ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




แจ้งความว่าหญิงคู่หมั้นหลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียน

แจ้งความว่าหญิงคู่หมั้นหลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียน

แจ้งความว่าหญิงคู่หมั้นหลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย แทนที่ชายคู่หมั้นจะพยายามทำความเข้าใจกับหญิงคู่หมั้น ให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพที่ต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัดแต่ชายคู่หมั้นกลับไปแจ้งความว่าหญิงคู่หมั้น หลอกลวงโดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งที่เวลาสู่ขอไม่มีการตกลงกัน การที่หญิงคู่หมั้น ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับชายคู่หมั้นโดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกัน จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้ชายคู่หมั้นไม่สมควรสมรสกับหญิงคู่หมั้น เพราะต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่าการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1366/2552
 
  การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกันทั้งๆ ที่โจทก์กับจำเลยได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมายและโจทก์กับจำเลยก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง ทั้งโจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น เพราะต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัด แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยทั้งที่เวลาสู่ขอกันไม่มีการตกลงเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลย เพราะตามพฤติการณ์แสดงว่าต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงไม่อาจกล่าวโทษได้ว่า การที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยได้
 
มาตรา 1437  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึง
มาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
มาตรา 1438  การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
 
มาตรา 1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
 
มาตรา 1442  ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันนำสร้อยคอทองคำ 2 เส้น น้ำหนักเส้นละ 4 บาท สร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 2 บาท และแหวนทองคำ 2 วง น้ำหนัก 2 สลึง คืนให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 100,000 บาท และคืนสินสอดเป็นเงินจำนวน 239,800 บาท กับชำระค่าเสียหายในการเตรียมการสมรสจำนวน 24,900 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 364,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
          จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเกินกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การ และมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 คืนสร้อยคอทองคำ 2 เส้นน้ำหนักเส้นละ 4 บาท และสร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 2 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 92,000 บาท และเงินจำนวน 139,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 231,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท คำขอเรื่องค่าทดแทนให้ยก

          จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน มีบ้านอยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร เมื่อปลายปี 2545 จำเลยที่ 1 ไปเที่ยวงานปีใหม่ที่บ้านโจทก์หลังจากนั้นได้ติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์และเกิดชอบพอกัน โจทก์จึงให้มารดาของโจทก์ไปสู่ขอจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 โดยตกลงให้สินสอดแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท และให้ของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำ 2 เส้น น้ำหนักเส้นละ 4 บาท และสร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น น้ำหนัก 2 บาท แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ยังให้เงินอีกจำนวน 130,800 บาท เพื่อชำระหนี้แก่บุคคลอื่นแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2546 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำพิธีสู่ขอและหมั้นกัน โดยจัดพิธีแต่งงานในวันเดียวกันที่บ้านจำเลยที่ 2 โดยจัดเลี้ยงแขกที่มาในงานด้วยโต๊ะจีนจำนวน 100 โต๊ะ ภายหลังแต่งงานโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้อยู่กินฉันสามีภริยาที่บ้านจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 วัน แต่คืนแรกมีเพื่อนของน้องชายจำเลยที่ 1 นอนอยู่ในห้องด้วย โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศและเพิ่งมีสัมพันธ์ทางเพศกันในคืนที่สอง หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ไปพักอาศัยอยู่ที่ห้องเช่าของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างอยูที่บริษัทมินิแบร์ จำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเพศสัมพันธ์กันในคืนนั้น แต่วันต่อมาน้องชายจำเลยที่ 1 กับเพื่อนไปร่วมพักอยู่ด้วย โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์ได้พักอยู่ที่ห้องเช่าของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 4 วัน จึงเดินทางกลับไปทำงานที่จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาโจทก์โทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้พูดคุยกันเหมือนเดิม และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ไปหาโจทก์ โจทก์ได้ไปหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าจะไปทำงานต่างประเทศ ครั้นเดือนพฤษภาคม 2546 โจทก์ไปหาจำเลยที่ 1 ที่ห้องเช่า ไม่พบจำเลยที่ 1 โจทก์จึงกลับบ้านที่จังหวัดชัยนาทและไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาหมั้นกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมาย และโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งโจทก์เองก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ขณะสู่ขอไม่มีการตกลงเรื่องจดทะเบียนสมรส และไม่ได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้วางแผนดำเนินชีวิตคู่กันแต่อย่างใด เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างทำงานอยู่คนละจังหวัด การใช้ชีวิตคู่ต่างจะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปหากัน หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงจริง จำเลยที่ 1 ก็น่าจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ ทั้งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้วางแผนการครองชีวิตคู่ไว้แต่แรกทำให้การอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยที่ 1 ให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพที่ต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัดแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งที่เวลาสู่ขอไม่มีการตกลงเช่นนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกัน จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลยที่ 1 เพราะต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่าการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกร้องสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยทั้งสองได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
          พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

 




การหมั้นสินสอดของหมั้น