ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




พนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530

ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530
                     
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (3) (จ) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 คณะกรรมการสภาทนายความออกข้อบังคับว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530 ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1  ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530”

ข้อ 2  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3  ในข้อบังคับนี้

“นายก”  หมายความว่า นายกสภาทนายความ

“คณะกรรมการ”  หมายความว่า คณะกรรมการสภาทนายความ

“พนักงาน”  หมายความว่า พนักงานสภาทนายความ

ข้อ 4  ให้นายกมีอำนาจออกระเบียบหรือคำสั่งใดๆ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้

หมวด 1

คุณสมบัติ คุณวุฒิ ตำแหน่งและอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้าง                       

ข้อ 5  พนักงานมี 2 ประเภท ดังนี้

5.1  พนักงานประจำ คือ พนักงานที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานประจำ โดยได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน

5.2  พนักงานชั่วคราว คือ พนักงานที่ได้รับการบรรจุเข้าฝึกงาน ทดลองงาน หรือจ้างเป็นพนักงานโดยมีกำหนดเวลา ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนหรือรายวันตามคำสั่งการจ้างงาน

ผู้ที่สภาทนายความจ้างให้ปฏิบัติงานชั่วคราว ให้ถือว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดตามระยะเวลาของโครงการหรือแผนงาน และไม่อยู่ในบังคับแห่งข้อบังคับนี้

ข้อ 6  พนักงานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1)  มีสัญชาติไทย
(2)  มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
(3)  ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(4)  ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(5)  ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำรวมทั้งข้าราชการ การเมือง ลูกจ้างของกระทรวงทบวงกรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า พนักงานส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกรุงเทพมหานครหรือดำรงตำแหน่งทบวงการเมือง รวมทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
(6)  ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือไม่เป็นโรคใดโรคหนึ่งดังต่อไปนี้
ก.  โรคเรื้อน
ข.  วัณโรค
ค.  โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการ
ง.  ติดยาเสพติดให้โทษ
จ.  โรคพิษสุราเรื้อรัง
ฉ.  โรคอื่นๆ ที่แพทย์เห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
(7)  ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกพักราชการ หรือพักงาน
(8)  ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
ข้อ 7  พนักงานต้องมีคุณวุฒิหรือพื้นความรู้ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีคุณสมบัติประจำตำแหน่งพนักงาน
ข้อ 8  ตำแหน่งของพนักงาน มีดังนี้
(1)  หัวหัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ
(2)  รองหัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ
(3)  ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ
(4)  หัวหน้าฝ่าย
(5)  รองหัวหน้าฝ่าย
(6)  ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย
(7)  หัวหน้างาน
(8)  รองหัวหน้างาน
(9)  ผู้ช่วยหัวหน้างาน
(10)  เจ้าหน้าที่
(11)  พนักงาน
(12)  พนักงานขับรถ
(13)  นักการ

ข้อ 8/1  พนักงานสภาทนายความ ให้ได้รับเงินเดือนที่ได้รับแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้
(1)  หัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 8
(2)  รองหัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ,ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 7
(3)  หัวหน้าฝ่าย ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 6
(4)  รองหัวหน้าฝ่าย,ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 5
(6)  รองหัวหน้างาน,ผู้ช่วยหัวหน้างาน ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 4
(7)  เจ้าหน้าที่ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 3
(8)  พนักงาน ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 1 - 2
(9)  พนักงานขับรถ,นักการ ให้ได้รับเงินเดือน ระดับ 1

ข้อ 9  ในกรณีที่พนักงานตำแหน่งใดไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว หรือพนักงานตำแหน่งใดว่างลงให้นายกมอบหมายให้พนักงานระดับรองลงไปเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน หรือรักษาการแทนเฉพาะงานหรือทั้งหมดเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่งานในหน้าที่นั้น

ข้อ 10  อัตราเงินเดือน หรือค่าจ้างของพนักงาน ให้เป็นไปตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานที่แนบท้ายข้อบังคับนี้

ข้อ 11  การกำหนดวัน เวลาปฏิบัติงาน การหยุดงาน การลา ของพนักงานให้เป็นไปตามระเบียบที่นายกจะเป็นผู้กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

หมวด 2
การบรรจุ และการแต่งตั้ง                        

ข้อ 12  ผู้สมัครเข้าเป็นพนักงานจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของสภาทนายความ

ข้อ 13  การบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง ให้นายกมีอำนาจออกระเบียบโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

การบรรจุบุคคลเข้าเป็นพนักงานชั่วคราว หรือลูกจ้างชั่วคราวเพื่อกิจการใดกิจการหนึ่ง ให้นายกเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาจ้างตามที่เห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่สภาทนายความ

การบรรจุเข้าดำรงตำแหน่งครั้งแรก จะได้ชั้นใด ระดับใด ให้นายกมีอำนาจออกเป็นระเบียบ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ข้อ 14  การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานที่ลาไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร เมื่อพ้นจากประจำการ หรือได้รับอนุญาตให้ลาพัก เพื่อรอการปลดและประสงค์จะกลับเข้าปฏิบัติงานให้นายกวางระเบียบโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการไว้เป็นหลักปฏิบัติ

ข้อ 15  การแต่งตั้งพนักงานให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น หรือแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งที่ว่าง ให้นายกเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของคณะกรรมกา

ข้อ 16  การโยกย้าย สับเปลี่ยนหน้าที่ของพนักงานในฝ่ายหรือต่างฝ่าย ให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายหรือสำนักงานนั้นๆ เสนอความเห็นต่อนายกเพื่อพิจารณาและลงนามในคำสั่ง
 
หมวด 3
การเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง                        

ข้อ 17  นายกมีอำนาจพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างพนักงานตามบัญชีอัตราเงินเดือน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ข้อ 18  การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างพนักงาน โดยปกติให้เลื่อนได้ปีละ 1 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีที่เลื่อนนั้น และพนักงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างจะต้องเป็นผู้ที่
(1)  ปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับที่สภาทนายความได้กำหนดไว้ และรักษาวินัยโดยเคร่งครัด
(2)  มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และมีความอุตสาหะบากบั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งงานที่ได้กระทำไปนั้นเรียบร้อยและเป็นผลดี
(3)  ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีคุณภาพและปริมาณงานสมควรที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(4)  ในรอบปีที่แล้วมาได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานประจำหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือปรับขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 เดือน โดยนับตั้งแต่เดือนแรกของปีเป็นต้นไป
(5)  ในรอบปีที่แล้วมา มีวันลากิจและลาป่วยในกรณีเจ็บป่วยที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน รวมกันไม่ถึง 45 วัน
(6)  ในรอบปีที่แล้วมา มาทำงานสายไม่เกิน 24 ครั้ง
(7)  ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(8)  ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ถูกลงโทษทางวินัย
(9)  ในรอบปีที่แล้วมาต้องไม่ถูกสั่งพักงานเกินกว่า 60 วัน

“ในรอบปีที่แล้วมา”  หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีนั้น

ข้อ 19  การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเกินกว่าหนึ่งขั้น ให้อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 18 และในหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
(1)  ปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ผลดีเด่นจนถือเป็นตัวอย่างที่ดีได้
(2)  ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ต้องเสี่ยงอันตรายเป็นกรณีพิเศษ
(3)  ปฏิบัติงานเกินกว่าตำแหน่งหน้าที่จนเกิดประโยชน์ต่อสภาทนายความเป็นพิเศษ และปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นผลดีด้วย
(4)  ปฏิบัติงานโดยมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสภาทนายความเป็นพิเศษ และสภาทนายความได้ดำเนินการตามความคิดริเริ่มนั้น
(5)  ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความตรากตรำเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษ และงานนั้นได้ผลดียิ่ง
(6)  ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจการใดกิจการหนึ่งจนสำเร็จเป็นผลดียิ่งแก่สภาทนายความ

ข้อ 20  ผู้ซึ่งสมควรได้เลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นกรณีพิเศษเกินกว่า 1 ขั้น ตามข้อ 19 แต่ขาดหลักเกณฑ์ในข้อ 18 (4) ถ้าผู้นั้นได้รับการบรรจุหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นพนักงานประจำแล้วหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างมาแล้วตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปให้เลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างได้ไม่เกิน 1 ขั้น

หมวด 4
วินัย และการรักษาวินัย                      

ข้อ 21  พนักงานต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย ต้องได้รับโทษตามที่กล่าวไว้ในหมวดนี้

ข้อ 22  พนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม ห้ามมิให้ผู้อื่นอาศัย หรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

การปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 23  พนักงานต้องรักษาความลับของสภาทนายความ

การเปิดเผยความลับของสภาทนายความอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่สภาทนายความ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 24  พนักงานต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานหรือชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของสภาทนายความ โดยมิให้ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง

การขัดคำสั่ง หรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของสภาทนายความอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่สภาทนายความ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 25  พนักงานต้องปฏิบัติงานโดยมิให้เป็นการกระทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำ หรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษเป็นครั้งคราว

ข้อ 26  พนักงานต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การรายงานโดยปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ถือว่าเป็นการรายงานเท็จด้วย

การรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สภาทนายความ เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 27  พนักงานต้องสนับสนุนนโยบายของสภาทนายความและต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของสภาทนายความให้เกิดผลดีและมีความก้าวหน้าแก่สภาทนายความด้วยความอุตสาหะเอาใจใส่และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของสภาทนายความ

ข้อ 28  พนักงานต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่กิจการงานของสภาทนายความ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้

การละทิ้งหน้าที่การงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่สภาทนายความอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่การงานติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและข้อบังคับของสภาทนายความ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 29  พนักงานต้องสุภาพเรียบร้อยและรักษาความสามัคคีระหว่างพนักงาน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน
 
ข้อ 30  พนักงานต้องสุภาพเรียบร้อยให้การต้อนรับ ให้ความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อในการงานอันเกี่ยวกับหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี
 
ข้อ 31  พนักงานต้องไม่กระทำการ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้เสียความเป็นธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตน
 
ข้อ 32  พนักงานต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วเช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ หมกมุ่นในการพนัน หรือประพฤติผิดศีลธรรมอันดี
 
ข้อ 33  การกระทำความผิดทางอาญาจนกระทั่งได้รับโทษจำคุกหรือโทษหนักกว่าจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือได้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
 
ข้อ 34  ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ส่งเสริมและระมัดระวังดูแลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามวินัย

ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้โดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยด้วย

ข้อ 35  โทษผิดวินัยมี 6 สถาน
(1)  ภาคทัณฑ์
(2)  ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(3)  ลดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
(4)  ให้ออก
(5)  ปลดออก
(6)  ไล่ออก

 ข้อ 36  การลงโทษพนักงาน นายกเป็นผู้มีอำนาจสั่งลงโทษพนักงานได้ตามข้อ 35 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
 
ข้อ 37  การลงโทษพนักงาน ต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด ทั้งนี้ต้องอย่าให้เป็นไปโดยพยาบาท หรือโทสะจริต หรือลงโทษผู้ที่ไม่มีความผิด ในคำสั่งลงโทษให้แสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดวินัยในกรณีใด ข้อใด

ข้อ 38  พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือลดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างตามควรแก่กรณี ให้เหมาะสมกับความผิดถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือมีเหตุอันควรลดหย่อน ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน

ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าเห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษจะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือนหรือให้ทำทัณฑ์บนหรือเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

ข้อ 39  พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจะต้องได้รับโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่ห้ามมิให้ลดโทษลงต่ำกว่าให้ออก

พนักงานผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเห็นว่ากรณีมีมูลอันควรสอบสวน ให้นายกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า จำนวนของกรรมการจะมีเท่าใดให้นายกเป็นผู้กำหนด แต่มิให้เกิน 5 คน แต่ไม่ต่ำกว่า 3 คน

ในการสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ โดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย

ข้อ 40  ให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง หากไม่สามารถดำเนินการสอบสวนให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้คณะกรรมการสอบสวนขอขยายระยะเวลาสอบสวนต่อนายกได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน

ในการพิจารณา ให้คณะกรรมการสอบสวนตัดสินโดยการลงมติถือเอาเสียงข้างมาก

ผู้ถูกกล่าวหาอาจอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนต่อนายกโดยต้องแสดงว่าคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนไม่ถูกต้องอย่างไร ภายใน 7 วันนับจากวันทราบคำสั่ง เพื่อประโยชน์แห่งการนี้นายกมีอำนาจเรียกบุคคลหรือเอกสารที่ได้แสดงไว้แล้วต่อคณะกรรมการสอบสวนมาประกอบการพิจารณา คำสั่งของนายกเป็นที่สุด

การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุแห่งการเพิ่มโทษ แต่หากสมควรจะลดโทษก็ได้แต่มิให้ลดต่ำเกินกว่า 1 ขั้นของโทษเดิม

หมวด 5
การถอดถอน
   
ข้อ 41  นายกมีอำนาจถอดถอนพนักงานให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ข้อ 42  พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1)  ตาย
(2)  ลาออก
(3)  ให้ออก
(4)  ไล่ออก
(5)  ปลดออก
(6)  เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6

ข้อ 43  พนักงานผู้ใดพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะตายให้จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงวันตาย

ข้อ 44  พนักงานผู้ใดประสงค์จะลาออก ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าสมควรจะอนุญาตให้ลาออกหรือไม่ หรือควรยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้ก่อนตามหลักเกณฑ์ในข้อนี้ พร้อมด้วยหลักฐานโดยชัดเจนและมูลเหตุอื่นที่ขอลาออก นอกจากที่ระบุไว้ในใบลาออก รายงานเสนอตามลำดับจนถึงนายกภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 20 วัน เมื่อนายกมีคำสั่งให้ลาออกแล้วจึงให้ถือว่าพนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยการลาออก

ถ้าได้รับหนังสือลาออกภายในระยะเวลาน้อยกว่ากำหนด 30 วัน และผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียแก่การทำงาน ประกอบทั้งผู้ขอลาออกมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องขอลาออกโดยด่วนก็ชให้อยู่ในดุลยพินิจที่จะรับพิจารณาได้เป็นการเฉพาะราย

นายกมีอำนาจยับยั้งการลาออกในกรณีต่อไปนี้

(1)  ผู้ขอลาออกมีเรื่องถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรือกระทำผิดทางอาญาซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ให้ยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลของเรื่องที่ถูกกล่าวหา แต่เมื่อเรื่องถึงที่สุดแล้ว พนักงานผู้นั้นไม่ถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก จึงอนุญาตให้ลาออกได้ หากพนักงานผู้นั้นถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก จะอนุญาตให้ลาออกไม่ได้

(2)  พนักงานผู้ขอลาออกมีภาระผูกพันหรือหนี้สินกับสภาทนายความให้ยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้ก่อนจนกว่าพนักงานผู้นั้นจะปลดเปลื้องภาระผูกพันหรือหนี้สินที่มีให้หมดสิ้น หรือได้ทำความตกลงให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

(3)  พนักงานผู้ขอลาออกยังส่งมอบงานไม่แล้วเสร็จการสั่งอนุญาตให้ลาออกหรือไม่ หรือการยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกให้นายกสั่งภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 10 วัน นับแต่วันที่รับเรื่องการขอลาออก

ข้อ 45  นายกอาจสั่งให้พนักงานผู้ใดพ้นจากตำแหน่งหน้าที่โดยการให้ออกในกรณีข้อหนึ่งข้อใด ต่อไปนี้
(1)  พนักงานผู้นั้นเจ็บป่วยเกินกำหนดเวลาในรอบปี
(2)  พนักงานผู้นั้นหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตน หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือบกพร่องต่อหน้าที่
(3)  พนักงานผู้นั้นต้องหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงและการสอบสวนไม่ได้เป็นความสัตย์ว่าได้กระทำผิดที่จะถูกไล่ออกหรือปลดออก แต่มีมลทินมัวหมอง หรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจเป็นการเสียหายแก่สภาทนายความ
(4)  พนักงานผู้นั้นต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(5)  พนักงานผู้นั้นต้องถูกยุบเลิกตำแหน่ง โดยไม่มีตำแหน่งอื่นที่จะแต่งตั้งให้เหมาะสมได้
(6)  พนักงานผู้นั้นขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6

ข้อ 46  พนักงานผู้ใดประสงค์จะสมัครรับเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ลาออกก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน

พนักงานผู้ใดไม่ลาออกตามวรรคหนึ่งให้นายกสั่งปลดออก

ข้อ 47  ภายใต้บังคับ ข้อ 39 เมื่อพนักงานกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้ไล่ออก
(1)  ทุจริตต่อหน้าที่
(2)  ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่โดยชอบและขัดคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สภาทนายความ
(3)  ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สภาทนายความอย่างร้ายแรง
(5)  ละทิ้งหน้าที่หรือทอดทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการ
(6)  ต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเพราะกระทำหนี้สินขึ้นโดยทุจริต


