ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า

บันทึกท้ายทะเบียนการหย่า ค่าอุปการะเลี้ยงดู

 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1566/2552
 
          คดีเดิมโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูทั้งหมดโดยอาศัยสัญญาตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า อ้างเหตุว่าจำเลยผิดนัดไม่ผ่อนชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ครบถ้วน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบางส่วนเฉพาะงวดหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อหนี้ส่วนที่เหลือถึงกำหนดชำระจำเลยก็ผิดนัดไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาดังกล่าวอีกจึงเกิดมูลหนี้ใหม่ แม้จะโดยสาเหตุจำเลยผิดนัดเหมือนกันกับในคดีเดิม แต่ก็เป็นเพราะจำเลยไม่ผ่อนชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาในยอดหนี้ส่วนที่เหลือ จึงเป็นหนี้คนละจำนวนกัน เมื่อขณะโจทก์ฟ้องคดีเดิมจำเลยยังมิได้ผิดนัดในยอดหนี้คงค้างที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้เพราะเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวและศาลชั้นต้นในคดีเดิมยังมิได้วินิจฉัยประเด็นหรือเนื้อหาแห่งคดีในส่วนยอดหนี้ดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีเดิม การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148
 
          โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อมาจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2542 โดยทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าไว้ส่วนหนึ่งว่า ฝ่ายจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง 300,000 บาท โดยชำระในวันหย่าแล้ว 50,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระให้เป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบ หลังจากนั้นจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนโจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ไป 160,000 บาท แล้ว ยังค้างชำระอยู่อีก 90,000 บาท ศาลยังไม่พิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์เนื่องจากหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,093.75 บาท รวมเป็นเงิน 102,093.75 บาท
          จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ เพราะโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 159/2546 ของศาลชั้นต้นโดยอ้างใบสำคัญการหย่าและบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในคดีนี้เป็นหลักแห่งข้อหา โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยเต็มตามสัญญา ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างสัญญาท้ายทะเบียนการหย่าอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 102,093.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของ ต้นเงิน 90,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กรกฎาคม 2547) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท
          จำเลยอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          จำเลยฎีกา
          ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า แม้ในคดีเดิมคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 159/2546 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูมาทั้งหมดโดยอาศัยสัญญาตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่า ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 อ้างเหตุว่าจำเลยผิดนัดสัญญาไม่ผ่อนชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ครบถ้วนครบตามข้อตกลงในสัญญา แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบางส่วนเฉพาะงวดหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อหนี้ส่วนที่เหลือถึงกำหนดชำระจำเลยก็ผิดนัดไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาดังกล่าวอีกจึงเกิดมูลหนี้ใหม่แม้จะโดยสาเหตุจำเลยผิดนัดเหมือนกันกับในคดีเดิม ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยอาศัยสัญญาตามบันทึกท้ายทะเบียนหย่าและอ้างเหตุจำเลยผิดนัดผิดสัญญาเช่นเดิม แต่ก็เป็นเพราะจำเลยไม่ผ่อนชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาในยอดหนี้ส่วนที่เหลือ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ายอดหนี้ในคดีเดิมและคดีนี้เป็นหนี้คนละจำนวนกัน เมื่อขณะโจทก์ฟ้องคดีเดิมจำเลยยังมิได้ผิดนัดผิดสัญญาในยอดหนี้คงค้างที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้เพราะเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว และศาลชั้นต้นในคดีเดิมยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นหรือเนื้อหาแห่งคดีในส่วนยอดหนี้ดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับในคดีเดิม การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
 
 หมายเหตุ
          บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่าจำเลยยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง 300,000 บาท ชำระในวันหย่า 50,000 บาท คงเหลือ 250,000 บาท ผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบ จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกเลย โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแต่ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ 160,000 บาท ยังค้างชำระอยู่อีก 90,000 บาท ศาลไม่พิพากษาให้ เนื่องจากหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ภายหลังจากหนี้ส่วนที่เหลือถึงกำหนด จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้ชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์
           ปัญหาว่าเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือไม่ นั้น แม้ทั้งสองคดีจะมีประเด็นอย่างเดียวกันว่าจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์หรือไม่ก็ตาม แต่คดีก่อนศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจำนวน 90,000 บาท โดยเห็นว่ายังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งอาจเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องก็ได้ เนื่องจากการฟ้องคดีก่อนเป็นการฟ้องบังคับตามข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ทั้งจำนวน แม้จะมีการตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ เมื่อมีการผิดนัดงวดใด ถือว่าผิดนัดทั้งหมด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องทั้งจำนวน แต่การที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกคำขอในส่วนของเงิน 90,000 บาท ก็ไม่อาจถือได้ว่าส่วนของเงิน 90,000 บาท ศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีไว้ในคดีก่อนแล้ว ทั้งเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังจากหนี้จำนวนนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องในคดีหลังย่อมไม่มี ดังนั้นการฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148
         
            ไพโรจน์ วายุภาพ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ป.วิ.พ.) มาตรา 148
มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้ คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัย เหตุอย่างเดียวกันเว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งของศาล
(2) เมื่อคำพิพากษา หรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
(3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิ โจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ




การสิ้นสุดแห่งการสมรส

สัญญาระหว่างสมรส | ข้อตกลงห้ามบอกล้าง
จดทะเบียนสมรสแต่ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยา ความสมบูรณ์ของการสมรส
ที่ดินและรถยนต์ภริยากู้ยืมเงินมาซื้อและผ่อนด้วยเงินเดือน
สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีคนใหม่ยังไม่จดทะเบียนหย่า
สิทธิฟ้องหย่าระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี
สิทธิเลือกคู่ครองเมื่อเห็นว่าภริยาไม่เหมาะสมกับตน
ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง
สามีไม่ค่อยอยู่บ้านก็มิใช่เป็นการประพฤติเสื่อมเสีย
สามีฟ้องหย่าภริยาอ้างเหตุจงใจละทิ้งร้าง
คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากัน
จดทะเบียนสมรสซ้อน
ฟ้องหย่าเหตุอ้างร้องเรียนผู้บังคับบัญชา
การสมรสที่เป็นโมฆียะ
หมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง | เหตุฟ้องหย่า
ให้อภัยสิทธิฟ้องหย่าหมดไป | จงใจละทิ้งร้าง
ร้องเรียนกล่าวโทษสามีต่อผู้บังคับบัญชา | เป็นปฏิปักษ์
การทิ้งร้างกับการสมัครใจแยกกันอยู่
บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่า | การแสดงเจตนาลวง