ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




คดีครอบครัวและมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามสี่จังหวัด

คดีครอบครัวและมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามสี่จังหวัด

การดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลักการดังนี้

1.  คำฟ้อง หรือคำร้องขอจะต้องบรรยายให้ปรากฏว่า คู่ความ เจ้ามรดก หรือผู้ร้องขอ เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และคดีที่ฟ้องหรือร้องนั้นเกี่ยวด้วยครอบครัวหรือมรดกซึ่งต้องบังคับตามกฎหมายอิสลาม  เมื่อพนักงานรับฟ้องตรวจฟ้องแล้วก็ให้ดะโต๊ะยุติธรรมตรวจฟ้องอีกครั้ง  ถ้าเห็นว่าเป็นคดีเกียวกับศาสนาอิสลาม  ดะโต๊ะยุติธรรมก็บันทึกที่คำฟ้องหรือคำร้องขอว่า  "ได้ตรวจแล้ว" ต่อไปพนักงานรับฟ้องจะหมายเหตุหน้าฟ้องว่า  "ความศาสนา"  แล้วนำมาเสนอผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อไป

2.  การวินิจฉัยว่าคดีใดเป็นคดีเกี่ยวกับครอบครัวหรือคดีเกี่ยวกับมรดกนั้นในชั้นแรกจะต้องใช้หลักตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อน  เช่น  การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าทรัพย์ใดเป็นมรดก หรือไม่นั้นจะนำลัทธิศานาอิสลามมาใช้บังคับไม่ได้  ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นหลักวินิจฉัย  ฉะนั้น  การที่ผู้ตายทำหนังสือ  (นาชา)  ยกที่ดินให้จำเลยตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่  แม้ตามกฎหมายอิสลามมีว่า  การให้ด้วยหนังสือนาชานี้ใช้ได้  ที่ดินไม่เป็นมรดกต่อไปตามกฎหมายอิสลาม  ไม่แบ่งเป็นมรดกก็ตาม  แต่ปรากฏว่าการยกให้ไม่ถูกแบบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เพราะไม่ได้จดทะเบียน ที่ดินซึ่งยังเป็นของผู้ตายอยู่ในเวลาตาย  จึงต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าที่ดินนี้ยังเป็นมรดกของผู้ตายอยู่ เป็นต้น

3.  การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นของจังหวัดทั้งสี่ทุกครั้งต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา  สำหรับองค์คณะของผู้พิพากษาต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา 26  คือต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก  เช่น  คดีมรดกอันจะต้องบังคับตามกฎหมายอิสลามจะต้องมีดะโต๊ะยุติธรรม  1 นาย นั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา โดยผู้พิพากษาวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ความอย่างไรแล้ว  ให้ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามและลงลายมือชือในคำพิพากษาด้วย  แต่ถ้าหากมีการพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวหรือมรดกดังกล่าวไปโดยมิได้มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาวมกับผู้พิพากษาแล้ว ศาลสูงก็มีอำนาจที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีเสียใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องยกฟ้องโดยให้ไปฟ้องใหม่  นอกจากนี้ถ้าหากคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและมิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปนกัน  หากศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีมาไม่ชอบก็เฉพาะแต่ข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวบังคับเท่านั้น   การพิจารณาพิพากษาคดีในประเด็นข้ออื่นไม่ต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมลงนามร่วมด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5210/2545

  โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอิสลามศาสนิกอยู่ในจังหวัดนราธิวาส โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ จ. บิดาโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดกของ จ. แต่เป็นของ ต. มารดาจำเลยทั้งสอง ซึ่งในการที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่จะนำกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับไม่ได้ต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นหลักวินิจฉัยก่อน ต่อเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นมรดกแล้วจึงจะใช้กฎหมายอิสลามในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทต่อไป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและที่มิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปะปนกันอยู่ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา การพิจารณาคดีจะไม่เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลฯ มาตรา 4 วรรคแรก ก็แต่เฉพาะข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับเท่านั้น การพิจารณาคดีในประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ต. มารดาของจำเลยทั้งสอง หรือเป็นมรดกของ จ. บิดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง และประเด็นข้อพิพาทที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ทั้งสองข้อนี้หาใช่ข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดไม่แม้ดะโต๊ะยุติธรรมจะมิได้ร่วมนั่งพิจารณาด้วย ก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องเสียไปแต่อย่างใดการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

           จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องขอส่วนแบ่งมรดกแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยทั้งสองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและโจทก์ก็ทราบวันเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความว่าหากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของ จ. ก็จะยอมแบ่งให้แก่โจทก์นั้นเป็นเพียงการแสดงความบริสุทธิ์ใจของจำเลยทั้งสองที่ไม่ประสงค์จะฉ้อโกงโจทก์หาใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 ที่ต้องแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งก่อนการฟ้องคดีไม่ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในคดีนี้ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
 
          โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน และเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของนายเจ๊ะแม  เจ้ามรดกกับนางยาตี ส่วนจำเลยทั้งสองและนายเปาะซา  เป็นบุตรของนายเจ๊ะแมกับนางตีเมาะ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534 นายเจ๊ะแมถึงแก่ความตาย ก่อนที่นายเจ๊ะแมตายได้หย่ากับนางตีเมาะมารดาของจำเลยทั้งสองตามหลักศาสนาอิสลามและแบ่งทรัพย์สินระหว่างกัน โดยนายเจ๊ะแมได้รับส่วนแบ่งเป็นที่ดินจำนวน 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือ น.ส.3 ก. เลขที่ 3594 และเลขที่ 3589 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นมรดกคดีนี้ หลังจากนายเจ๊ะแมตายยังไม่มีการแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาท ต่อมาโจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินมรดกของนายเจ๊ะแมให้จัดการแบ่งปันมรดกแก่โจทก์ตามหลักศาสนาอิสลาม แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งปัน โจทก์ร้องเรียนต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเพื่อประนีประนอมในการแบ่งมรดกแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3594 และเลขที่ 3589 เป็นมรดกของนายเจ๊ะแมให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการโอนมรดกที่ดินดังกล่าวทั้ง 2 แปลง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองและให้แบ่งปันมรดกดังกล่าวให้โจทก์ 2 ส่วน จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา

          จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่มรดกของนายเจ๊ะแมแต่เป็นของนางตีเมาะมารดาของจำเลยทั้งสองที่ได้รับส่วนแบ่งในการหย่ากับนายเจ๊ะแม ซึ่งมารดาของจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด ก่อนมารดาของจำเลยทั้งสองจะถึงแก่ความตายได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยทั้งสอง ต่อมานายเจ๊ะแมถึงแก่ความตายได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2594 ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและโจทก์ได้รับมรดกไปตามส่วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้แบ่งปันมรดกของนายเจ๊ะแมอีกเพราะคดีขาดอายุความฟ้องเรียกมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งมรดกจากจำเลยทั้งสองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าการพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาด้วย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 หรือไม่ โดยโจทก์อ้างมาในฎีกาว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองรวม 4 นัด ไม่ปรากฏว่ามีดะโต๊ะยุติธรรมร่วมนั่งพิจารณาด้วย จึงเป็นการดำเนินการพิจารณาที่ไม่ชอบ ส่วนในวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ไม่มีการสืบพยานแม้จะมีดะโต๊ะยุติธรรมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าไม่ชอบและถือว่าไม่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอิสลามศาสนิกอยู่ในจังหวัดนราธิวาส โดยโจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายเจ๊ะแมบิดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนางตีเมาะมารดาของจำเลยทั้งสองที่ได้รับส่วนแบ่งในการหย่ากับนายเจ๊ะแม ไม่ใช่มรดกของนายเจ๊ะแมซึ่งในการที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่จะนำกฎหมายอิสลามมาใช้บังคับไม่ได้ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นหลักวินิจฉัยก่อนต่อเมื่อได้ความว่าทรัพย์สินนั้นเป็นมรดกแล้วจึงจะใช้กฎหมายอิสลามในการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทต่อไป ฉะนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาททั้งที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายอิสลามและที่มิใช่ข้อกฎหมายอิสลามปะปนกันอยู่ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษาการพิจารณาคดีจะไม่เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 มาตรา 4 วรรคแรก ก็แต่เฉพาะข้อพิพาทที่ต้องใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับเท่านั้น การพิจารณาคดีในประเด็นข้ออื่นหาได้อยู่ในบังคับที่ต้องมีดะโต๊ะยุติธรรมร่วมพิจารณาด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางตีเมาะมารดาของจำเลยทั้งสอง หรือเป็นมรดกของนายเจ๊ะแมบิดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง และประเด็นข้อพิพาทที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ ทั้งสองข้อนี้หาใช่ข้อกฎหมายอิสลามที่ดะโต๊ะยุติธรรมจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดไม่ เช่นนี้ แม้ดะโต๊ะยุติธรรมจะมิได้ร่วมนั่งพิจารณาด้วย ก็ไม่ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องเสียไปแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองได้สละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และจำเลยทั้งสองไม่ได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในชั้นพิจารณา ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีอย่างชัดแจ้งว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องขอส่วนแบ่งมรดกแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยทั้งสองเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายและโจทก์ก็ทราบวันเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองก็นำสืบว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 โดยนำสำเนามรณบัตรมาแสดงด้วย จึงเป็นการนำสืบตามข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความแล้วส่วนที่จำเลยทั้งสองเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า หากที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของนายเจ๊ะแมก็จะยอมแบ่งให้แก่โจทก์นั้นเป็นเพียงการแสดงความบริสุทธิ์ใจของจำเลยทั้งสองที่ไม่ประสงค์จะฉ้อโกงโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 ยังเบิกความต่อไปว่าเหตุที่ไม่ยอมแบ่งเนื่องจากเป็นที่ดินของนางตีเมาะตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบและยืนยันตลอดมา หาใช่เป็นการสละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 ที่ต้องแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งก่อนการฟ้องคดีไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนที่โจทก์อ้างมาในฎีกาอีกประการหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ในคดีนี้มีไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้"
          พิพากษายืน
 
 
  ป.พ.พ. มาตรา 193/24, 193/29, 1754

มาตรา 193/24  เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน

มาตรา 193/29  เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

มาตรา 1754  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย


ป.วิ.พ.
มาตรา 248  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้งหรือผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดี ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามวรรคสอง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่จะได้มีความเห็นแย้งหรือคำรับรอง หรือหนังสืออนุญาตให้ฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง


พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489
มาตรา 4 การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นตามความใน มาตรา 3 ให้ดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา
  ให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นด้วย
  คำวินิจฉัยของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น




บรรพ 5 ครอบครัว

แต่งงานแล้วหญิงไม่ยอมร่วมหลับนอน
มีชื่อในสูติบัตรว่าเป็นบิดายังไม่เพียงพอ
สมัครใจและเต็มใจที่จะจดทะเบียนสมรสกัน
รางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล สินสมรสหรือสินส่วนตัว
เรียกค่าทดแทนจากภริยานอกกฎหมาย
มอบสัญญาเงินกู้เป็นของหมั้น สัญญาจะให้ทรัพย์สินเป็นของหมั้น
ไม่มีเจตนาจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เงินที่มอบให้ไม่ใช่ของหมั้นและสินสอด
สินสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย
การสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
การแบ่งสินสมรสตามกฎหมายเดิม