สิทธิเลือกคู่ครองเมื่อเห็นว่าภริยาไม่เหมาะสมกับตน สิทธิเลือกคู่ครองเมื่อเห็นว่าภริยาไม่เหมาะสมกับตน สามีฟ้องหย่าอ้างว่าตนมีสิทธิที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้เมื่อตนเห็นว่าภริยาไม่เหมาะสมกับตน ๆ ก็มีสิทธิเลิกร้างกับภริยาได้และสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาเห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่าบุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าการเลือกคู่ครองจะเป็นสิทธิของสามีก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน การอ้างเหตุหย่าต้องมีเหตุตามที่กฎหมายรับรอง ไม่ใช่ไม่พอใจก็ฟ้องหย่าโดยอ้างว่าเป็นสิทธิในการเลือกคู่ครองตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 28 กำหนดว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ฉะนั้น แม้ว่าการเลือกคู่ครองเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกคู่ครองของตนเองได้ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธินั้นได้ การที่โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาภายหลังโจทก์ไม่พอใจต้องการแยกทางกับจำเลยจึงฟ้องหย่า โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่โจทก์จะเลือกคู่ครองได้ตามแต่ความพอใจของตนนั้นคงไม่ถูกต้อง เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็นภริยาและบุตร หากโจทก์ประสงค์จะหย่าขาดจากจำเลยต้องมีเหตุที่อ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 มิฉะนั้น สถาบันครอบครัวในสังคมจะเกิดการเอารัดเอาเปรียบและมีแต่ความสับสนวุ่นวาย โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 2 คน ต่อมาโจทก์ไม่อาจทนอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยกับโจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้จำเลยส่งมอบอาวุธปืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ชดใช้ราคาจำนวน 30,000 บาท แทน ให้จำเลยส่งมอบใบอนุญาตใช้อาวุธปืนรวม 2 ฉบับ หากไม่สามารถส่งมอบได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกไป ป.4 ทั้งสองใบ เพื่อที่โจทก์จะดำเนินการขอใบอนุญาตใบ ป.4 ต่อทางราชการใหม่แทน จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ โจทก์ฎีกา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ศาลฎีกายกขึ้นมาวินิจฉัยคือ มาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" นัยของข้อวินิจฉัยนี้คือ ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มิใช่เพราะสิทธิและเสรีภาพที่โจทก์อ้างไม่มีอยู่จริงแต่เพราะวิธีใช้สิทธิและเสรีภาพของโจทก์ไม่ต้องด้วยมาตรา 28 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ การขอหย่าโดยปราศจากเหตุหย่าตามกฎหมายของโจทก์มีผลกระทบกระเทือนต่อจำเลยซึ่งเป็นภริยาและบุตร และกระทบกระเทือนต่อสถาบันครอบครัว ซึ่งคงจะหมายความว่าข้ออ้างของโจทก์ "ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น" นั่นเอง สิทธิและเสรีภาพตามที่ศาลฎีกายกขึ้นมานี้ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติอยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่จำกัดการใช้อำนาจรัฐ สิทธิและเสรีภาพทุกอย่างในหมวดนี้เรียกในทางวิชาการว่า "สิทธิขั้นพื้นฐาน" (fundamental right) คือ เป็นสิทธิที่แยกออกไม่ได้จากความเป็นมนุษย์ของบุคคลนอกจากจะถือว่ามนุษย์มีสิทธิเหล่านี้อยู่ก่อนที่สังคมจะก่อตั้งเป็นรัฐแล้ว สิทธิเหล่านี้ยังแสดงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอีกด้วยในฐานะที่สิทธิเหล่านี้เกี่ยวโยงกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีมาก่อนรัฐ สิทธิเหล่านี้จึงอยู่เหนือผลประโยชน์ของสังคมรัฐจะยกเอาผลประโยชน์ของสังคมขึ้นอ้างเพื่อบั่นทอนสิทธิเหล่านี้ไม่ได้เพราะถ้ายอมให้รัฐบั่นทอนสิทธิเหล่านี้ ก็เท่ากับยอมให้รัฐย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดหน้าที่ของรัฐเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเหล่านี้คือ มาตรา 26 ซึ่งบัญญัติว่า "การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐานคือ เป็นสิทธิที่มีความผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับฝ่ายตุลาการ คำกล่าวที่ว่า ศาลเป็นองค์กรถ่วงดุลแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายตุลาการในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเหล่านี้ โดยถือว่า ในฐานะที่สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิของปัจเจกชนที่รัฐล่วงละเมิดมิได้ ในการคุ้มครองสิทธิเหล่านี้จากการก้าวล่วงของฝ่ายการเมืองซึ่งใช้อำนาจรัฐ จำเป็นต้องมีสถาบันที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองมาทำหน้าที่คานอำนาจของฝ่ายการเมืองเพื่อมิให้ฝ่ายการเมืองก้าวล้ำเข้ามาในขอบเขตของปัจเจกชน ในขณะเดียวกันการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ก็เป็นฐานรากของ "ความชอบธรรมทางตุลาการ" เช่นเดียวกับการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะเป็นฐานรากของความชอบธรรมทางการเมือง ในฐานะที่สิทธิขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิที่ปัจเจกชนมีต่อรัฐ เงื่อนไขประการแรกที่จะอ้างสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 คือ ต้องมีองค์กรของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีการกระทำที่เรียกว่าเป็น "การกระทำของรัฐ" (state action) การกระทำของปัจเจกชนต่อปัจเจกชนด้วยกัน ที่มีผลเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ห้ามมิให้นายจ้างเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง เป็นต้น การกระทำของปัจเจกชนต่อปัจเจกชนด้วยกันดังกล่าว หากไม่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติห้าม แม้จะเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็อยู่นอกความหมายของสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ สำหรับกรณีตามคำพิพากษาฎีกานี้ การอ้างสิทธิและเสรีภาพในหมวด 3 ของโจทก์เป็นการอ้างสิทธิและเสรีภาพที่มีต่อจำเลยเป็นปัจเจกชน โดยไม่มีการอ้างถึงการกระทำของรัฐหรือองค์กรของรัฐ จึงเป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะ มิใช่เป็นการอ้างสิทธิขั้นพื้นฐาน การอ้างของโจทก์อย่างนี้อยู่นอกขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพดังที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อข้อวินิจฉัยของศาลฎีกา ผู้บันทึกเห็นว่า การวินิจฉัยของศาลฎีกาที่วินิจฉัยไปตามข้ออ้างของโจทก์ว่า วิธีใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะหย่าขาดจากภริยาของโจทก์ไม่ชอบด้วยมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า สิทธิและเสรีภาพที่โจทก์อ้างอาจมีอยู่จริง เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ลงรอยกับแนวคิดทางวิชาการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่แม้กระนั้นผู้บันทึกก็ยังพอใจวิธีวินิจฉัยของศาลฎีกาที่วินิจฉัยโดยพิจารณาข้อเท็จจริงทางสังคมประกอบ ซึ่งการวินิจฉัยวิธีนี้จะนำไปสู่การพัฒนานิติศาตร์ของเราต่อไป
|