หมวด 6
การพักงาน

ข้อ 48  นายกมีอำนาจออกคำสั่งให้พนักงานพักงานได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1)  ถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(2)  ถูกฟ้องคดีแพ่งให้ชดใช้ทรัพย์สินแก่สภาทนายความ
(3)  ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ข้อ 49  ห้งดจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและสิทธิอื่นๆ แก่พนักงานผู้ถูกสั่งให้พักงาน

ข้อ 50  ในกรณีที่สั่งให้พักงานพนักงานผู้ใด ถ้าปรากฏว่า
(1)  พนักงานผู้นั้นมิได้กระทำผิดและไม่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้นายกสั่งให้พนักงานผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิมหรือเทียบเท่าและให้จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและสิทธิอื่นๆ ที่งดจ่ายไว้จนเต็มจำนวน
(2)  ไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่า พนักงานผู้นั้นได้กระทำความผิดแต่มีมลทินหรือมัวหมอง หรือมีพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจซึ่งถ้าจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจจะเสียหายแก่สภาทนายความ ให้นายกมีอำนาจสั่งให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ถือว่าได้กระทำความผิด
(3)  ไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่า พนักงานผู้นั้นได้กระทำความผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ถ้าเห็นว่าพนักงานผู้นั้นยังอาจเป็นประโยชน์แก่สภาทนายความ ให้นายกสั่งให้พนักงานผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ไม่สูงกว่าตำแหน่งเดิม แต่ห้ามจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและสิทธิอื่นๆ ที่งดจ่ายไว้นั้น
(4)  พนักงานผู้ใดถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดแต่รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษไว้ หรือถูกลงโทษไม่ถึงจำคุกหรือมีความผิดทางวินัยแต่ไม่ถึงกับถูกสั่งไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ให้นายกสั่งให้พนักงานผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ไม่สูงกว่าตำแหน่งเดิมและให้จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและสิทธิอื่นๆ ที่งดจ่ายไว้ให้ครึ่งหนึ่ง
(5)  พนักงานผู้ใดถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือโทษหนักกว่าจำคุก หรือมีความผิดทางวินัยถูกสั่งไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ห้ามจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง หรือสิทธิอื่นๆ ที่งดจ่ายไว้

ข้อ 51  ถ้าผู้ถูกสั่งพักงานตายเสียก่อนคดีหรือกรณีถึงที่สุด และคดีหรือกรณีนั้นจำต้องระงับตามกฎหมาย ให้นายกวินิจฉัยตามหลักฐานเท่าที่มีอยู่ว่า จะจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและสิทธิอื่นที่งดจ่ายไว้หรือไม่

หมวด 7
สวัสดิการพนักงาน

ข้อ 52  ให้สภาทนายความจัดสวัสดิการแก่พนักงานตามระเบียบที่นายกจะเป็นผู้กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ประกาศ ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2530
คำนวณ ชโลปถัมภ์
นายกสภาทนายความ


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราเงินเดือนพนักงานให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530 ข้อ 10 ได้กำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานให้เป็นไปตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานที่แนบท้ายข้อบังคับ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสภา

 

                                           ข้อบังคับสภาทนายความ
                                      ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2533

     อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (3) (จ) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 คณะกรรมการสภาทนายความออกข้อบังคับว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความไว้ ดังต่อไปนี้

     1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า `ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2533'

     2. ข้อบังคับนี้ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 เป็นต้นไป

     3. ให้ยกเลิก บัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานที่แนบท้ายข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานที่แนบท้ายข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2533 นี้แทน

                              ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2533
                                        ประธาน ดวงรัตน์
                                       นายกสภาทนายความ
 

หมายเหตุ :-เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราเงินเดือนพนักงานให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530 ข้อ 10 ได้กำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานให้เป็นไปตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานที่แนบท้ายข้อบังคับ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสภา

 


                                                              ข้อบังคับสภาทนายความ

                                      ว่าด้วยพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535


ข้อ 4  ในกรณีที่พนักงานสภาทนายความได้เลื่อนขึ้นรับเงินเดือนในระดับสูงขึ้น ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราขั้นต่ำของระดับที่เลื่อนขึ้น แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำในระดับที่เลื่อนขึ้นจึงให้ ได้รับเงินเดือนในขั้นของระดับที่เลื่อนขึ้น ซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ในกรณีที่เงินเดือน ในขั้นของระดับที่เลื่อนขึ้นไม่มีจำนวนที่เท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ก็ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นซึ่งสูงกว่า เงินเดือนที่ได้รับอยู่น้อยที่สุด

