

เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้อง เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้อง เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่ผู้รับโอนแล้วโดยผู้รับโอนมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ย่อมสมบูรณ์ และหากการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่มีการยกเลิกกันโดยชอบ สิทธิของผู้โอนที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นย่อมตกเป็นของผู้รับโอน โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้อีก การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ลูกหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2550 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 โดยจำเลยตกลงชำระเงินจำนวน 1,105,846 บาท แก่โจทก์ ผ่อนชำระเดือนละ 184,307 บาท รวม 6 งวด งวดแรกชำระวันที่ 10 มกราคม 2544 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 10 ของเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่ค้างชำระ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลได้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยตามคำขอของโจทก์ และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องส่งเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ 15446/2542 (ที่ถูก 15466/2542) ของศาลชั้นต้นที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 จำเลยคดีนี้ได้โอนสิทธิเรียกร้องในคดีดังกล่าวให้แก่บริษัท ที.เอ็ม.เอส.อินเตอร์เทรด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด แล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขดำที่ 8350/2543 หมายเลขแดงที่ 5221/2544 ของศาลชั้นต้น บริษัทดังกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องมายังผู้ร้องแล้วเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2544 โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ ขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์ด้วย โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ขณะที่โจทก์ขออายัดสิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีอยู่กับผู้ร้องนั้น ผู้ร้องผิดสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม จำเลยจึงไม่มีสิทธินำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปโอนให้แก่เจ้าหนี้อื่น การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์บังคับคดีถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นเพียงผู้ถูกบังคับชำระหนี้ตามสิทธิที่มีอยู่ ผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหายในการบังคับคดี จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดได้ เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพื่อประวิงการบังคับคดี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งไปยังผู้ร้องตามหนังสือแจ้งการอายัด ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินจากผู้ร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ 15466/2542 ของศาลชั้นต้นให้แก่บริษัท ที.เอ็ม.เอส.อินเตอร์เทรด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่งและหากการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่มีการยกเลิกกันโดยชอบ สิทธิของจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้นย่อมตกเป็นของบริษัท ที.เอ็ม.เอส.อินเตอร์เทรด แอนด์ เซอร์วิส จำกัด จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะรับเงินตามคำพิพากษาในคดีนั้นจากผู้ร้อง เมื่อจำเลยสิ้นสิทธิที่จะได้รับเงินตามคำพิพากษาในคดีนั้นจากผู้ร้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้น มาตรา 306 การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดย เฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ |
![]() ![]() ![]() ![]() |