

การสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1458 เป็นโมฆะ การสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1458 เป็นโมฆะ จดทะเบียนสมรสโดยที่ไม่มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรกไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกันไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันละกัน การสมรสดังกล่าวจึงฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2545 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย ได้ดูแลความทุกข์สุข เจ็บป่วยซึ่งกันและกันต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน การที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. แต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อ ช. ป่วย โจทก์เป็นผู้พา ช. ไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้ ช. ไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวและไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลทั้งไม่เคยมาเยี่ยมเยียน ช. เลย เห็นได้ชัดว่าจำเลยกับ ช. มิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด จำเลยเองก็ยังรับว่าไม่อยากไปจดทะเบียนสมรส แต่ ช. เป็นผู้พาไปโดยบอกว่าถ้าไม่จดทะเบียนสมรสแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งก็ปรากฏว่าเมื่อ ช. ถึงแก่กรรมจำเลยเป็นผู้ได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมาจริง แสดงว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ช. โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดเท่านั้น การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สืบสันดานหรือทายาทโดยธรรมของเรือเอกเชิด กับนางทอง จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิด แต่การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนากันหลอก ๆ (เจตนาลวง) เพื่อจำเลยหวังผลประโยชน์อันเป็นบำเหน็จตกทอดของเรือเอกเชิด ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญกองทัพเรือเมื่อเรือเอกเชิดถึงแก่กรรม และขณะจดทะเบียนสมรส เรือเอกเชิดป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ จำเลยเกรงว่าสิทธิในบำเหน็จตกทอดยุติลง จำเลยจึงร้องขอให้เรือเอกเชิดจดทะเบียนสมรสกับตน หลังจากนั้นอีก 38 วัน เรือเอกเชิดก็ถึงแก่กรรม จำเลยจึงอาศัยสิทธิตามทะเบียนสมรสดังกล่าวยื่นแสดงความจำนงต่อกองทัพเรือเพื่อขอรับบำเหน็จตกทอดของเรือเอกเชิดและกองทัพเรือได้จ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่จำเลยไปแล้ว ขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับเรือเอกเชิด เป็นโมฆะ และขอให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสด้วย จำเลยให้การว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิด มิใช่เฉพาะแต่บำเหน็จตกทอดแต่รวมถึงสิทธิในการที่จะรับมรดกด้วย จำเลยไม่ทราบเรื่องเรือเอกเชิดป่วยด้วยโรคมะเร็ง เพราะเรือเอกเชิดปิดบังไว้ตลอดเวลา แต่เพราะความห่วงใยของเรือเอกเชิดว่า จำเลยจะไม่ได้รับสิทธิอย่างใด ๆ ตามกฎหมายจึงจำต้องจดทะเบียนให้ เมื่อเรือเอกเชิดถึงแก่กรรม คงมีโจทก์ จ่าสิบเอกคำรพ และจำเลยเป็นทายาทโดยธรรม โจทก์ได้รับมรดกครบถ้วนและจำเลยฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดกมิได้ฟ้องเรียกเอาส่วนของโจทก์ที่ได้รับไปแล้ว จำเลยจึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ก็คือ การสมรสระหว่างจำเลยกับเรือเอกเชิด เป็นโมฆะหรือไม่ จากการนำสืบของทั้งสองฝ่าย ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2537 ปรากฏตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งการสมรสนั้นจะทำได้ต่อเมื่อจำเลยกับเรือเอกเชิดยินยอมเป็นสามีภริยากัน และการเป็นสามีภริยากันนั้นก็คือทั้งสองคนตกลงจะเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน จึงจำต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาทั้งในทางธรรมชาติและกฎหมาย นั่นก็คือจะได้ดูแลความทุกข์สุขเจ็บป่วยซึ่งกันและกัน ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน จำเลยเบิกความว่าได้อยู่กินฉันสามีภริยากับเรือเอกเชิดก่อนจดทะเบียนสมรสนานประมาณ 5 ปี แต่ในขณะเดียวกันจำเลยกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านของน้องสาวจำเลยมาตั้งแต่ปี 2526 ส่วนเรือเอกเชิดนั้นก็พักอาศัยอยู่บ้านของเรือเอกเชิด ซึ่งจำเลยเคยไปที่บ้านของเรือเอกเชิดหลายครั้งแต่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ด้วยแต่อย่างใด ในปี 2534 ถึง 2535 เรือเอกเชิดต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โจทก์เป็นผู้พาเรือเอกเชิดชายไปโรงพยาบาลและเสียค่ารักษาพยาบาลให้ และยังให้เรือเอกเชิดไปพักอาศัยอยู่ด้วย ส่วนจำเลยคงพักอาศัยอยู่กับน้องสาวเช่นเดิม จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเมื่อนำมาวินิจฉัยเข้ากับคำเบิกความของโจทก์ที่ว่านางทอง มารดาของโจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 ต่อมาปลายปี2535 เรือเอกเชิดป่วย โจทก์ได้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วนำตัวมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านของโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้เรือเอกเชิดอยู่บ้านเพียงลำพังคนเดียว จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2537 เรือเอกเชิดก็ถึงแก่กรรม ได้ความจากโจทก์ต่อไปว่าไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า เรือเอกเชิดได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน จำเลยไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลและไม่เคยมาเยี่ยมเรือเอกเชิด รูปคดีเห็นได้ว่าจำเลยกับเรือเอกเชิดมิได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยอีกว่า จำเลยยังไม่อยากไปจดทะเบียนสมรสจนกระทั่งในตอนหลังเรือเอกเชิด เป็นผู้พาไปจดทะเบียนสมรสเองโดยเรือเอกเชิด บอกว่าหากจำเลยไม่จดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิดแล้วจะไม่มีผู้ใดมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอด เมื่อเรือเอกเชิดถึงแก่กรรม ซึ่งจำเลยก็ได้ไปรับเงินบำเหน็จตกทอดมาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับเรือเอกเชิด โดยมิได้มีเจตนาที่จะเป็นสามีภริยากันมาตั้งแต่แรก หากแต่เป็นการกระทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนั่นก็คือการมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดดังกล่าวนั่นเอง การสมรสของจำเลยจึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น" พิพากษากลับว่า การสมรสระหว่างจำเลยกับเรือเอกเชิด เป็นโมฆะให้แจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส หมายเหตุ การฝ่าฝืนเงื่อนการสมรส กรณีที่กฎหมายระบุว่าให้เป็นโมฆะมีหลายกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495 เช่น สมรสซ้อน (มาตรา 1452) สำหรับตามหัวข้อหมายเหตุนี้ เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขมาตรา 1458 ที่บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงความยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย"ตามบทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นว่าการที่ชายหญิงประสงค์จะเป็นสามีภริยากันโดยต้องจดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 นั้น จะพิจารณาจากการที่ชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสแล้วตามมาตรา 1457 ยังไม่เป็นการเพียงพอว่าจะเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายต้องคำนึงถึงการที่ชายหญิงยินยอมสมัครใจเป็นสามีภริยากันโดยเจตนาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาและอุปการะเลี้ยงดูกันด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1461) เช่นเดียวกันกับสามีภริยาทั่วไป ดังนั้น หากไม่มีเจตนาหรือความประสงค์ที่จะเป็นสามีภริยากันจริง ๆ แล้ว แม้จดทะเบียนสมรสกันก็ย่อมทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 1495) แม้ว่าการสมรสเช่นนี้จะต้องมีคำพิพากษาเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ตาม (มาตรา 1496) แต่ผลกระทบอย่างอื่นแม้ยังไม่มีคำพิพากษาเช่นว่านั้นก็เกิดขึ้นแล้วนับแต่จดทะเบียนสมรส คือไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา (มาตรา 1498 วรรคหนึ่ง) กล่าวคือจะนำบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เช่น