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับสภาทนายความฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการประกาศ ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือน หมายเลข 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 ให้สอดคล้อง กับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงเป็นการสมควรปรับปรุงอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความให้ สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือน พนักงานสภาทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2533  โดยให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 นี้แทน

 

                                                                         ข้อบังคับสภาทนายความ

                                             ว่าด้วยพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536

ข้อ 6  ในกรณีที่พนักงานสภาทนายความ ได้เลื่อนขึ้นรับเงินเดือนในระดับสูงขึ้น ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราขั้นต่ำของระดับที่เลื่อนขึ้น แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำในระดับที่เลื่อนขึ้น ก็ให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่เลื่อนขึ้นซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินเดือนที่ได้ ในกรณีที่เงินเดือนในขั้นของระดับที่เลื่อนขึ้น ไม่มีจำนวนที่เท่ากับเงินเดือนที่ได้ ก็ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับอยู่น้อยที่สุด

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับสภาทนายความฉบับนี้ คือ โดยที่ได้กำหนด ตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่าย,ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย, รองหัวหน้างาน และผู้ช่วยหัวหน้างานขึ้นมาใหม่ เพื่อขยายตำแหน่งและรองรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตำแหน่งพนักงานใหม่และโดยที่สภาทนายความได้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนบัญชี 1 (ฉบับที่ 4) มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535 นั้น ปรากฏว่าสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นการสมควรปรับปรุงอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นจำเป็นต้องยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 โดยให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ บัญชี 2 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536 แทน

 

                                                                                            ข้อบังคับสภาทนายความ

                                                                ว่าด้วยพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2538

ข้อ 4  ในกรณีที่พนักงานสภาทนายความ ได้เลื่อนขึ้นรับเงินเดือนในระดับสูงขึ้น ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราขั้นต่ำของระดับที่เลื่อนขึ้น แต่ถ้าผู้นั้นได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำในระดับที่เลื่อนขึ้นจึงให้ได้รับเงินเดือนในขั้นของระดับที่เลื่อนขึ้นซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ในกรณีที่เงินเดือนในขั้นของระดับที่เลื่อนขึ้นไม่มีจำนวนที่เท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ก็ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นซึ่งมีจำนวนสูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับอยู่น้อยที่สุด

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับสภาทนายความฉบับนี้ คือ โดยที่สภาทนายความ ได้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนบัญชี 2 (ฉบับที่ 5) มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 นั้น ปรากฎว่าสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นการสมควรปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536 โดยให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ บัญชี 3 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2538 แทน

 

                                                                                 ข้อบังคับสภาทนายความ

                                                       ว่าด้วยพนักงานสภาทนายความ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2542

 หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับสภาทนายความฉบับนี้ คือ โดยที่สภาทนายความได้ชับัญชีอัตราเงินเดือนบัญชีที่ 3 (ฉบับที่ 6) มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 นั้นปรากฏว่าได้มีการประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 162 บาท ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2540 ทำให้บัญชีอัตรเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ ซึ่งเริ่มที่ 4,500 บาทต่อเดือนต่ำกว่ามาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นการสมควรปรับปรุงโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องยกเลิกบัญชีอตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความตามข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพนักงานสภาทนายความ บัญชีที่ 3 (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2538 โดยให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนพนักงานสภาทนายความ บัญชี 4 (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2542 แทน

 

                                                        

                                           




ข้อบังคับสภาทนายความ

การพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
การฝึกอบรมวิชาว่าความพ.ศ. 2529
การฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ พ.ศ.2535
การฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ
การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ
สำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ
การแบ่งส่วนงานของสภาทนายความ
การประชุมคณะกรรมการมรรยาททนายความ
การฌาปนกิจสงเคราะห์สภาทนายความ
การเงินและทรัพย์สินของสภาทนายความ พ.ศ. 2547
การเก็บรักษาและการเบิกจ่ายเงินกองทุน
การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย