
การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายพ.ศ. 2529 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (3) มาตรา 81 และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 คณะกรรมการสภาทนายความออกข้อบังคับว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า `ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย' ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนที่ 1 กองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ข้อ 3 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาจัดทำงบประมาณรายจ่ายเสนอต่อคณะกรรมการสภาทนายความก่อนสิ้นปีงบประมาณของทุกปี เพื่อการจัดสรรเงินรายได้ของสภาทนายความตามมาตรา 9 (1) แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 เป็นกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ข้อ 4 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเก็บรักษาเงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทรัพย์สิน ที่มีผู้บริจาคให้ และดอกผลต่าง ๆ ไว้ โดยจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ข้อ 5 ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย จำนวน 2 ใน 4 คน มีอำนาจร่วมกันสั่งจ่ายเงินกองทุน การจ่ายเงินกองทุนทุกครั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายกำหนด จะต้องมีหลักฐานการอนุมัติใบสำคัญจ่าย และจัดทำบัญชีรายจ่ายไว้ให้ถูกต้องเพื่อให้ผู้สอบบัญชีสภาทนายความตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้นำข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการเบิกจ่ายเงิน พ.ศ. 2529 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ข้อ 6 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายจัดทำงบดุลและรายรับรายจ่ายของการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีคำรับรองของผู้สอบบัญชีสภาทนายความ และจัดทำรายงานผลงานและอุปสรรคข้อขัดข้องของการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในรอบปีที่ผ่านมาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปเพื่อแจ้งให้คณะกรรมการสภาทนายความและที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสภาทนายความทราบเป็นประจำทุกปี ข้อ 7 ให้คณะกรรมการการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เป็นไปโดยถูกต้องตามข้องบังคับนี้ ส่วนที่ 2 การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ข้อ 8 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายตั้งสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายทั่วราชอาณาจักร โดยจัดให้มีทนายความและเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานโดยให้ได้รับค่าตอบแทนตามที่เห็นสมควร ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำกิจการหรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ข้อ 9 ให้สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย มีหน้าที่จัดทำและบริหารโครงการที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่วนภูมิภาค จัดทำงบดุลและรายรับรายจ่ายของการช่วยเหลือประชาชานทางกฎหมาย ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในเขตกรุงเทพมหานครด้วย ทั้งนี้ ให้อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ตอนที่ 2 คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่วนภูมิภาค ข้อ 10 ให้คณะอนุกรรมการสภาทนายความประจำจังหวัดและประจำศาลจังหวัดทุกแห่งจัดตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายขึ้นในเขตของตน ประกอบด้วยทนายความไม่น้อยกว่า3 คน เป็นคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในเขตจังหวัดหรือเขตศาลจังหวัดนั้น ๆ คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัดและประจำศาลจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของคณะอนุกรรมการสภาทนายความประจำจังหวัดและประจำศาลตามแต่กรณี ข้อ 11 ให้กรรมการสภาทนายความที่มีสำนักงานประจำอยู่ตามภาคต่าง ๆ ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาคทั้ง 9 ภาค มีอำนาจให้คำปรึกษา แนะนำ และดูแลให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัดและประจำศาลจังหวัด ดำเนินการเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ ข้อ 12 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัดและประจำศาลจังหวัดจัดทำโครงการและงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำปีเสนอผ่านกรรมการสภาทนายความที่มีสำนักงานประจำอยู่ตามภาคนั้น ๆ ก่อนสิ้นปีงบประมาณทุกปี เพื่อส่งให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่วนกลางพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ต่อไป ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่วนกลางจัดสรรเงินกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้แก่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัดและประจำศาลจังหวัดเพื่อให้ใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เหมาะสม และสอดคล้องกับปริมาณและสภาพปัญหา ข้อ 13 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประจำจังหวัดและประจำศาลจังหวัดทุกแห่งจัดทำงบดุลและบัญชีรายรับรายจ่ายตลอดจนสถิติคดีที่ได้ดำเนินการไปแล้วในรอบปีที่ผ่านมาเสนอต่อกรรมการสภาทนายความที่มีสำนักงานอยู่ในภาคนั้น ๆ เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายส่วนกลางภายในเดือนมกราคมของปีถัดไปเป็นประจำทุกปี ตอนที่ 3 วิธีดำเนินการ ข้อ 14 ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจัดให้มีทนายความอาสาสมัคร เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายตามที่ได้รับการร้องขอหรือตามที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมอบหมาย ค่าตอบแทนสำหรับทนายความที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายกำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทน ข้อ 15 ประชาชนผู้ประสงค์จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความ จะต้องมาติดต่อด้วยตนเองหรือยื่นคำร้องเป็นหนังสือแสดงความจำนงที่จะให้สภาทนายความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายกำหนด กรณีที่ผู้ประสงค์จะขอความช่วยเหลือไม่สามารถจะมาติดต่อด้วยตนเองได้ เช่น เจ็บป่วย หรือถูกคุมขัง ให้บิดา มารดา ภรรยา บุตร หรือญาติพี่น้อย มาติดต่อแทนเพื่อสามารถสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ ข้อ 16 ประชาชนผู้ได้รับความช่วยเหลือไม่ต้องเสียค่าทนายความหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้แก่ทนายความผู้ดำเนินการทั้งสิ้น ข้อ 17 คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายจะจัดให้มีทนายความอาสาสมัครไปประจำอยู่ตามสถานีตำรวจต่าง ๆ เพื่อให้คำปรึกษาหรือแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายแก่ประชาชนที่มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยก็ได้ โดยให้ทนายความอาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมายกำหนด ข้อ 18 คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะดำเนินการให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายเบื้องต้นและกฎหมายอื่น ๆ เท่าที่เห็นเป็นการสมควรได้ ส่วนที่ 3 การประชุมของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ข้อ ให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายประชุมกันอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งในการประชุมจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น ข้อ 20 ให้เลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการจัดทำบันทึกรายงานการประชุมและเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2529 คำนวณ ชโลปถัมภ์ |