ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การเพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

การเพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

การเพิกถอนการฉ้อฉลกฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้ แต่หากลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นกรณีพิเศษให้มีอำนาจทำแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิและเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินเพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ กล่าวคือการยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนซึ่งขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้ว
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19883/2555

การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องการกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นจะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้วหากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น

   ผู้ร้องทำการสอบสวนเจ้าหนี้รายที่ 40 ที่ยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลาง กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำการแทนเจ้าหนี้รายที่ 40 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน

      นิติกรรมที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้แก่ บันทึกท้ายทะเบียนหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 อันเป็นการยกทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามข้อตกลงข้างต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2540 และการที่จำเลยที่ 2 นำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารให้แก่เด็กชาย ช. และเด็กหญิง บ. บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แล้วต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ปิดบัญชีเดิมและนำเงินของตนเพิ่มเติมสมทบเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ธนาคารเดิมให้แก่บุตรทั้งสองของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการทำให้โดยเสน่หา จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และผู้คัดค้านที่ 1 กับบุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงตกแก่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงต้องฟังว่านิติกรรมการตกลงแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งนิติกรรมการให้ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อบุตรทั้งสอง เป็นการกระทำในช่วงเวลาที่ตนอาจรับผิดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รายที่ 40 จำเลยที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ เมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หาจำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่ผู้ร้องจะขอเพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่ดินอันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินจึงต้องถูกเพิกถอนด้วย แม้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจเป็นสินสมรสที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กรณีต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 วรรคสาม และมาตรา 123

          แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ในขณะที่รับจำนองนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 จึงถือว่ารับจำนองโดยไม่สุจริต ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113
 
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2542 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2543 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2544

          ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ยกคำร้อง
          ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

     ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
          ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          ผู้ร้องอุทธรณ์

    ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          ผู้ร้องฎีกา

 ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า อายุความแห่งการร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เริ่มนับแต่เมื่อใด เห็นว่า การเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 เป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำกับผู้ได้ลาภงอก แต่เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลายได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ กรณีเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษในอันที่จะกระทำการแทนเจ้าหนี้เพื่อรักษาสิทธิของเจ้าหนี้และเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เข้ากองทรัพย์สินและนำมาแบ่งปันให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย ฉะนั้น อายุความที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมจะต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นเกณฑ์พิจารณา โดยไม่ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นเวลาแรกเริ่มต้นนับอายุความ การยื่นคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงต้องกระทำภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ประการสำคัญในขณะทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้น จะต้องมีผู้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งต้องเสียเปรียบจากการกระทำของลูกหนี้อยู่ก่อนแล้ว หากขณะทำนิติกรรมนั้นมีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้ทุกรายย่อมเป็นเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียเปรียบต่อการทำนิติกรรมของลูกหนี้นั้นด้วยกันหมดทุกคน การนับอายุความในการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลแทนเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องแต่ละราย จึงต้องเริ่มนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้น ๆ ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลเหตุให้เพิกถอนเป็นเกณฑ์ ดังนั้น คำร้องที่ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 จึงต้องบรรยายด้วยว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ มิฉะนั้นต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งทำให้โจทก์รายเดียวต้องเสียเปรียบเท่านั้น คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องระบุว่า ผู้ร้องทำการสอบสวนตามคำร้องของบริษัทอัลฟาเทค อิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 40 ที่ยื่นต่อผู้ร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ผู้ร้องสอบสวนแล้วได้ความตามคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการฉ้อฉลในคดีล้มละลาย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกระทำการแทนเจ้าหนี้รายที่ 40 โดยเฉพาะในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้ เพิกถอนการฉ้อฉลภายในอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายมาโนช ทนายเจ้าหนี้รายที่ 40 พยานผู้ร้องว่า เจ้าหนี้รายที่ 40 เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ในมูลหนี้ละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเกิดจากจำเลยที่ 2 กับพวกเบียดบังเงินของเจ้าหนี้รายที่ 40 ไปเป็นของตนเองกับพวกโดยทุจริตตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2540 ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 40 เสียหาย จึงขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อผู้ร้องเป็นต้นเงิน 256,954,844.73 บาท และดอกเบี้ย 5,233,391.06 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 24,490,346,663.79 บาท ตามคำขอรับชำระหนี้ อันเป็นมูลหนี้เดียวกับหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2543 พยานได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความของธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) จำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 9039/2543 ระหว่าง นางอุรารัตน์ อัศวโชค ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายชวิศ อัศวโชค ที่ 1 และเด็กหญิงเบลล์ อัศวโชค ที่ 2 โจทก์ ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) จำเลย ตามสำเนาใบแต่งทนายความและสำเนาคำฟ้อง พยานจึงทราบถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลคดีนี้ แล้วในวันเดียวกันพยานได้ขออนุญาตจำเลยในคดีดังกล่าวรายงานให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบ ครั้นวันที่ 19 มีนาคม 2544 เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้มอบอำนาจให้พยานยื่นคำร้องต่อผู้ร้องขอให้ผู้ร้องดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเป็นคดีนี้ ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงว่าเจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการฉ้อฉลตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้รายที่ 40 ได้รับรายงานจากนายมาโนช ทนายความ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ธันวาคม 2544 จึงยังอยู่ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รายที่ 40 ทราบต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน คดีจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความเพราะธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้อีกรายหนึ่งได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันยื่นคำร้องขอให้เพิกถอน จึงให้ยกคำร้อง และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 ว่า จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนหย่ากับผู้คัดค้านที่ 1 และได้แบ่งสินสมรสตอนจดทะเบียนหย่าแล้ว แสดงว่าผู้ร้องรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลเหตุให้เพิกถอน ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องให้เจ้าหนี้ร้องขอ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเกินกว่า 1 ปี จึงขาดอายุความ และพิพากษายืนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลของผู้ร้องมิได้เกิดจากที่ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) ร้องขอต่อผู้ร้อง และจากการที่ผู้ร้องสอบสวนจำเลยที่ 2 ก็ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนหย่ากับผู้คัดค้านที่ 1 และแบ่งสินสมรสกันเท่านั้น ยังไม่ชัดเจนถึงขนาดว่าการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น สำหรับปัญหาตามประเด็นข้ออื่นที่ศาลล้มละลายกลางยังมิได้วินิจฉัยนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ดังนั้น เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยอีก

