ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ครอบครองโดยสำคัญผิดได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์หรือไม่?

ครอบครองโดยสำคัญผิดได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์หรือไม่?

ในคดีนี้เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินที่ผู้ซื้อได้ซื้อที่ดินจากผู้ขายรายหนึ่งซึ่งมีสภาพรั้วรอบขอบชิดและมีการถมดินสูงกว่าที่ดินข้างเคียง หลังจากได้ซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์กันเรียบร้อยแล้วก็เข้าทำประโยชน์ ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เกิน 10 ปี ต่อมาที่ดินข้างเคียงไปขอรังวัดสอบเขตที่ดินปรากฏว่าที่ดินของตนหายเข้าไปในที่ดินของผู้ซื้อรายนี้ถึง 16 ตารางวาเศษ โดยเข้าใจว่าที่ดินที่ล้อมรั้วนั้นคือที่ดินที่ซื้อมาทั้งหมด ถามว่าอย่างนี้เป็นการครอบครองปรปักษ์โดยสำคัญผิดจะได้กรรมสิทธิ์ตาม มาตรา 1382 หรือไม่?
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4182/2554
 
  จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้

มาตรา 1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
 
          โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 27254 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสองปรากฏว่าที่ดินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางทิศเหนือ ไม่ได้ทับกันแต่การครอบครองของจำเลยทั้งสองได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 16.6 ตารางวา เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนไกล่เกลี่ยแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิด ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ มีผู้จะซื้อและนัดจดทะเบียนที่ดินของโจทก์ทั้งสองราคาตารางวาละ 10,000 บาท แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกันได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับเงิน 3,090,000 บาท โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงิน 19,312 บาท ต่อเดือน หรือโจทก์ทั้งสองอาจนำที่ดินให้เช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือน แต่ขอคิดเพียง 10,000 บาท ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารย้ายออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยส่งมอบที่ดินเนื้อที่ 16.6 ตารางวา คืนแก่โจทก์ทั้งสองและห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 10,000 บาท นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินคืน

          จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ซึ่งเดิมเป็นของนายนิวัตร์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534 นายนิวัตร์ให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542 นายนิวัตร์ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองโฉนดเลขที่ 27254 โดยซื้อจากนางสาวสัยรัตน์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 แล้วจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16.6 ตารางวาของโจทก์ทั้งสอง โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในที่ดินส่วนที่พิพาทโฉนดเลขที่ 17146 เนื้อที่ 16.6 ตารางวา ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกโจทก์ทั้งสอง) ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง

          โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอยู่ติดกันมีเพียงต้นมะพร้าวเป็นแนวแบ่งเขต แต่หาหลักหมุดไม่พบ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วเพิ่งรู้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองรุกล้ำแนวเขตที่ดินพิพาทเมื่อปลายปี 2544 จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในส่วนที่รุกล้ำเนื้อที่ 16.6 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 1,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยกเสีย

          จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16.6 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง คำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

          โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุผลสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้ฎีกา และคำร้องขออนุญาตยื่นคำแก้ฎีกาอ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้อาศัยอยู่ที่ภูมิลำเนาตามคำให้การและฟ้องแย้งเนื่องจากจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่จังหวัดสุรินทร์ จำเลยทั้งสองจึงไปอยู่ประจำด้วยกันที่จังหวัดสุรินทร์โดยปิดบ้านไว้ไม่มีคนเฝ้า นานๆจะกลับสักครั้ง เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2541 ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จำเลยทั้งสองกลับบ้านและเพิ่งได้รับหมายนัดและสำเนาฎีกาในวันดังกล่าว มิได้จงใจไม่ยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนด ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องพร้อมสำเนาคำแก้ฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองโดยวิธีปิดหมายแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นให้รวบรวมสำนวนส่งศาลฎีกาโดยไม่ได้สั่งคำร้องขออนุญาตยื่นคำแก้ฎีกาและคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสอง ดังนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยสั่งคำร้องและคำแก้ฎีกาดังกล่าวไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาของโจทก์ทั้งสองไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นแห่งเดียวกับที่ใช้ในคำให้การและฟ้องแย้ง และที่ใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยวิธีปิดหมาย จึงเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากจำเลยทั้งสองย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ย่อมต้องแจ้งต่อศาลเพื่อให้ส่งหมายยังภูมิลำเนาแห่งใหม่ แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้แจ้ง แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีความประสงค์ให้ส่งหมายหรือเอกสารไปยังภูมิลำเนาตามคำให้การและฟ้องแย้ง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ไม่ทราบเรื่องการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จึงไม่รับคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองแต่ให้รับเป็นคำแถลงการณ์

          พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ติดกัน ที่ดินพิพาทแนวเส้นสีแดงเนื้อที่ 16.6 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 27254 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากนางสาวสัยรัตน์ ในสภาพมีรั้วล้อมรอบและถมดินสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โดยเข้าใจว่าเป็นของจำเลยทั้งสอง ด้วยการปลูกต้นมะพร้าวตามแนวรั้วที่รุกล้ำตามภาพถ่ายหมาย ล.3 และแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่เคยรังวัดตรวจสอบแนวที่ดินเพราะเป็นการซื้อทั้งแปลง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองดำเนินการรังวัดจึงทราบว่าแนวรั้วกับต้นมะพร้าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 16.6 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองรู้ว่าแนวรั้วรุกล้ำที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองก็จะไม่ซื้อ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งล้อมรั้วรวมเป็นแปลงเดียวกับที่ดินของจำเลยทั้งสองอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แม้จำเลยทั้งสองจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น ดังนี้ จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยทั้งสองต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ และโจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 




ครอบครองปรปักษ์ทางจำเป็น

ก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์เป็นการละเมิด
ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงในโครงการ
ฟ้องหมู่บ้านจัดสรรให้รื้ออาคารที่จอดรถออกจากถนน
ฟ้องให้รื้อถอนร้านค้าบนทางภาระจำยอม
ปรปักษ์ที่ดินที่ซื้อมายังไม่ได้จดทะเบียนโอน
ครอบครองปรปักษ์ไม่ครบ 10 ปี เปลี่ยนเจ้าของใหม่
ทางจำเป็นมิใช่สิทธิที่ติดกับที่ดินเหมือนทางภาระจำยอม
ทางเดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรร
การใช้ทางแบบคุ้นเคยกันในลักษณะเพื่อนบ้าน