ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




สำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ

ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการดำเนินการของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ พ.ศ. 2543
 

 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และ มาตรา 15 และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ  ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 คณะกรรมการสภาทนายความออกข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการดำเนินงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ พ.ศ. 2543 ไว้ดังต่อไปนี้

                                                                 หมวด 1
                                                                บททั่วไป        

                        ข้อ 1  ข้อบังคับนี้ เรียกว่า "ข้อบังคับว่าด้วยการดำเนินการของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ พ.ศ. 2543"

                        ข้อ 2  ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                        ข้อ 3  ข้อบังคับ กฎหรือระเบียบใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับฉบับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน

                        ข้อ 4  ในข้อบังคับนี้

                        นายก หมายความว่า นายกสภาทนายความ

                        อุปนายก หมายความว่า อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงานสภาทนายความ

                        เหรัญญิก หมายความว่า เหรัญญิกสภาทนายความ

                        กรรมการ หมายความว่า กรรมการสิทธิมนุษยชน

                        คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

                        ทนายความอาสา หมายความว่า ทนายความอาสาให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา

                        กรรมการบริหารภาค หมายความว่า กรรมการบริหารสภาทนายความประจำภาค

                        ประธานทนายความจังหวัด หมายความว่า ประธานทนายความประจำจังหวัด

                        สำนักงานสิทธิมนุษยชน  หมายความว่า สำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

                        การให้คำปรึกษา หมายความว่า  การให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าร่วมฟังการสอบปากคำในคดีอาญา

                        โครงการ หมายความว่า โครงการทนายความอาสาให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา

                                                                 หมวด 2
                                                     สำนักงานสิทธิมนุษยชน             


                        ข้อ 5  ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตั้งสำนักงานสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายทั่วราชอาณาจักรในคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน บริหารโครงการทนายความอาสาให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา, โครงการหรือกิจการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ

                        ข้อ 6  ให้สำนักงานสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่จัดทำโครงการต่าง ๆ  ในข้อ  5  รวมทั้งจัดทำงบประมาณ, รายงานการเงิน, รายงานกิจกรรม และติดต่อประสานงานกับบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ของสภาทนายความและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                        ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีอำนาจแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อทำกิจการ หรือพิจารณาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

                                                                หมวด 3

                        การเบิกจ่ายค่าตอบแทนของทนายความอาสากรุงเทพมหานคร

                        ข้อ 7  การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง

                        7.1  ในกรณีที่ทนายความอาสาเข้าเวรและได้ให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา ในส่วนกรุงเทพมหานคร ให้เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละกะ หรือช่วงเวลา ดังนี้
                               7.1.1  ต่อรายบุคคลตั้งแต่เวลา 06.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นจำนวน 600 บาท
                               7.1.2  ต่อรายบุคคลตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นจำนวน 800 บาท
                        7.2  ในกรณีที่ทนายความอาสาต่อรายบุคคลเข้าเวร  แต่ไม่มีการให้คำปรึกษา ให้เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นการเหมาจ่าย กะละ หรือช่วงเวลาละ 200 บาท

                        ข้อ 8  วิธีการเบิกจ่ายเงิน
                        8.1  ให้ทนายความอาสาทำรายงานการปฏิบัติหน้าที่ (แบบ สมท. 2) พร้อมแนบแบบขอเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะ (แบบ สมท. 4) และสำเนารายงานประจำวันธุรการ (รับรองสำเนาถูกต้อง) มายังสำนักงานสิทธิมนุษยชนเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และเสนออุปนายก หรือ เหรัญญิก เป็นผู้อนุมัติ
                        8.2  เมื่ออุปนายกหรือเหรัญญิกอนุมัติแล้ว ให้ทนายความอาสารับเงินดังกล่าวได้ที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน ทุกวันศุกร์ที่สี่ของเดือน ณ ที่ทำการสภาทนายความ

                                                                หมวด 4

                           การเบิกจ่ายค่าตอบแทนของทนายความอาสาส่วนภูมิภาค

                        ข้อ 9  การเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าที่พัก
                        9.1  ค่าเบี้ยเลี้ยง

                        ในกรณีที่ทนายความอาสาเข้าเวรและได้ให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา ในส่วนภูมิภาคให้เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงดังนี้
                               9.1.1  ต่อรายบุคคลตั้งแต่เวลา 06.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นจำนวน 600 บาท
                               9.1.2  ต่อรายบุคคลตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นจำนวน 800 บาท

                        9.2  ในกรณีที่ทนายความอาสาต่อรายบุคคลเข้าเวร แต่ไม่มีการให้คำปรึกษา ให้เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเป็นการเหมาจ่าย กะละ หรือช่วงเวลาละ 200 บาท

                        9.3  ค่าพาหนะ
                               9.3.1  เฉพาะทนายความอาสาที่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปให้คำปรึกษาต่างอำเภอจากสำนักงานทนายความของตน ที่ได้จดแจ้งต่อสภาทนายความสามารถเบิกค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายได้
                               9.3.2  การเบิกค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายให้เบิกได้ตามระยะทางไป - กลับ ในอัตรากิโลเมตรละ 1.50 บาท (ต่อ 1 เที่ยว)
                               9.3.3  การเบิกค่าพาหนะอื่น อาทิเช่น ทางเรือให้ทนายความอาสาเบิกค่าพาหนะดังกล่าวได้ตามที่จ่ายจริง

                        9.4  ค่าที่พัก

                               เฉพาะทนายความอาสาที่มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปให้คำปรึกษาต่างอำเภอจากสำนักงานทนายความของตนที่ได้จดแจ้งต่อสภาทนายความ   และมีความจำเป็นต้องหาที่พักเนื่องจากระยะทางประกอบกับจะต้องปฏิบัติงานระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา จนถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ให้ทนายความอาสาเบิกค่าที่พักได้ตามหลักฐานที่จ่ายจริงและตามสมควรแก่เหตุ

                        ข้อ 10  วิธีการเบิกจ่าย
                        10.1  ให้ทนายความอาสาทำรายงานการปฏิบัติหน้าที่ (แบบ สมท. 2) พร้อมแนบแบบขอเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าพาหนะ/ค่าที่พัก (แบบ สมท. 3) และสำเนารายงานประจำวันธุรการ (รับรองสำเนาถูกต้อง) พร้อมหลักฐานค่าพาหนะและค่าที่พัก (ถ้ามี) ไปยังประธานทนายความจังหวัดเพื่อตรวจสอบ ประธานทนายความจังหวัด  เมื่อตรวจสอบแล้ว  ให้ประธานทนายความจังหวัดส่งเอกสารดังกล่าวไปยังกรรมการบริหารภาคตรวจสอบ พร้อมส่งสำเนาให้สำนักงานสิทธิมนุษยชน
                        10.2  เมื่อกรรมการบริหารภาคตรวจสอบเอกสารแล้วเห็นว่าครบถ้วน ถูกต้อง ให้เสนอความเห็นในแบบ สมท. 3 และรวบรวมเอกสารทั้งหมดส่งสำนักงานสิทธิมนุษยชน เพื่อเสนออุปนายกหรือเหรัญญิกเป็นผู้อนุมัติต่อไป

                        10.3  ให้ทนายความอาสาเปิดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาต่าง ๆ พร้อมแจ้งให้สำนักงานสิทธิมนุษยชนทราบเมื่ออุปนายก หรือ เหรัญญิกอนุมัติแล้วให้สำนักงานสิทธิมนุษยชน โอนเงินค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าที่พัก ให้ทนายความอาสาตามบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้ พร้อมทั้งแจ้งให้กรรมการบริหารภาคและประธานทนายความจังหวัดทราบ

                        ข้อ 11  ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ

                        11.1  เมื่อประธานทนายความจังหวัดร้องขอ คณะกรรมการอาจพิจารณาจัดสรรเงินให้แก่ประธานทนายความจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการได้ตามความจำเป็นและสมควรโดยจังหวัดหนึ่งๆ จะไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน

                        ประธานทนายความจังหวัดจะต้องจัดทำงบประมาณเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา และเสนอให้อุปนายกหรือผู้ที่นายกมอบหมายให้อนุมัติต่อไป

                        11.2  คณะกรรมการ  ฯ  มีอำนาจที่จะเสนอให้อุปนายกหรือผู้ที่นายกมอบหมาย ปรับเพิ่มหรือลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการซึ่งได้อนุมัติไปแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสมด้านปริมาณงานและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของประธานทนายความจังหวัดแต่ละจังหวัด

                                                                หมวด 5      
                                                     การเบิกเงินยืมทดรองจ่าย

                        ข้อ 12  เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประสิทธิภาพในการบริหารโครงการให้สำนักงานสิทธิมนุษยชน โดยความเห็นชอบของอุปนายกหรือผู้ที่นายกมอบหมายมีอำนาจเป็นการเฉพาะรายดังต่อไปนี้
                        12.1  อนุมัติเงินยืมทดรองจ่ายรายเดือนให้แก่ประธานทนายความจังหวัด ตามประมาณการที่เสนอมา โดยความเห็นชอบของกรรมการบริหารภาค
                        12.2  ให้ทนายความอาสาไปเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าที่พัก จากประธานทนายความจังหวัดโดยตรง
                        12.3  ให้ประธานทนายความจังหวัดส่งรายงานการเงินของแต่ละเดือน พร้อมหลักฐานการเบิกจ่าย และเอกสารตาม ข้อ 10.1 ให้แก่กรรมการบริหารภาคภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันสิ้นสุดของเดือนนั้นๆ เพื่อกรรมการบริหารภาคตรวจสอบและส่งสำนักงานสิทธิมนุษยชนโดยด่วนต่อไป
                        12.4  สำนักงานสิทธิมนุษยชนมีสิทธิที่จะไม่อนุมัติเงินยืมทดรองจ่ายของเดือนต่อไป หากยังไม่ได้รับรายงานการเงินพร้อมเอกสารทั้งหมดตามข้อ 12.3
                        12.5  คณะกรรมการมีอำนาจที่จะเสนอให้อุปนายกหรือผู้ที่นายกมอบหมาย ปรับเพิ่มหรือลดเงินยืมทดรองจ่ายที่ได้อนุมัติไปแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงความจำเป็น ความเหมาะสมด้านปริมาณงานและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของประธานทนายความจังหวัดแต่ละจังหวัด
 

                                                            ประกาศ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
                                                                               สัก  กอแสงเรือง
                                                                            นายกสภาทนายความ


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อบังคับสภาทนายความ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 241 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่าในชั้นสอบสวนผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ซึ่งสภาทนายความได้จัดตั้งสำนักงานสิทธิมนุษยชนขึ้นรองรับบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

                        ดังนั้น  เพื่อเป็นการส่งเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความอาสาสมัครในการให้คำปรึกษาผู้ต้องหาและเข้าฟังการสอบปากคำในคดีอาญา อันเป็นการรองรับสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรให้มีการออกข้อบังคับว่าด้วยการดำเนินการของสำนักงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความไว้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนของทนายความอาสาให้สอดคล้องกันทั่วประเทศและเป็นไปตามแนวทางการบริหารงบประมาณของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนหน่วยงานของสภาทนายความ จึงจำเป็นต้องออกข้อบังคับฉบับนี้

 




ข้อบังคับสภาทนายความ

การพิจารณาเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
พนักงานสภาทนายความ พ.ศ. 2530
การฝึกอบรมวิชาว่าความพ.ศ. 2529
การฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ พ.ศ.2535
การฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ
การประชุมใหญ่ของสภาทนายความ
การแบ่งส่วนงานของสภาทนายความ
การประชุมคณะกรรมการมรรยาททนายความ
การฌาปนกิจสงเคราะห์สภาทนายความ
การเงินและทรัพย์สินของสภาทนายความ พ.ศ. 2547
การเก็บรักษาและการเบิกจ่ายเงินกองทุน
การช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย