ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

                                                                                                 ข้อบังคับสภาทนายความ
                                             ว่าด้วยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์  พ.ศ. 2550                      
 
โดยที่เห็นเป็นการสมควรให้มีข้อบังคับว่าด้วยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2550
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 นายกสภาทนายความ โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ จึงออกข้อบังคับดังต่อไปนี้

ข้อ 1  ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2550”

ข้อ 2  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3  ให้นายกสภาทนายความเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้

ข้อ 4  ให้ยกเลิกข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่ทนายความผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน พ.ศ. 2543 และข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่ทนายความผู้กระทำความดีความชอบ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

ข้อ 5  ในข้อบังคับนี้

“พระราชกฤษฎีกา” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2538

“เครื่องราชอิสริยาภรณ์” หมายความว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2538

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานสภาทนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530

“บุคคล” หมายความว่า บุคคลที่ประกอบคุณงามความดี มีผลงานดีเด่นในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย การศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านกฎหมาย หรือการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของมวลหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน

ข้อ 6  สมาชิกหรือพนักงานที่จะได้รับการเสนอชื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องเป็นสมาชิกหรือเป็นพนักงานมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือเป็นพนักงานตั้งแต่ระดับ 5 ขึ้นไป แล้วแต่กรณี

ข้อ 7  สมาชิก พนักงาน หรือบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาเสนอชื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้

(1) ต้องมีสัญชาติไทย
(2) มีความประพฤติดี ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รวมทั้งได้กระทำความดีความชอบที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน
(3) ไม่เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ จำคุกแต่ให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษไว้ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือ ความผิดลหุโทษ
(4) ไม่เคยถูกลบชื่อออกจากสมาชิก หรือไม่เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากพนักงานเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำทุจริต และประพฤติมิชอบ
(5) ไม่เคยถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามพระราชกฤษฎีกา หรือกฎหมายอื่น เว้นแต่เป็นการส่งคืนเนื่องจากได้รับพระราชทานในชั้นที่สูงขึ้น
(6) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความ หรือถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

ข้อ 8  การพิจารณาผลงานและการกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน ของบุคคล ให้พิจารณาภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เป็นผลงานที่ทนายความกระทำให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือผู้เสียหายในคดีอาญา หรือผู้ถูกควบคุมหรือคุมขัง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือตามที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติ และได้ดำเนินการจนคดีเสร็จสิ้นหรือ ถึงที่สุดแล้วไม่น้อยกว่า 30 เรื่อง
(2) เป็นผลงานในการให้ความช่วยเหลือหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามโครงการหรืองานที่สภาทนายความมอบหมาย หรือตามที่ได้รับการร้องขอจากประชาชน องค์การเอกชน หรือ หน่วยงานของรัฐ และได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จและเกิดผลดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 เรื่อง
(3) เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ตามที่หน่วยงานของรัฐร้องขอต่อสภาทนายความ และได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจนเกิดผลดีต่อราชการหรือประชาชนมาแล้ว หรือ
(4) เป็นผลงานของตนเองและไม่เคยใช้เสนอขอพระราชทานจนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามพระราชกฤษฎีกาหรือกฎหมายอื่นมาแล้ว ถ้าเป็นผลงานที่ทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ จะต้องสรุปแยกผลงานของแต่ละบุคคลให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสมได้ และ
(5) เป็นผลงานที่กระทำให้แก่สภาทนายความ หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนากฎหมาย การศึกษาวิชากฎหมาย หรือการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของมวลหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย

ข้อ 9  การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่สมาชิก พนักงาน หรือบุคคลที่กระทำความดีความชอบตามข้อ 8 ในกรณีปกติให้เสนอขอพระราชทานชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ และอาจพิจารณาเสนอขอพระราชทานในชั้นที่สูงขึ้นตามลำดับ เมื่อกระทำความดีความชอบเพิ่มขึ้นจนถึงชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ โดยเว้นระยะเวลาแต่ละชั้นไม่น้อยกว่าห้าปี

ส่วนการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ 1 บัญชีที่ 2 และบัญชีที่ 3 ท้ายข้อบังคับนี้

สำหรับการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษให้กับบุคคลใดที่ไม่ได้ระบุไว้ ในข้อบังคับฉบับนี้ ให้คณะกรรมการสภาทนายความ โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ สรุปความชอบของบุคคลผู้นั้นเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามสมควรแก่ความชอบ

ข้อ 10  การกระทำความดีความชอบที่เป็นการบริจาคทรัพย์สินเพื่อการวิจัยและพัฒนากฎหมาย การศึกษาวิชากฎหมาย การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของมวลหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายหรือเพื่อการอื่นให้แก่สภาทนายความ หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนากฎหมาย การศึกษาวิชากฎหมาย หรือการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของมวลหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ทรัพย์สินที่บริจาคต้องเป็นทรัพย์สินของผู้บริจาค หรือที่ผู้บริจาคมีสิทธิบริจาคได้ในนามของตน และต้องอยู่ภายในเงื่อนไขในพระราชกฤษฎีกา มาตรา 14 (1) (2) (3) (5) และ (6)

การบริจาคทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้จัดทำเป็นหนังสือรับรองแสดงรายการบริจาคทรัพย์สินที่บริจาคและให้เลขาธิการสภาทนายความลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง

ข้อ 11  การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นใดให้แก่สมาชิก พนักงาน หรือบุคคลที่กระทำความดีความชอบ ตามข้อ 10 ให้เป็นไปตามมูลค่าของทรัพย์สินที่บริจาคที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ 4 ท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ 12  ให้คณะกรรมการสภาทนายความ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและผลงานของผู้ที่พึงเสนอชื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วยประธานกรรมการมรรยาททนายความ เป็นประธานอนุกรรมการ อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ อุปนายกฝ่ายบริหาร อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นรองประธานอนุกรรมการ เลขาธิการผู้แทนคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ ผู้แทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ ผู้แทนกรรมการบริหารภาคที่คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาแต่งตั้ง จำนวน 2 คน ผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม เป็นอนุกรรมการ เลขานุการคณะกรรมการมรรยาททนายความ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะอนุกรรมการมีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติตามข้อบังคับนี้ และผลงานการกระทำความดีความชอบและความเหมาะสมของสมาชิก พนักงาน หรือบุคคลผู้พึงได้รับการพิจารณาเสนอชื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทั้งในกรณีปกติและกรณีพิเศษ แล้วให้สรุปผลนำเสนอต่อคณะกรรมการสภาทนายความพิจารณารับรอง และให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานปฏิบัติหน้าที่กลั่นกรองจัดเตรียมข้อมูลผลงานการกระทำความดีความชอบของสมาชิก พนักงาน หรือบุคคล แล้วแต่กรณี และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องตามที่คณะอนุกรรมการมอบหมาย

ข้อ 13  การเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่สมาชิก พนักงาน หรือบุคคลตามข้อ 12 เมื่อคณะกรรมการสภาทนายความให้การรับรองรายชื่อแล้ว ให้สภาทนายความเสนอชื่อนี้ ต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 23 แห่งพระราชกฤษฎีกา

ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2550
เดชอุดม ไกรฤทธิ์
นายกสภาทนายความ

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับสภาทนายความฉบับนี้ คือ โดยที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทนายความขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2457 นับเนื่องเป็นเวลาที่ยาวนาน สภาทนายความได้ดำเนินการตามพระราชปณิธาน ในการส่งเสริมวิชาชีพทนายความ รวมทั้งควบคุมการประกอบวิชาชีพทนายความ ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกด้วยดีตลอดมา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ทนายความซึ่งอุทิศตนทำงานช่วยเหลือสังคมในด้านการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ ทั้งในด้านการเป็นวิทยากรผู้ให้คำบรรยายกฎหมายแก่ประชาชนและแก่ทนายความด้วยกัน ทั้งเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้คำอธิบายและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยเฉพาะทนายความผู้เป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยการเข้าเป็นทนายความว่าต่างแก้ต่างให้กับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และยากจนตามพระราชบัญญัติทนายความ ควบคุมความประพฤติและจริยธรรมของทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความเพื่อไม่ให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้เสียหายในคดีอาญา และผู้ถูกควบคุมหรือคุมขัง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นผู้มีความประพฤติดีและมุ่งสร้างสรรค์สังคม ให้อยู่ภายใต้หลักแห่งนิติธรรม ส่งเสริมงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะพระราชปณิธานแห่งพระองค์ท่านที่จะทรงปกครองแผ่นดินด้วย ความเป็นธรรม ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ สมควรได้รับการเสนอชื่อ และขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

จึงจำเป็นต้องตราข้อบังคับนี้




ข้อบังคับสภาทนายความ

พนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530
การฝึกอบรมวิชาว่าความพ.ศ. 2529
การฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ พ.ศ.2535
การฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ
การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ
สำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ
การแบ่งส่วนงานของสภาทนายความ
การประชุมคณะกรรมการมรรยาททนายความ
การฌาปนกิจสงเคราะห์สภาทนายความ
การเงินและทรัพย์สินของสภาทนายความ พ.ศ. 2547
การเก็บรักษาและการเบิกจ่ายเงินกองทุน
การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย