ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




การกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว

  การกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว

จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยใหม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติในภายหลัง ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ได้ ดังนั้น การกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว จะต้องมีพฤติการณ์ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเท่านั้น คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เฉพาะขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาใหม่ โดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษจึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดบทกำหนดโทษตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว ประเด็นการกำหนดบทกำหนดโทษย่อมเป็นอันยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่อาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยการปรับบทกำหนดโทษจำเลยอีกครั้งหนึ่งและปรับบทกำหนดโทษเสียใหม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาแต่ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้ยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่นำไปรวมไว้เป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่กำหนดโทษหนักเบาตามพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ ไม่ถือเอาปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2566

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาใหม่ โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) โดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 จึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เช่นนี้ การกำหนดบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 ย่อมเป็นอันยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก คงมีอำนาจวินิจฉัยตามประเด็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) หรือไม่ หากศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นก็ปรับบทกำหนดโทษจำเลยตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) ไม่ถูกต้อง โดยเห็นว่าต้องปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์จะก้าวล่วงไปวินิจฉัยการปรับบทกำหนดโทษจำเลยอีกครั้งหนึ่งและปรับบทกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) โดยมิได้อ้าง ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 หาได้ไม่ ทั้งกรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษาคดี ภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาในข้อที่ว่าที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ชอบหรือไม่ แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคสอง, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 500,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นจำคุก 9 ปี และปรับ 750,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน และปรับ 375,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน 15 วัน รวมจำคุก 4 ปี 10 เดือน 15 วัน และปรับ 375,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง

จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดแก้ไขฐานความผิดและบทกำหนดโทษที่ศาลจะลงโทษแก่จำเลย อันส่งผลต่อคำพิพากษาและการลงโทษจำเลย ซึ่งจะทำให้จำเลยได้รับการลดโทษ ลดอัตราส่วนโทษจำคุกและโทษปรับหรือได้รับการปล่อยตัว ขอให้ศาลพิพากษาแก้โทษจำคุก แก้อัตราส่วนโทษจำคุก และโทษปรับ โดยการลดโทษจำคุกและโทษปรับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กำหนดโทษจำเลยใหม่เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 104, 145 วรรคสอง (2), 162 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน จำคุก 6 ปี และปรับ 500,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 รวมจำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน และปรับ 333,333.33 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า อัตราโทษตามคำพิพากษาไม่สูงกว่าอัตราโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงเป็นกรณีที่ศาลได้กำหนดโทษเหมาะสมและอยูในกรอบของอัตราโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่มีบทบัญญัติเรื่องเพิ่มโทษไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แล้วมีคำสั่งกำหนดโทษจำเลยใหม่ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 104, 145 วรรคสอง (2), 162 และเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง ขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยใหม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว ดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษหรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ดังนั้น การกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้คำพิพากษากำหนดโทษความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน 15 วัน ซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน และปรับ 375,000 บาท ก็เนื่องจากจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 2.029 กรัม เป็นจำนวนมากเกินกว่าจะมีไว้เพื่อเสพเอง ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมว่า ตนเองเป็นเพื่อนร่วมกลุ่มจำหน่ายยาเสพติดให้โทษกับนายเปี๊ยก ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริง อันถือเป็นการกระทำเพื่อการค้า กรณีการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท ดังนั้น โทษที่กำหนดในคำพิพากษาในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้ เห็นว่า หลักการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีใดแล้ว คู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น คู่ความฝ่ายนั้นย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่ถูกจำกัดสิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมาย และการพิจารณาคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ต้องเป็นไปดังที่บัญญัติไว้ในภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ดังนี้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เฉพาะขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาใหม่ โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 145 วรรคสอง (2)) โดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 จึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เช่นนี้ การกำหนดบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ย่อมเป็นอันยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก คงมีอำนาจวินิจฉัยตามประเด็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 145 วรรคสอง (2)) หรือไม่ หากศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นก็ปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) ไม่ถูกต้อง โดยเห็นว่าต้องปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์จะก้าวล่วงไปวินิจฉัยการปรับบทกำหนดโทษจำเลยอีกครั้งหนึ่งและปรับบทกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) โดยมิได้อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 หาได้ไม่ ทั้งกรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษาคดี ภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาในข้อที่ว่าที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ชอบหรือไม่ แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (ที่ถูก) มาตรา 145 วรรคสอง (2)) หรือไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอีก เห็นว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 นิยามคำว่า จำหน่าย ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย และการจำหน่ายบัญญัติบทความผิดและบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา 90, 145 แสดงว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้ยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่นำไปรวมไว้เป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยมาตรา 145 วรรคหนึ่งถึงวรรคสามกำหนดโทษหนักเบาตามพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ ไม่ถือเอาปริมาณดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคใดนั้น เห็นว่า แม้ปริมาณเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดของกลาง 1 ถุง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.029 กรัม ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดได้ระดับหนึ่งก็ตาม แต่การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นไปตามบทสันนิษฐานของกฎหมายที่จำเลยสามารถนำสืบหักล้างได้เท่านั้น นอกจากนี้หากมีการนำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดของกลางไปจำหน่ายแล้วอาจจำหน่ายให้ผู้เสพรายเดียวหมดในครั้งเดียวหรือผู้เสพหลายรายซึ่งมีจำนวนไม่มากนักก็ได้ พฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) จึงต้องปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังแก่ผู้กระทำความผิดที่กำลังรับโทษอยู่ เมื่อโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง แต่เมื่อโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่หนักกว่าโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติในภายหลัง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายใหม่ ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดโทษจำคุกและปรับจำเลยใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดโทษในการเพิ่มโทษจำเลยใหม่ชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดยกเลิกมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง...ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง... ดังนี้ คำว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงกำหนดโทษหรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นด้วย ซึ่งกรณีการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดอีก หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดและมีผลที่จะทำให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 โดยมิใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษ ดังนี้ ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่ถูกยกเลิกไปแล้วและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดได้ การเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งจึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่าบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องเพิ่มโทษเพราะกระทำผิดอีกไว้ ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกโดยไม่เข็ดหลาบและโจทก์ได้ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้วด้วย ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ ที่คำพิพากษาถึงที่สุดกำหนดโทษจำเลยโดยเพิ่มโทษกึ่งหนึ่ง จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ซึ่งการเพิ่มโทษถือเป็นส่วนหนึ่งของโทษที่กำหนดใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 (1) มิใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาถึงที่สุด ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษากลับว่า ให้กำหนดโทษจำเลยใหม่สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) จำคุก 6 ปี และปรับ 500,000 บาท เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นจำคุก 8 ปี และปรับ 666,666.66 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 8 เดือน เมื่อลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุก 4 ปี และปรับ 333,333.33 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 4 เดือน และปรับ 333,333.33 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี




ยาเสพติดให้โทษ

เมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษต่างชนิดกัน