

แต่งงานแล้วหญิงไม่ยอมร่วมหลับนอน ไม่มีเจตนาสมรส, ทรัพย์สินที่ให้แก่กันไม่ใช่ของหมั้น, ไม่ใช่สินสอด, ไม่มีสิทธิเรียกคืน การแต่งงานโดยวิธีผูกข้อมือแสดงว่ามิได้มีเจตนาจะทำการสมรสโดยจดทะเบียน ทรัพย์สินที่มอบให้ฝ่ายหญิงจึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่มอบให้เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกัน และไม่ใช่สินสอดเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้แก่บิดามารดาของหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิง ยอมสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน ส่วนการที่หญิงไม่ยอมให้ร่วมหลับนอนนั้นเป็นสิทธิของหญิงเพราะการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากับชาย ไม่เป็นการละเมิดต่อชายหรือผิดสัญญาหมั้นไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2540 โจทก์ตกลงแต่งานกับจำเลยที่ 3 โดยวิธีผูกข้อมือแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้มีเจตนาจะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1457 ดังนั้นทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับจำเลยที่ 3 และไม่ใช่สินสอดเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 บิดามารดาของจำเลยที่ 3 เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 3 ยอมสมรสตามมาตรา 1437 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน การที่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมหลับนอนนั้นเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 เพราะการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่3จะทำได้ต่อเมื่อจำเลยที่3ยินยอมเป็นสามีภริยากับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1457 การที่จำเลยที่ 3 ไม่ยินยอมหลับนอนกับโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือผิดสัญญาหมั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439 และมาตรา 1440 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2538 โจทก์แต่งงานโดยวิธีผูกข้อมือกับจำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ 3 ยินยอม โจทก์เสียเงินสินสอด 20,000 บาททองหมั้นหนัก 2 บาท ราคา 10,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 3ได้รับทรัพย์รับไหว้จากญาติเป็นเงิน 7,739 บาท เป็นส่วนของโจทก์ 2,369.50 บาท โจทก์เสียค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสเป็นเงิน 6,600 บาท ครั้นโจทก์ไปบ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขัดขวางไม่ยอมให้ขึ้นบ้านเพื่อหลับนอนฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์รับความอับอายขอคิดค่าเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องคืนสินสอดทองหมั้นและทรัพย์รับไหว้ส่วนของโจทก์กับชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสเป็นเงิน 6,600 บาทโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนเงินสินสอด 20,000 บาท ทองหมั้นหนัก 2 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 10,000 บาท ทรัพย์รับไหว้ 2,369.50 บาท กับชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรส 6,600 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 58,696.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำละเมิดโจทก์รวมทั้งไม่ถือว่ามีการผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ยกฟ้อง โจทก์ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รับฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่าผูกข้อมือจำนวน 2,369.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ไว้พิจารณาต่อไป และมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินสินสอด ทองหมั้น และค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามขอให้ศาลฎีกาสั่งรับฟ้องของโจทก์ทั้งหมด ปรากฏว่า โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2538 โจทก์ได้แต่งงานโดยวิธีผูกข้อมือกับจำเลยที่ 3 โดยเสียสินสอดไป 20,000 บาท ทองหมั้นหนัก 2 บาท คิดเป็นเงิน 20,000 บาทจำเลยที่ 1 และที่ 2 กีดกันไม่ให้โจทก์หลับนอนกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมหลับนอนกับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าสินสอดและทองหมั้นให้โจทก์ เห็นว่า โจทก์ตกลงแต่งงานกับจำเลยที่ 3 โดยวิธีผูกข้อมือแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้มีเจตนาจะทำการสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 ฉะนั้น ทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์มอบให้จำเลยทั้งสามเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับจำเลยที่ 3 และไม่ใช่สินสอดเพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 บิดามารดาของจำเลยที่ 3 เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 3 ยอมสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน ส่วนการที่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมหลับนอนนั้นเป็นสิทธิของจำเลยที่ 3 เพราะการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 จะทำได้ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ยินยอมเป็นสามีภริยากับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 การที่จำเลยที่ 3 ไม่ยินยอมหลับนอนกับโจทก์ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ หรือผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 และมาตรา 1440 พิพากษายืน
|