิดบัญชีเงินฝากประจำชนิดกำหนด 3 เดือนรวม 3 รายการ ตามฟ้องไว้แก่จำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ นางสาวฉันทนาเป็นโสดไม่ได้เป็นภริยานายโชติ ส่วนจำเลยที่ 1 นอกจากมีจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่านางสาวฉันทนาได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายโชติบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2512 ภายหลังจากนางคิ้น  มารดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายประมาณ 2 ปี และได้ร่วมกันประกอบอาชีพปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินมาจัดแบ่งขายและเป็นนายหน้าขายที่ดินเงินที่ได้มาจะฝากธนาคารในนามนางสาวฉันทนา จำเลยที่ 1 ยังมีนางถนอม  นายวีระพันธ์  นายโชคดี  พี่ชายจำเลยที่ 1 นางเพ็ญศรี  ภริยาจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากนางคิ้นภริยานายโชติถึงแก่ความตาย นายโชติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวฉันทนาตั้งแต่ปี 2512 โดยเฉพาะนางถนอมเป็นบุตรบุญธรรมของนางฮั้ว  พี่สาวนางสาวฉันทนาถือเป็นญาติโจทก์ ไม่มีเหตุที่พยานปากนี้จะเบิกความเข้าข้างจำเลยที่ 1 ทั้งจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ได้ความอีกว่า ระหว่างที่นางสาวฉันทนาอยู่กินกับนายโชติ ในการปล่อยเงินกู้ นายโชติจะลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินโดยมีนางสาวฉันทนาลงชื่อเป็นพยานทุกครั้ง ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.5 และเมื่อนางสาวฉันทนาป่วย นายโชติเป็นผู้พานางสาวฉันทนาไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยระบุผู้ติดต่อได้คือนายโชติเกี่ยวข้องเป็นสามีตามสำเนาประวัติผู้ป่วยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เอกสารหมาย ล.7 เอกสารดังกล่าวมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธรรม ปิ่นเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวรับรองสำเนาถูกต้อง เชื่อว่าข้อความในเอกสารตรงตามความเป็นจริง ส่วนที่โจทก์เบิกความว่านางสาวฉันทนาเคยจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาเมื่อเดือนกันยายน 2538 และให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าตนเป็นโสดไม่เคยทำการสมรสไม่ว่าจะโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายมาก่อนแต่อย่างใด ตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ก็เป็นเพียงข้อความตามตรายางที่เจ้าพนักงานที่ดินประทับและให้นางสาวฉันทนาลงชื่อเท่านั้น หาใช่ข้อความที่นางสาวฉันทนาได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วยตนเองไม่ การที่นางสาวฉันทนายอมลงชื่อเป็นผู้ให้ถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวอาจเป็นเพราะต้องการให้การจดทะเบียนยกที่ดินแก่จำเลยที่ 1 เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วเท่านั้น เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักดียิ่งกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวฉันทนาอยู่กินฉันสามีภริยากับนายโชติโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดินเงินในบัญชีเงินฝากประจำตามฟ้องทั้งสามรายการรวม 1,126,797.64 บาท เป็นทรัพย์สินที่นายโชติและนางสาวฉันทนาทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา นายโชติและนางสาวฉันทนาจึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินจำนวนดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของนายโชติกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 563,398.82 บาทและเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฉันทนากึ่งหนึ่งเป็นเงิน 563,398.82 บาท

           มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า นางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 1 และนางเพ็ญศรี ภริยาจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่านางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกับนายโชติบิดาจำเลยที่ 1 โดยนางสาวฉันทนาจะถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 แต่พนักงานจำเลยที่ 2 แนะนำนางสาวฉันทนาให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้เนื่องจากเงินที่ฝากประจำไว้ยังไม่ครบกำหนด3 เดือน หากถอนเงินออกมาในขณะนั้นและฝากในนามจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ดอกเบี้ยนางสาวฉันทนาจึงขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจและเงื่อนไขการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 โดยให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้เช่นเดียวกับนางสาวฉันทนา และมีนางกิ่งกมล  พนักงานจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความสอดคล้องตรงกันว่านางสาวฉันทนามาติดต่อพยานโดยประสงค์จะยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 แต่พยานเห็นว่าเงินฝากประจำดังกล่าวยังไม่ครบกำหนด 3 เดือน หากถอนเงินดังกล่าวไป จะไม่ได้ดอกเบี้ย จึงแนะนำให้นางสาวฉันทนาขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า นางกิ่งกมลเป็นพนักงานจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนได้เสียกับโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เบิกความไปตามที่ตนรู้เห็นจากการปฏิบัติหน้าที่ คำเบิกความของนางกิ่งกมลจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ การที่นางสาวฉันทนาฝากเงินประจำไว้แก่จำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดแก่นางสาวฉันทนาเท่านั้น หากนางสาวฉันทนาประสงค์จะยกเงินที่ฝากประจำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 อาจทำได้โดยวิธีถอนเงินออกมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 หรือฝากในนามจำเลยที่ 1 หรืออาจยกให้โดยวิธีโอนสิทธิเรียกร้องของนางสาวฉันทนาผู้ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงซึ่งต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 กล่าวคือจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งการเรียกร้อง มิฉะนั้นไม่สมบูรณ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวฉันทนามีเจตนายกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจะถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 แต่นางกิ่งกมลพนักงานจำเลยที่ 2 แนะนำนางสาวฉันทนาให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้เนื่องจากเงินที่ฝากประจำไว้ยังไม่ครบกำหนด 3 เดือน หากมีการถอนเงินในขณะนั้นและฝากในนามจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ดอกเบี้ย นางสาวฉันทนาจึงได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 โดยให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ แม้ตามหนังสือดังกล่าว นางสาวฉันทนาจะยังคงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากก็ตามก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากจำเลยที่ 2 เมื่อครบกำหนดเท่านั้น อันเป็นระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารทั่วไป การที่นางสาวฉันทนามีเจตนายกเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ยตามพฤติการณ์เช่นนี้ พอถือได้โดยปริยายว่านางสาวฉันทนามีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของนางสาวฉันทนาที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลัษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นางสาวฉันทนาได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของนางสาวฉันทนาให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ สิทธิจะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทนนางสาวฉันทนาเท่านั้น เมื่อนางสาวฉันทนาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวฉันทนาโดยคำสั่งศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินฝากประจำดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อนี้ หาใช่เป็นฎีกานอกประเด็นดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น"
          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
 
 หมายเหตุ
          การเป็นสามีภรรยากันตามบทบัญญัติบรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ถือเอาการที่ชายหญิงเจตนายินยอมเป็นสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 และ 1457 เป็นสำคัญ ดังนั้นแม้ต่างยินยอมจดทะเบียนสมรสแต่ไม่เจตนาหรือไม่ยินยอมเป็นสามีภริยากัน การสมรสนั้นย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1458 และ 1495 ซึ่งอาจมีการร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2536) แต่กรณีดังกล่าวสถานะการสมรสก็ยังมีอยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ (มาตรา 1496) เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา (มาตรา 1498 วรรคหนึ่ง) หมายความว่าจะนำหลักเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เช่นเรื่อง สินส่วนตัว สินสมรส ตามมาตรา 1470 ถึง 1474 และต่อ ๆไปมาใช้บังคับไม่ได้ กับกรณีที่ชายและหญิงดังกล่าวได้ทรัพย์สินมาภายหลังจากจดทะเบียนสมรส แต่ก็หาทางออกไว้ว่าทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง(มาตรา 1498 วรรคสอง) หรือในกรณีสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 ก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่าไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง (มาตรา 1499 วรรคสอง) แต่บางเรื่องก็คุ้มครอง ที่เห็นชัดแจ้งคือเรื่องบุตร นอกจากกรณีสมรสซ้อนเท่านั้นว่าบุตรนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีของมารดาเด็กกรณีการสมรสที่เป็นโมฆะ (มาตรา 1536 วรรคสอง) และยังมีเรื่องการตกลงใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ (มาตรา 1499/1) ด้วย แสดงว่าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นยังมีสถานะการสมรสอยู่