สินส่วนตัว สินสมรส มาใช้บังคับไม่ได้และรวมถึงหลักการเรื่องหนี้ร่วมของสามีภริยาที่ก่อขึ้นระหว่างสมรสตามมาตรา 1490 ด้วย ดังจะเห็นได้จากความในมาตรา 1498 วรรคสองที่ว่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ดังนี้เมื่อเปรียบกับหลักเรื่องสินสมรสแล้วจะเห็นว่าแตกต่างกันมาก กล่าวคือการเป็นสามีภริยาตามปกติแล้วทรัพย์สินถ้าได้มาหรือมีมาก่อนสมรสย่อมเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย แต่ถ้าได้มาระหว่างสมรส ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ทำมาหาได้ก็ตามย่อมเป็นสินสมรสของสามีภริยา รวมทั้งดอกผลของสินส่วนตัวของฝ่ายใดก็ตาม ก็เป็นสินสมรส (มาตรา 1474(3)) แต่การสมรสกรณีตามมาตรา 1458 นี้ เมื่อไม่มีความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามความในมาตรา 1498 วรรคหนึ่งแล้ว ปัญหาว่าทรัพย์สินที่เกิดขึ้นมาในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะนั้น จะมีหลักการพิจารณาว่าทรัพย์สินเหล่านั้นสามีภริยาดังกล่าวจะมีส่วนในทรัพย์สินนั้นอย่างไร เรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1498 วรรคสองกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้ ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่งฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่อาจนำหลักการเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1470 และต่อ ๆ ไปมาใช้บังคับได้เลย และส่วนที่ทำมาหาได้ร่วมกันก็กล่าวไว้เฉพาะว่าให้แบ่งคนละครึ่งเท่านั้น ในส่วนนี้คงต้องนำหลักเจ้าของร่วมมาใช้บังคับเป็นสำคัญ คดีตามหัวข้อหมายเหตุแสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าชายหญิงไม่มีเจตนาเป็นสามีภริยากัน เป็นกรณีศึกษาที่ศาลฎีกาได้วางหลักการวินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้โดยมีหลักวิชาตรรกวิทยาแสดงเป็นเหตุเป็นผลที่ดี หลักการเช่นนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1127/2536 วินิจฉัยว่า การที่นาย บ. คนสัญชาติญวนอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 2 จนมีบุตรด้วยกันสามคน แล้วจำเลยที่ 2ไปขอจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างนาย บ. โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่ามีเจตนาจะสมรสกัน และต่างไม่เคยมีคู่สมรสมาก่อนนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดจากเจตนาอันแท้จริง ไม่น่าเชื่อว่าจะยินยอมเป็นสามีภริยากัน กรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1496 วรรคสองตัวอย่างคดี ข้อเท็จจริงได้ความว่าทั้งชายและหญิงต่างมีภริยาและสามีอยู่แล้ว แม้มิได้สมรสกันก็ตาม อันแสดงให้เห็นว่าจดทะเบียนสมรสกันโดยมิได้มีเจตนาเป็นสามีภริยากันแต่อาจมีเจตนาเพื่อประโยชน์อย่างอื่น การสมรสจึงเป็นโมฆะ ในการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญต่อสถาบันครอบครัวและอาจโยงไปถึงความสัมพันธ์ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเสียภาษีเงินได้ของสามีภริยาตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ตรี ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2545 วินิจฉัยเป็นกรณีศึกษาดังนี้ "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นสามีนาง จ. เมื่อปีภาษี 2539นาง จ. ได้รับเงินจำนวน 11,300,000 บาท จากจำเลยที่ 4 ซึ่งนาง จ. ฟ้องโจทก์กับพวก 5 คน เป็นคดีแพ่งขอเพิกถอนนิติกรรม โจทก์มิได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีรายได้ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด. 12) ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2539 เพิ่มเติมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,330,476 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และยื่นฟ้องนาง จ. ต่อศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ขอให้พิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับนาง จ. เป็นโมฆะเนื่องจากนาง จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วในขณะที่สมรสกับโจทก์ วันที่ 3 กันยายน 2542 ศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับนาง