ReadyPlanet.com
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletพระราชบัญญัติ
bulletความรู้กฎหมาย
bulletสำนัก,ทนาย,ทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletปรึกษากฎหมาย
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletข้อบังคับสภาทนายความ
bulletคำพิพากษาฎีกา
bulletเช่าซื้อขายฝากซื้อขาย
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletเกี่ยวกับ วิ.แพ่ง
bulletคดีเกี่ยวกับวิ.อาญา
bulletคำพิพากษารวม
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletการสิ้นสุดการสมรส
bulletการใช้กฎหมายอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
dot
Newsletter

dot




ปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมไปลักทรัพย์ของนายจ้าง, บรรยายฟ้องไม่ยืนยันเวลากระทำความผิด

ปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมไปลักทรัพย์ของนายจ้าง, บรรยายฟ้องไม่ยืนยันเวลากระทำความผิด

โจทก์บรรยายฟ้องที่ไม่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นในเวลากลางวันหรือเกิดในเวลากลางคืนเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงก็คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องเท่านั้นไม่อาจจะรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืนถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในส่วนนี้โดยชัดแจ้งเมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางวันเท่านั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการที่จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบถอนเงินผู้เสียหายแล้วใช้เอกสารสิทธิปลอมก็ด้วยเจตนาเพื่อจะเอาเงินที่อยู่ในครอบครองของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไปเป็นของตนโดยทุจริตจึงการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายคราวหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 14 กระทง จำคุก 28 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 14 ปี

จำเลยฎีกาขอรอการลงโทษจำคุก การที่จำเลยอาศัยโอกาสที่นายจ้างให้ความไว้วางใจแล้วลักทรัพย์นายจ้างไปเป็นเงิน 351,002.13 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5454/2553

          คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมไปลักทรัพย์ของนายจ้าง โดยเหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยงอันเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นในเวลากลางวันหรือเกิดในเวลากลางคืน อันเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องเท่านั้น แต่ไม่อาจจะรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในส่วนนี้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้ คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางวันเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) ด้วยจึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
 
       โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 335 (1) (11), 335 วรรคสาม, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 351,002.13 บาท แก่ผู้เสียหาย
          จำเลยให้การรับสารภาพ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 335 (1) (11) (ที่ถูก มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 335 (1) (11) วรรคสอง) การที่จำเลยปลอมเอกสารสิทธิใบถอนเงินผู้เสียหายแล้วใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวก็ด้วยเจตนาเพื่อจะเอาเงินที่อยู่ในครอบครองของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไปเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) (ที่ถูก มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 14 กระทง จำคุก 28 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี ที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยว่าผู้เสียหายได้รับคืนจากจำเลยครบถ้วนแล้ว จึงยกคำขอในส่วนนี้

   จำเลยอุทธรณ์
 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 14 กระทงจำคุก 14 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 7 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาจำเลยว่า จำเลยปลอมเอกสารและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปลักทรัพย์ของนายจ้าง โดยเหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง อันเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยว่าเกิดขึ้นในเวลากลางวันหรือเกิดในเวลากลางคืน อันเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ทำให้จำเลยต้องได้รับโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงก็คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้องเท่านั้น แต่ไม่อาจจะรับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันหรือกลางคืน ถือว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในส่วนนี้โดยชัดแจ้ง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้ คงฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางวันเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) ด้วย จึงไม่ชอบปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อศาลฎีกาปรับบทลงโทษจำเลยเพียงอนุมาตราเดียว ศาลฎีกาก็สมควรกำหนดโทษเสียใหม่ แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี อันเป็นขั้นต่ำสุดของกฎหมายแล้ว ไม่อาจกำหนดโทษจำคุกให้ต่ำกว่านี้ได้อีก ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาขอรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยอาศัยโอกาสที่นายจ้างให้ความไว้วางใจแล้ว
ลักทรัพย์นายจ้างไปเป็นเงิน 351,002.13 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก และลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
 
ป.วิ.อ.

มาตรา 158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
(1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
(3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
(4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
(6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

มาตรา 195  ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม

มาตรา 225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง




ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

เท้าแชร์(นายวงแชร์)ยักยอกเงินลูกแชร์
ความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน
ลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จเมื่อทรัพย์เคลื่อนที่
ธนาคารเบิกถอนเงินลูกค้าไม่เป็นลักทรัพย์
ความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่ฐานฉ้อโกง
ผู้จัดการมรดกกระทำผิดหน้าที่จำคุก 1 ปี
ความผิดฐานลักบัตรเครดิต,ปลอมเอกสาร,ใช้เอกสารปลอม,ฉ้อโกง