ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




วางเพลิงเผาทรัพย์ที่ตนเองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วม

วางเพลิงเผาทรัพย์ที่ตนเองมีส่วนเป็นเจ้าของร่วม

ขอปรึกษากฎหมายว่า การที่สามีวางเพลิงเผาทรัพย์อันเป็นบ้านที่เป็นสินสมรส จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างไร?
คำตอบในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาพิพากษาไว้ว่า การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่ตนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217 และ 218 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3643/2526 

ประมวลกฎหมายอาญา การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 217 และ 218 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อบ้านที่ถูกเพลิงไม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วม แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา 217 และ 218

          โจทก์ฟ้องว่า จำเลยวางเพลิงเผาบ้านของนายรุ่ง อันเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย เป็นเหตุไฟไหม้บ้านและทรัพย์สินที่เก็บไว้ในบ้านทั้งหมดขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218
          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ว่า นายรุ่ง ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบ้านเลขที่ 15/1 ที่ถูกเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยกับผู้เสียหายและบุตรอีก 2 จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของบ้านดังกล่าวร่วมกับผู้เสียหายด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 218 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุฉกรรจ์ของมาตรา 217โดยบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต่อทรัพย์ที่ระบุไว้ใน มาตรา 218(1) ถึง (6) ต้องได้รับโทษหนักขึ้น ฉะนั้น การกระทำอันใดที่ไม่เป็นผิดตาม มาตรา 217 แล้ว แม้จะกระทำต่อทรัพย์ที่ระบุในมาตรา 218 ก็ดี ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดเช่นเดียวกัน การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 217 จะต้องเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านที่ถูกเพลิงไหม้เป็นบ้านที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับนายรุ่งผู้เสียหาย แม้จะฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้วางเพลิง จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม มาตรา 218 เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2บัญญัติว่าบุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ดังนั้นเมื่อ มาตรา 217 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเป็นความผิด ไม่มีข้อความว่า "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" ก็เป็นความผิดแล้วจะตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยย่อมไม่ได้ เพราะการตีความบทกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องตีความโดยเคร่งครัดจะขยายความออกไปถึงกรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ในตัวบทโดยชัดแจ้ง เพื่อให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหรือผู้ต้องหาไม่ได้ เพราะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยความผิดของบุคคลในทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ดังกล่าวแล้ว


          พิพากษายืน

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

มาตรา 218 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
(2) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
(3) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
(4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
(5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานหรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
(6) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ

ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี 

 




การใช้กฎหมายอาญา

ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า
มีเหตุบรรเทาโทษ