คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากัน คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากัน เมื่อคู่สมรสตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่ในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าสามียกที่ดิน 1 แปลงให้ภริยา บันทึกครั้งหลังมิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันหรือสัญญาระหว่างสมรส ซึ่งคู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่สามีในฐานะจำเลยในคดียื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว สามีจึงมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2497/2552 เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนสมรสว่า ไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน แม้ภายหลังในวันเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะมาขอบันทึกเพิ่มเติ่มว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงจะยกให้โจทก์ บันทึกครั้งหลังนี้ก็มิใช่สัญญาก่อนสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466 แต่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาทำไว้ต่อกันตามมาตรา 1469 ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกล้างได้ในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการสุจริต การที่จำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งขอเลิกสัญญาถือเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะยังเป็นสามีภริยากันอยู่แล้ว จำเลยมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้ มาตรา 1466 สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสและได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้ มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย และให้โจทก์ไปจดทะเบียนเพิกถอนสัญญาให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเป็นของจำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันพิพากษา หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ยกฟ้องแย้งจำเลยในส่วนขอเรียกทรัพย์คืน จำเลยอุทธรณ์ โจทก์ฎีกา คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธิเรียกคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 1030 ตำบลนิคมคำสร้อย อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์หรือไม่ โจทก์อ้างว่า เดิมจำเลยตกลงจะยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้เป็นค่าสินสอดในการมาสู่ขอแต่งงานกับโจทก์แต่ก็ไม่ยกให้ ต่อมาจำเลยตกลงยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ให้โจทก์อีกก่อนจดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะปรับปรุงตัวเกี่ยวกับความประพฤติของจำเลยจึงได้ทำบันทึกว่าจำเลยยอมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ในวันจดทะเบียนเป็นสัญญาก่อนสมรสซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างโจทก์จำเลยก็น่าจะแจ้งให้นายทะเบียนทำบันทึกข้อความยกทรัพย์สินดังกล่าวให้กันแต่แรกที่มีการจดทะเบียน แต่ตามบันทึกครั้งแรกในทะเบียนสมรสแผ่นที่ 1 กลับมีข้อความระบุว่า เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก แสดงว่าขณะจดทะเบียนสมรสโจทก์ไม่ได้ขอให้บันทึกเรื่องที่อ้างว่าจำเลยตกลงยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้นางวัชราภรณ์หัวหน้างานทะเบียนทั่วไป ที่ว่าการอำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งเป็นผู้จัดทำบันทึกและลงลายมือชื่อในฐานะนายทะเบียนผู้จดทะเบียนสมรสดังกล่าวเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าบันทึกท้ายทะเบียนสมรสครั้งแรกและบันทึกเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ตามทะเบียนสมรสแผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 ไม่ได้ทำในเวลาเดียวกัน การจดทะเบียนสมรสเป็นอันสมบูรณ์ตั้งแต่มีการทำบันทึกครั้งแรกเสร็จเรียบร้อย โจทก์เบิกความว่า หลังจากทำบันทึกแผ่นแรกเสร็จแล้วต่อมาอีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงทำบันทึกเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ว่าจำเลยยินยอมยกที่ดิน 1 แปลง ให้โจทก์ตามทะเบียนสมรสแผ่นที่ 2 ซึ่งมิได้ระบุถึงเรื่องบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด จนต่อมาหลังจากจดทะเบียนสมรสกันแล้วประมาณ 1 เดือน จำเลยจึงจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินและโฉนดที่ดิน กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยตกลงยกที่ดินให้โจทก์ก่อนจดทะเบียนสมรส เนื่องจากโจทก์จำเลยเพิ่งมาแจ้งให้บันทึกเพิ่มเติมไว้ในภายหลังตามทะเบียนสมรสแผ่นที่ 2 การที่มาแจ้งว่ามีการตกลงกันภายหลังจากจดทะเบียนสมรสโดยให้บันทึกเพิ่มเติมว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลงยินยอมยกให้โจทก์เช่นนี้จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการตกลงกันไว้แล้วก่อนจดทะเบียนสมรส แต่การสมรสระหว่างโจทก์จำเลยเสร็จสมบูรณ์เมื่อจัดทำทะเบียนสมรสแผ่นที่ 1 แล้วเสร็จโดยไม่มีการจดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส เพราะโจทก์จำเลยแจ้งในขณะจดทะเบียนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินว่าทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก ดังนั้น เมื่อมีการตกลงกันหลังจากนั้นว่าจำเลยตกลงจะยกที่ดินให้โจทก์แล้วโจทก์จำเลยมาแจ้งนายทะเบียนให้ทำบันทึกเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง ยินยอมยกให้โจทก์ตามทะเบียนสมรสแผ่นที่ 2 จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส บันทึกเพิ่มเติมดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาก่อนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 ข้อที่โจทก์อ้างว่า ในวันจดทะเบียนสมรสจำเลยไปติดต่อนายทะเบียนจัดเตรียมการยื่นเอกสารและให้ปากคำเพื่อขอจดทะเบียนสมรสเองโดยลำพังฝ่ายเดียวแล้วไปรับโจทก์ซึ่งกำลังสอบอยู่ที่โรงเรียนโปลีเทคนิคอำนาจเจริญพาไปที่สำนักทะเบียนอำนาจเจริญ โจทก์ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรสโดยยังไม่ทันได้อ่านข้อความในเอกสารดังกล่าว ก็ปรากฏตามทะเบียนสมรสแผ่นที่ 1 นั้นเองว่า โจทก์เคยจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่ามาก่อนแล้ว โจทก์ย่อมมีประสบการณ์และทราบถึงเรื่องการจดแจ้งข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของคู่สมรสไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสเป็นอย่างดีข้ออ้างของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อ บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ตามทะเบียนสมรสแผ่นที่ 2 จึงเป็นเพียงสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้งบอกเลิกข้อตกลงเข้ามาแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ สัญญาจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป จำเลยมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” |