ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ผิดสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้อง

ผิดสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้อง

การโอนสิทธิเรียกร้อง คือ การที่เจ้าหนี้ตกลงยินยอมโอนสิทธิที่เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง มีผลให้บุคคลผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนเจ้าหนี้เดิมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้เช่นเจ้าหนี้เดิม คดีนี้เจ้าหนี้คนเดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องให้เจ้าหนี้คนใหม่ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้คนเดิมผิดสัญญาโดยการไปรับเงินจากลูกหนี้แต่ก็นำไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้คนใหม่ และเจ้าหนี้คนใหม่ก็ยอมรับชำระหนี้นั้นถือได้ว่าเจ้าหนี้คนใหม่ให้สัตยาบันแก่การนั้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3328/2554
 
 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 3 แล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปรับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้และไม่ดำเนินการใด ๆ เช่น แจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงินสำหรับงวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์นับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนครบถ้วนแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อีกได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง

มาตรา 306  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้ ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

มาตรา 315  อันการชำระหนี้นั้น ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

มาตรา 821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดีรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
 
          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 6,170,000.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีของต้นเงิน 5,067,680 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
          จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 6,170,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 5,067,680 บาทนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 5,067,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

          จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

          จำเลยที่ 3 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง และจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้กล่าว เช่นนี้จำเลยที่ 3 ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ตามคำร้องเพื่อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตในประเทศ แต่อย่างใด เพราะคู่สัญญาคือจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นฝ่ายมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตได้ จำเลยที่ 3 คงรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้าง และ จ. 18 ที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์เท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แทนที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบแล้ว จึงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ได้อีกหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 บัญญัติว่า “อันการชำระหนี้นั้นต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้นถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 3 จะต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ใช่ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปขอรับเงินค่าจ้างงวดแรก จำนวน 1,260,000 บาท ซึ่งมีการจ่ายเป็นเช็ค (จำนวนเงินตามเช็คคือ 1,248,224.30 บาท) แล้วจำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคารโจทก์และชำระหนี้ให้แก่โจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ที่ระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินงวดหนึ่งงวดใดหรือทั้งหมด จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบทันที เพื่อโจทก์จะได้เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 3 ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งได้ตกลงโอน แต่กรณีจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาดังกล่าวโดยไปขอรับเงินค่างวดเอง แทนที่จะแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินด้วยตนเองตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กลับไม่ดำเนินการใด ๆ เช่นแจ้งจำเลยที่ 3 ขอให้ระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรงสำหรับเงินค่างวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 เข้าใจได้ว่าสามารถที่จะจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปครบถ้วนทั้งสองสัญญาแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกเอาจากจำเลยที่ 3 ได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงิน 5,067,680 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้ออื่นอีกต่อไป

        พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 




การโอนสิทธิเรียกร้อง

สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง
การบังคับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอน
เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้อง
การอายัดสิทธิเรียกร้องที่โอนให้โจทก์