จ. เป็นโมฆะ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ชำระค่าภาษีกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นจำนวน 5,726,433.51 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินจำนวน 11,300,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์กับนาง จ. เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452ประกอบมาตรา 1495 เนื่องจากนาง จ. มีคู่สมรสอยู่แล้วในขณะที่สมรสกับโจทก์มีผลเท่ากับโจทก์กับนาง จ. มิได้เป็นสามีภริยากันมาแต่แรก จึงไม่อาจถือว่ามีเงินได้จำนวน11,300,000 บาท ที่นาง จ. ได้รับมาเป็นเงินได้ของโจทก์ตามความในมาตรา 57 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีสำหรับเงินได้จำนวนนี้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น" คำพิพากษาศาลฎีกากรณีนี้ แม้เป็นเรื่องสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ก็ตามแต่ความสัมพันธ์ในเรื่องทรัพย์สินว่าจะมีลักษณะอย่างไร ก็ต้องนำหลักเรื่องความเป็นโมฆะแห่งการสมรสในกรณีอื่นมาใช้บังคับด้วย กล่าวคือต้องพิจารณาจากมาตรา 1498เช่นกัน ผลก็คือเมื่อการสมรสระหว่างชายและหญิงเป็นโมฆะแล้ว กรณีหญิงมีเงินได้ก็ไม่อาจถือเอาเงินได้พึงประเมินของหญิงเป็นเงินได้ของสามีได้ และสามีย่อมไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีตามความในประมวลรัษฎากรมาตรา 57 ตรี เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นผลกระทบมาจากการสมรสที่เป็นโมฆะ การศึกษากรณีตามมาตรา 1458 นี้ ควรพิจารณาประกอบกรณีการสมรสเพราะถูกข่มขู่ตามมาตรา 1507 ด้วย เนื่องจากผลในกฎหมายแตกต่างกันมาก ทั้งนี้กรณีตามมาตรา 1507 นั้น การสมรสเป็นเพียงโมฆียะ และไม่มีผลกระทบต่อการสมรสแต่อย่างไรเพียงแต่อาจถูกฟ้องขอให้เพิกถอน ซึ่งทำให้การสมรสสิ้นสุดลงเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501,1502 และมาตรา 1503 แสดงว่าการสมรสกรณีตามมาตรา 1507 ถือว่าการสมรสมีผลสมบูรณ์มาแต่แรกจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอน การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 จะต้องมีคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เหตุนี้การสมรสอันฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจึงมิใช่ข้อแสดงในตัวเองว่าเป็นโมฆะ (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 250/2503) ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ชายหญิงแต่งงานตามประเพณีแล้วอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ย่อมทำให้มีฐานะของสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1251/2500) แม้ภายหลังใช้บรรพ 5 แล้วจะเพิ่งมีการจดทะเบียนสมรสกันแทนการบันทึกฐานะการเป็นสามีภริยา ก็ไม่มีผลให้การสมรสแต่เดิมสิ้นสุดลง และสามารถนำสืบถึงการเป็นสามีภริยากันก่อนจดทะเบียนสมรสได้ไม่ถือว่าเป็นการสืบแก้ไขเอกสาร (ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 57/2487) แต่เนื่องจากต้นฉบับใบสำคัญการสมรสเป็นเอกสารมหาชน เพราะเป็นเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนใช้อ้างอิง จึงสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127(คำพิพากษาฎีกาที่ 235/2538) เมื่อพิจารณาถึงลำดับของการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียจนถึงเมื่อใช้บรรพ 5 แล้ว จะเห็นได้ว่า การที่จะเป็นสามีภริยานั้นต้องเกิดจากความยินยอมและมีเจตนาที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเป็นเบื้องต้น ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นแบบพิธีที่แสดงถึงความมีอยู่ของฐานะการเป็นสามีภริยาหรือไม่ (มาตรา 1457) เพื่อให้มีการรับรู้และตรวจสอบโดยนายทะเบียน การแสดงเจตนายินยอมเป็นสามีภริยากันจึงต้องกระทำให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมของชายและหญิง (มาตรา 1458) แต่กระนั้นก็ตามอาจมีการนำสืบเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะเพราะปราศจากความยินยอมก็ได้ ทั้งเป็นภาระการพิสูจน์ของฝ่ายที่กล่าวอ้าง ประกอบกับกรณีที่จำเลยได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ดังกล่าวนอกจากนี้แม้ชายหญิงเคยถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานว่ามีเจตนาจะสมรสกันและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย แต่การฟ้องในคดีแพ่งขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสของชายหญิงดังกล่าวเป็นโมฆะไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จ จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา และมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1127/2536) การนำสืบเพื่อให้ศาลเห็นว่า ชายหญิงมิได้มีเจตนาสมรสกันจริงมักเชื่อมโยงไปถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดการจดทะเบียนสมรส แต่ระดับของมูลเหตุจูงใจดังกล่าวจะต้องชี้ให้เห็นได้ว่าถึงขนาดไม่มีเจตนาสมรสกันเลย โดยอาศัยพฤติการณ์เป็นสิ่งประกอบการนำสืบดังเช่นคดีนี้ ซึ่งจำเลยไม่เคยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ตายก่อนสมรสผู้ตายป่วยเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย และตายหลังจากจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเพียง 1 เดือนเศษ โดยจำเลยกับผู้ตายไม่เคยพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่เคยดูแลพาผู้ตายไปรักษาที่โรงพยาบาล และไม่เคยออกค่ารักษาพยาบาลให้ ตามรูปคดีดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยไม่มีเจตนาที่จะสมรสกันมาตั้งแต่แรกอันเป็นการสอดคล้องกับเหตุผลในทางธรรมชาติและกฎหมายดังที่วินิจฉัยแล้ว ข้อน่าคิดคือ การจดทะเบียนสมรสโดยหลอก ๆ เช่นนี้น่าจะไม่ต้องใช้หลักการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมตามหมวด 2 ของบรรพ 1 ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในเรื่องการแสดงเจตนาซ่อนเร้น (มาตรา 154) หรือการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมกัน(มาตรา 155 วรรคหนึ่ง) เพราะหากชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีเจตนาที่จะสมรสอย่างแท้จริง เพียงแต่แสดงความยินยอมให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนเพื่อลวงให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมและจดทะเบียนสมรสให้ ก็นับเป็นเหตุที่ถือว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขตามมาตรา 1458 ที่ศาลจะพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะได้ตามมาตรา 1496 ประกอบมาตรา 1495 เช่นกัน สำหรับเงินบำเหน็จตกทอดที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งพึงจะได้รับเมื่อข้าราชการนั้นถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 48 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 14 พ.ศ. 2526 และฉบับที่ 16 พ.ศ. 2539 สิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดจึงเกิดจากความตายของข้าราชการ มิใช่ทรัพย์สินของข้าราชการนั้นที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 4/2505, ที่ 1586/2517, ที่ 1056/2525) แต่เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้สามีหรือภริยาของข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดร่วมกับบุตรและบิดามารดาของข้าราชการที่ตายด้วย จึงนับว่าเป็นสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสประการหนึ่ง ซึ่งหากสมรสโดยสุจริตก็ไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มานั้นก่อนคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ (มาตรา 1499 วรรคหนึ่ง) แต่หากสมรสโดยไม่สุจริต แม้จะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดจากทางราชการไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้มีสิทธิคนอื่นอันเป็นไปตามหลักลาภมิควรได้และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 44 วรรคสองหรือที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2539 มาตรา 48 วรรคสอง คดีนี้จำเลยได้รับเงินบำเหน็จตกทอดจากกองทัพเรือที่ผู้ตายสังกัดอยู่แล้ว แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายมิได้ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนมาด้วย จึงไม่มีประเด็นให้ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยไปถึง พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา,ชาติชาย อัครวิบูลย์ |