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จะต้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับเด็กชายชวิศ และเด็กหญิงเบลล์ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ผู้แทนโดยชอบธรรมตามคำร้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 2 ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 อันเป็นการยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 2 นำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน)ให้แก่เด็กชายชวิศและเด็กหญิงเบลล์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 แล้วต่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ปิดบัญชีเดิมและนำเงินของตนเพิ่มเติมสมทบเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ที่ธนาคารดังกล่าวให้แก่เด็กชายชวิศและเด็กหญิงเบลล์โดยผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการกระทำในช่วงเวลาจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ซึ่งมีภาระหนี้ที่จำเลยที่ 2 อาจต้องรับผิดแก่เจ้าหนี้รายที่ 40 ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นเงินกว่า 14,000,000,000 บาท หรือตามที่ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เป็นเงินกว่า 24,000,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ว่าการทำนิติกรรมยกทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน และการนำเงินของตนไปเปิดบัญชีเงินฝากในนามเด็กชายชวิศและเด็กหญิงเบลล์โดยผู้คัดค้านที่ 1 ในช่วงเวลาดังกล่าวย่อมเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ ข้อที่จำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบอ้างว่า การที่จำเลยที่ 2 ยกทรัพย์สินอันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อผู้คัดค้านที่ 1 จะได้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถืออยู่ในบริษัทต่าง ๆ นั้น ไม่มีเหตุผลน่าเชื่อเพราะขณะนั้นการดำเนินงานของเจ้าหนี้รายที่ 40 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและมีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่นั้น กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต่อมาเจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่ง ส่วนบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ถือหุ้นอยู่มีผลประกอบการขาดทุนสะสม ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวถูกโจทก์ฟ้องและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้ สำหรับบริษัทอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 2 ถือหุ้นอยู่นั้น มีลักษณะเป็นบริษัทในเครือเดียวกันซึ่งได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจหลายประเภท มีการจัดตั้งบริษัทหลายแห่ง ในการดำเนินการส่วนใหญ่ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเป็นเงินประมาณ 50,000,000,000 บาท โดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน จนกระทั่งกลางปี 2540 รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท กระทรวงการคลังห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมการเงินทำให้บริษัทต่าง ๆ ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ธุรกิจหยุดชะงักและไม่สามารถชำระหนี้ได้จนถูกโจทก์ฟ้องล้มละลายคดีนี้ แสดงว่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถืออยู่ในบริษัทต่าง ๆ นั้น ไม่น่าจะมีมูลค่าตามราคาที่ตั้งไว้อันเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 2 จะต้องถือหุ้นไว้เองตามที่อ้าง และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าจะระบุเรื่องหุ้นไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าดังกล่าวเสียให้ชัดเจนเพื่อมิให้เกิดปัญหากับผู้คัดค้านที่ 1 ในภายหลัง แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ การที่จำเลยที่ 2 นำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารให้แก่บุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์เพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตรทั้งสองในอนาคตนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการเบิกถอนเงินจากบัญชีเดิมของบุตรทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 มีอำนาจเบิกถอนบัญชีละจำนวน 10,000,000 บาทซึ่งเปิดไว้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งต่อมามีการปิดบัญชีและนำเงินของจำเลยที่ 2 อีกบางส่วนสมทบและเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 2 ได้ขอเปิดบัญชีใหม่ให้แก่บุตรทั้งสองโดยผู้คัดค้านที่ 1 มีอำนาจเบิกถอนบัญชีละจำนวน 24,900,000 บาท ปรากฏว่าการเปิดบัญชีเงินฝากทั้งสองครั้งอยู่ในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อเจ้าหนี้รายที่ 40 ซึ่งเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2540 ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามสำเนาคำพิพากษา การนำเงินเข้าฝากให้แก่บุตรทั้งสองเพิ่มเติมเป็นจำนวนมากถึงบัญชีละ 24,900,000 บาท ย่อมเกินเลยไปกว่าความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรแต่ละคน ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ฟังได้ว่านิติกรรมการตกลงแบ่งทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อผู้คัดค้านที่ 1 รวมทั้งนิติกรรมการให้ ซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อเด็กชายชวิศและเด็กหญิงเบลล์ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอก เป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้รายที่ 40 ต้องเสียเปรียบ เมื่อเป็นการทำให้โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้วที่ผู้ร้องจะขอเพิกถอนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 นิติกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 50873 ตำบลบางชัน อำเภอคลองสามวา (มีนบุรี) กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 10615, 10441 และ 10442 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นการกระทำที่สืบเนื่องจากบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน จึงต้องถูกเพิกถอนด้วย แม้ว่าทรัพย์สินตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าอาจเป็นสินสมรสที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แต่กรณีเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเมื่อมีการขายทรัพย์สินในชั้นบังคับคดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 19 วรรคสาม และมาตรา 123 ในกรณีที่การเพิกถอนไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องชดใช้ราคาแทน ซึ่งผู้ร้องระบุในคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 50873, 10615, 10441 และ 10442 มีราคาเป็นเงิน 32,060,600 บาท 9,675,000 บาท 10,212,500 บาท และ 13,510,600 บาท ตามลำดับ ส่วนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 2 ถนนสามวา แขวงบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร มีราคาเป็นเงิน 30,000,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้นำสืบหักล้างว่าราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวผู้ร้องกำหนดราคาไม่ถูกต้อง หรือสูงไปกว่าความเป็นจริงอย่างไร จึงต้องฟังว่าราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ร้องระบุมานั้นถูกต้องเหมาะสมแล้ว และผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องชดใช้ดอกเบี้ยจากราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอน อันถือว่าเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

            มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จะต้องเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง ผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ตามคำร้องหรือไม่ เห็นว่า นิติกรรมที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนได้แก่ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10442 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี(เมือง) กรุงเทพมหานคร เป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2540 ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาจำนอง ซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นพี่น้องกันและร่วมสมคบกันรับจำนองที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริต ทำให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 เสียเปรียบ ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนมาจากจำเลยที่ 2 โดยการฉ้อฉลดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกย่อมได้รับการคุ้มครองหากได้สิทธินั้นมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้มาก่อนที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 เมื่อนิติกรรมการจำนองรายนี้เบื้องต้นเป็นการจำนองที่ดินรวม 3 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 10615, 10442 และ 10441 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นประกันหนี้ที่ผู้คัดค้านที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 60,000,000 บาท และต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดิน 2 แปลง คงเหลือติดจำนองเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 10442 ในวงเงิน 35,000,000 บาทแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้กู้ยืมเงินที่จำนองเป็นประกันยังไม่ครบถ้วน การจำนองดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่เชื่อได้ว่าเสียค่าตอบแทนและได้กระทำก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล คงมีปัญหาประการเดียวว่า ผู้คัดค้านที่ 2 จดทะเบียนรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่10442 ไว้โดยสุจริตหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งในขณะที่ ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองจากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รู้ถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ในปัญหานี้ผู้ร้องมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายมาโนช ทนายเจ้าหนี้รายที่ 40 และของนายเรวัต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพยานว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เจ็บป่วยก็ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รักษาพยาบาล ตามสำเนาใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องขอเลื่อนคดีของศาลแรงงานกลาง 55 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีความสนิทคุ้นเคยกับญาติของผู้คัดค้านที่ 1 พฤติการณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของจำเลยที่ 2 เป็นพยานว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่ชายผู้คัดค้านที่ 1 จำเลยที่ 2 รู้จักผู้คัดค้านที่ 2 มาก่อนแต่งงานกับผู้คัดค้านที่ 1 โดยผู้คัดค้านที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การดูแลรักษาเวลาจำเลยที่ 2 เจ็บป่วยมาโดยตลอด ผู้คัดค้านที่ 2 ยังมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นพยานว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 หย่าขาดจากจำเลยที่ 2 แล้วผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีรายได้อื่นใดนอกจากการให้เช่าสถานที่บริเวณบ้านถ่ายทำละครโทรทัศน์ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงแนะนำว่าหากต้องการมีรายได้ทางอื่นก็จะช่วยเหลือโดยนำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและซื้อหุ้นที่โรงพยาบาลธนบุรีซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ถือหุ้นอยู่ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนองที่ดินไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากมีรายได้จะนำมาให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เลี้ยงดูบุตรต่อไป แต่ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดีหุ้นมีราคาตก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงแจ้งต่อผู้คัดค้านที่ 2 ว่า จะไม่ให้ผู้คัดค้านที่ 2 นำเงินไปลงทุนและดำเนินการไถ่ถอนจำนอง คงเหลือไว้บางส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำไปลงทุนแล้วเท่านั้น การจำนองระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองกระทำโดยสุจริต มิฉะนั้นก็คงไม่ไถ่ถอนจำนอง และผู้คัดค้านที่ 2 มีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายจิติพจน์ เป็นพยานว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีศักดิ์เป็นน้าของพยาน ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ดูแลรักษาจำเลยที่ 2 ในยามเจ็บป่วย ไม่เคยประกอบธุรกิจกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 หย่าขาดจากผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวโดยถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวของผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ยังให้การรักษาพยาบาลแก่จำเลยที่ 2 ทุกครั้งที่จำเลยที่ 2 ไปพบ เห็นว่า ผู้ร้องนำสืบถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 2 ว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่ชายผู้คัดค้านที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปให้ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์รักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย พฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ที่รู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 2 ยังเป็นพี่ชายผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเคยเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 น่าจะอยู่ในฐานะที่ควรจะรู้ถึงการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ในบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่อมทราบถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่มีต่อบริษัทต่าง ๆ อันเป็นธุรกิจของจำเลยที่ 2 ในเมื่อที่ดิน 3 แปลง ที่ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2540 ไม่ได้มีชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์มาก่อน หากแต่ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนมาจากจำเลยที่ 2 โดยอาศัยบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สิน ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายจิติพจน์พยานผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ก่อนจดทะเบียนหย่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาปรึกษาพยานและผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งพยานและผู้คัดค้านที่ 2 ได้ห้ามปรามหลายครั้งเพื่อให้เห็นแก่บุตรทั้งสอง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก่อนจดทะเบียนรับจำนอง ผู้คัดค้านที่ 2 น่าจะสอบถามมูลเหตุถึงการที่จำเลยที่ 2 ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และความจำเป็นที่จะต้องจำนอง หากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาเด็กชายชวิศและเด็กหญิงเบลล์บุตรทั้งสองไม่ได้ประสบปัญหามีหนี้สินล้นพ้นตัว เหตุใดผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องมาขอความช่วยเหลือจากผู้คัดค้านที่ 2 กรณีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าในขณะที่ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการรับจำนองโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงชอบที่จะขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10442 เสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113

            พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าในเรื่องแบ่งทรัพย์สินลงวันที่ 20 มิถุนายน 2540 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 9324 และ 9325 ซึ่งปัจจุบันรวมเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 50873 ตำบลบางชัน อำเภอคลองสามวา (มีนบุรี) กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 10615, 10441 และ 10442 ตำบลบางชัน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 2 ถนนสามวา แขวงบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร กลับเป็นชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังเดิม และเพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10442 ตำบลบางชันอำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร ระหว่างผู้คัดค้านทั้งสอง หากกลับคืนสู่ฐานะเดิมไม่ได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ราคาแทน ที่ดินโฉนดเลขที่ 50873, 10615, 10441 และ 10442 เป็นเงิน 32,060,600 บาท 9,675,000 บาท 10,212,500 บาทและ 13,510,600 บาท ตามลำดับ และบ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 2 เป็นเงิน 30,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลให้เพิกถอนจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้เพิกถอนการฝากเงินที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) บัญชีเลขที่ 055-3-00642-6 ชื่อบัญชีเด็กชายชวิศ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ผู้แทนโดยชอบธรรม จำนวนเงิน 24,
 
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 

   มาตรา 19 คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย

   ในการยึดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใดๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้นๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่นๆ ตามที่จำเป็น

   ทรัพย์สินต่างๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น
ป.พ.พ. มาตรา 237, 238, 240

มาตรา 113 การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง

มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

มาตรา 123 ทรัพย์สินซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้มา เมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด
การขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เว้นแต่ ทรัพย์สินที่เป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินนั้น
ผู้ได้รับโอนทรัพย์สินจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขายหรือการแบ่ง ไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรหรือจังกอบสำหรับปีก่อนที่ได้รับโอน




คดีล้มละลาย