           แต่กรณีที่ชายหญิงอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ 5 ใช้บังคับมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2478 แล้ว แม้ว่าชายหญิงจะมีบุตรร่วมกันก็ไม่ทำให้ชายหญิงเป็นสามีภริยาตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายได้ เพราะมิได้จดทะเบียนสมรสตามที่กฎหมายบังคับไว้ (มาตรา 1457) แม้ว่าชายหญิงนั้นจะเจตนาและยินยอมเป็นสามีภริยากันก็ตาม (มาตรา 1458)

           เมื่อชายหญิงที่เจตนาเป็นสามีภริยากัน แต่มิได้สมรสกัน จึงมิใช่สามีภริยากัน ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างการอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจึงไม่ใช่ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไม่อาจนำหลักว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยามาใช้บังคับได้ ในคดีตามหัวข้อหมายเหตุนี้แม้ว่าจะมิใช่ประเด็นหรือปัญหาโดยตรง แต่ศาลฎีกาก็ได้ให้หลักไว้เป็นการยืนยันหลักการเดิมจากคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ในระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันและต้องแบ่งคนละเท่า ๆ กัน แนวคิดของศาลฎีกาก็คงยึดถือหลักเจ้าของร่วมเป็นสำคัญซึ่งนับว่าเป็นธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2491) อย่างไรก็ดีคงต้องพิจารณาด้วยว่าการที่ชายหญิงจะเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินนั้น ก็คงเฉพาะแต่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเท่านั้น ถ้าต่างคนต่างทำมาหากินหรือได้มาโดยทางมรดกแม้ว่าจะอยู่กินร่วมกันตลอดมา ทรัพย์สินในส่วนนี้ย่อมมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหากแต่เป็นของแต่ละฝ่ายไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2492 และ515/2519) เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แม้จะระบุชื่อถือกรรมสิทธิ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว ก็ถือว่าทั้งสองฝ่ายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786-787/2533) และยิ่งกว่านั้น แม้ต่างฝ่ายต่างมีคู่สมรสแต่กลับมาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนหย่าจากคู่สมรสเดิม ดังนี้ ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็ย่อมเป็นของชายหญิงดังกล่าวร่วมกัน มีสิทธิฟ้องขอแบ่งส่วนของตนได้ แต่ความสัมพันธ์ของชายหญิงนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1012(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2533)

           กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อเท็จจริงในส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ หมายเหตุนี้ มีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับชายหญิงที่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสแต่ได้ทำมาหาได้ร่วมกันมา ทรัพย์สินในส่วนนี้ย่อมเป็นของชายหญิงดังกล่าวร่วมกันและตามปกติก็ต้องถือว่ามีส่วนเป็นเจ้าของคนละครึ่ง หากมีเหตุต้องแบ่งกันก็ต้องแบ่งปันกันคนละครึ่ง ตามบรรทัดฐานก่อน ๆ ก็ได้วางแนวไว้เช่นนี้ตลอดมา เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2442/2535 และ 3075/2540
           พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา




การสิ้นสุดแห่งการสมรส

สัญญาระหว่างสมรส | ข้อตกลงห้ามบอกล้าง
จดทะเบียนสมรสแต่ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยา ความสมบูรณ์ของการสมรส
ที่ดินและรถยนต์ภริยากู้ยืมเงินมาซื้อและผ่อนด้วยเงินเดือน
สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีคนใหม่ยังไม่จดทะเบียนหย่า
สิทธิฟ้องหย่าระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี
สิทธิเลือกคู่ครองเมื่อเห็นว่าภริยาไม่เหมาะสมกับตน
สามีไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย
สามีฟ้องหย่าภริยาอ้างเหตุจงใจละทิ้งร้าง
คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากัน
บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า
จดทะเบียนสมรสซ้อน
ฟ้องหย่าเหตุอ้างร้องเรียนผู้บังคับบัญชา
การสมรสที่เป็นโมฆียะ
หมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง | เหตุฟ้องหย่า
ให้อภัยสิทธิฟ้องหย่าหมดไป | จงใจละทิ้งร้าง
ร้องเรียนกล่าวโทษสามีต่อผู้บังคับบัญชา | เป็นปฏิปักษ์
การทิ้งร้างกับการสมัครใจแยกกันอยู่
บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่า | การแสดงเจตนาลวง