

ขับรถโดยประมาทผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถโดยประมาทผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความผิดฐานขับรถที่มีสิ่งของอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท (ไฟท้ายชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้) ปรับ 2,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 4 ปี ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วหลบหนี (ชนแล้วหนี) จำคุก 2 เดือน การนำรถยนต์ที่ไฟท้ายชำรุดเสียหายมาใช้ในท้องถนนในเวลากลางคืนย่อมเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ถนนคนอื่น ๆ โดยเฉพาะไปท้ายทางด้านขวามีความสำคัญมากเพราะจะทำให้ผู้ที่ขับรถยนต์ตามมาจะได้รู้ว่ารถข้างหน้าตนเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ในคดีนี้จำเลยขับรถบรรทุกหินออกจากซอยควรดูให้ปลอดภัยเสียก่อน แม้ผู้ตายจะขับมาด้วยความเร็ว 120 กม/ชั่วโมงแต่พฤติการณ์ข้างทางไม่ใช่ที่ชุมชนไม่มีรถแล่น หรือจำเลยรอให้ผู้ตายขับผ่านไปก่อนหรือรถของจำเลยมีไฟท้ายครบก็คงไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้น แม้ผู้ตายจะขับรถยนต์มาด้วยความเร็วก็จะถือไม่ได้ว่าผู้ตายมีส่วนร่วมในการกระทำโดยประมาทในครั้งนี้ มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2552 พนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์ ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2539 ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ระหว่างพิจารณา นายสว่าง บิดาของนายสุทธิพัฒน์ จ่าสิบเอกสุรินทร์ บิดาของนางสาวจันทิมายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 โดยเรียกนายสว่างว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และจ่าสิบเอกสุรินทร์ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อมาจ่าสิบเอกสุรินทร์ถึงแก่ความตาย นางอุรา มารดาของนางสาวจันทิมายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43 (4), 78, 148, 157, 160 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถที่มีสิ่งของอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 60 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วหลบหนีจำคุก 2 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสี่ กระทงแรกคงปรับ 1,500 บาท กระทงที่สองจำคุก 3 ปี กระทงที่สามจำคุก 1 เดือน 15 วัน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี 1 เดือน 15 วัน และปรับ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำรถที่ไฟท้ายชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ออกขับไปตามท้องถนนย่อมเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย และการที่ขับในเวลากลางคืน ไฟท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านขวาเป็นอุปกรณ์สำคัญของรถที่จะทำให้รถคันที่ตามหลังมาเห็นได้ชัดว่าเป็นรถขนาดใหญ่หรือรถจักรยานยนต์ แต่จำเลยก็ไม่ซ่อมแซมไฟท้ายดังกล่าวให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี นอกจากนี้จำเลยขับรถบรรทุกหินออกมาจากซอยข้างถนน ก่อนที่จะขับเข้าถนนควรที่จะดูให้ปลอดภัยก่อนว่ามีรถแล่นมาหรือไม่ แต่จำเลยไม่ได้นำพากลับขับรถออกจากซอยโดยไฟท้ายด้านขวาใช้การไม่ได้เข้าสู่ถนนหลักในระยะกระชั้นชิดกับที่ผู้ตายขับรถมา จึงเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกันห่างจากปากซอยที่จำเลยขับออกมาประมาณ 38 เมตร จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลย แม้จะฟังได้ว่านายสุทธิพัฒน์ขับรถมาด้วยความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ตาม แต่บริเวณดังกล่าวเป็นทางตรงสองข้างทางส่วนมากเป็นป่า ไม่มีรถแล่น หากจำเลยระมัดระวังดูแลรถมิให้ชำรุดบกพร่อง และขับรถออกจากซอยโดยให้นายสุทธิพัฒน์ขับรถผ่านไปก่อน เหตุการณ์เฉี่ยวชนก็จะไม่เกิดขึ้น หรือหากจำเลยขับรถโดยมีไฟท้ายทั้งด้านซ้ายและด้านขวาติดสว่าง นายสุทธิพัฒน์มองเห็นย่อมจะต้องขับรถหลบหลีกรถคันที่จำเลยขับได้ ย่อมไม่เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น แม้นายสุทธิพัฒน์จะขับรถด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากขับมาถึงบริเวณดังกล่าวโดยจำเลยขับรถที่ไฟท้ายด้านขวาชำรุดหลอดไฟขาดไม่ส่องแสงให้รถคันหลังได้เห็น และขับออกจากถนนซอยโดยไม่ให้รถที่แล่นมาตามถนนหลักไปก่อนก็ย่อมต้องเฉี่ยวชนกัน จึงถือไม่ได้ว่านายสุทธิพัฒน์มีส่วนร่วมในการกระทำโดยประมาทครั้งนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 19 ตุลาคม 2538 คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
|