ลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จเมื่อทรัพย์เคลื่อนที่ ลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จเมื่อทรัพย์เคลื่อนที่ การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการเอาทรัพย์ไปเป็นความผิดสำเร็จเมื่อทรัพย์เคลื่อนที่ การที่จำเลยเคลื่อนย้ายเตาอบไฟฟ้าออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์เป็นการเอาทรัพย์ไป จึงเป็นความผิดสำเร็จ มิใช่เพียงพยายามกระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา แม้จำเลยจะยังมิได้พาทรัพย์ของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าโลตัส ที่เกิดเหตุก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2552 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2544 เวลากลางวันมีคนร้ายลักเตาอบไฟฟ้ายี่ห้ออีฟ 1 เครื่อง ราคา 2,690 บาท ของบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซีสเทม จำกัด ผู้เสียหาย ที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ “โลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์” หลังจากเกิดเหตุแล้วเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมกับยึดได้เตาอบไฟฟ้าดังกล่าวเป็นของกลาง โดยจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเป็นคนร้ายลักเตาอบไฟฟ้าของกลางไปหรือภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ข้างต้นจนถึงเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมเตาอบไฟฟ้าของกลาง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซื้อหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งเตาอบไฟฟ้าของกลางจากคนร้าย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดอันเข้าลักษณะลักทรัพย์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357 จำเลยให้การปฏิเสธ จำเลยอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ “โลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์” จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยเข็นรถแจ็ค (รถขนสินค้า) ซึ่งมีกล่องรัมมี่ (กล่องไม้) สีดำ จำนวน 3 กล่องอยู่บนรถขนสินค้าดังกล่าวผ่านพนักงานเก็บเงินเพื่อจะนำออกไปนอกห้างสรรพสินค้าโลตัส แต่ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณจุดบริการลูกค้าที่ 1 ใกล้ประตูทางเข้าออกของห้างสรรพสินค้าโลตัสทางด้านทิศใต้ตรวจสอบและพบว่ามีเตาอบไฟฟ้ายี่ห้ออีฟ 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องไม้ดังกล่าว จึงยึดไว้เป็นของกลาง หลังจากนั้นผู้เสียหายมอบอำนาจให้พนักงานไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ชั้นจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าลักทรัพย์นายจ้าง จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.8 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ แต่มิได้ให้การในรายละเอียดโดยอ้างว่าจะขอให้การในชั้นศาลตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.9 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากนายณรงค์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ภายในคลังสินค้าของห้างสรรพสินค้าโลตัสว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา นายณรงค์เห็นจำเลยเข็นรถขนสินค้าบรรทุกกล่องไม้ ซึ่งมี 6 ด้าน 5 ด้าน มีฝาปิด ส่วนด้านที่ 6 ไม่มีฝาปิดจำนวน 2 กล่อง วางอยู่บนรถขนสินค้าดังกล่าวเข้ามาในคลังสินค้าบริเวณที่นายณรงค์กำลังปฏิบัติงานอยู่ จำเลยแจ้งแก่นายณรงค์ว่าจะมาเอากล่องไม้เพิ่มอีก 1 กล่อง และขอให้นายณรงค์ช่วยยกกล่องแบบเดียวกัน ซึ่งวางอยู่บนชั้นวางของลงมาให้ โดยนายณรงค์ตรวจดูกล่องไม้จำนวน 2 กล่อง เดิมที่วางอยู่บนรถขนสินค้ากับอีก 1 กล่อง ที่ยกลงมาจากชั้นวางของแล้วไม่พบสิ่งของใด พอดีขณะนั้นมีพนักงานของผู้เสียหายประมาณ 2 ถึง 3 คน นำขยะมาทิ้ง นายณรงค์จึงไปตรวจดูขยะตามหน้าที่ว่ามีสินค้าที่มีสภาพดีรวมอยู่ด้วยหรือไม่ สักครู่หนึ่งเมื่อเสร็จแล้ว จึงเดินกลับไปยังจุดที่จำเลยจอดรถขนสินค้าไว้แต่ไม่พบจำเลยแล้ว ต่อมานายสมภพหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ไปสอบถามนายณรงค์ว่าพบเห็นเตาอบไฟฟ้าในกล่องไม้ดังกล่าวหรือไม่ นายณรงค์แจ้งว่าไม่มี นายสมภพจึงแจ้งให้นายณรงค์ทราบว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยจุดบริการลูกค้าที่ 1 บริเวณประตูทางเข้าออกด้านหน้าของห้างสรรพสินค้าโลตัสซึ่งเป็นจุดที่ผ่านพนักงานเก็บเงินมาแล้วพบจำเลยกำลังจะนำกล่องไม้ที่วางอยู่บนรถขนสินค้าออกไปนอกห้าง แต่ถูกตรวจพบว่าภายในกล่องไม้ใบหนึ่งมีเตาอบไฟฟ้าอยู่ข้างใน นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังได้ความจากนายฉัตรชัย พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ค้นพบเตาอบไฟฟ้าอยู่ภายในกล่องไม้ดังกล่าวว่า วันเกิดเหตุเวลา 12.30 นาฬิกา ขณะที่นายฉัตรชัยกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณจุดบริการลูกค้าที่ 1 ใกล้ประตูทางเข้าออกของห้างสรรพสินค้าโลตัสทางด้านทิศใต้เห็นจำเลยเข็นรถขนสินค้าซึ่งมีกล่องไม้จำนวน 3 กล่องวางอยู่บนรถจะออกไปนอกห้างสรรพสินค้าโลตัส โดยกล่องจำนวน 2 กล่อง วางหันด้านที่ไม่มีฝาปิดขึ้นข้างบน ส่วนกล่องอีกใบหนึ่งหันด้านที่ไม่มีฝาปิดลงประกบกับกล่องที่วางอยู่ด้านล่างใบหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถปิดได้สนิทเพราะมีช่องว่างเหลืออยู่เล็กน้อย อย่างไรก็ตามมีไม้กระดานขนาดยาว 1 เมตร กว้างประมาณ 50 ถึง 60 เซนติเมตร เสียบเข้าไปภายในกล่องตรงบริเวณช่องว่างนี้ นายฉัตรชัยจึงขอตรวจสอบภายในกล่องไม้ทั้ง 3 กล่องดังกล่าว ขณะดึงไม้กระดานที่เสียบตรงช่องว่างดังกล่าวออก จำเลยรีบคว้าไม้กระดานแผ่นนั้นลงปิดที่เดิมนายฉัตรชัยจึงบอกจำเลยว่าต้องทำการตรวจสอบแล้วดึงแผ่นไม้ที่เสียบอยู่ดังกล่าวออกก็เห็นเตาอบไฟฟ้าหรือเตาไมโครเวฟยี่ห้ออีฟ 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ภายในกล่องใบหนึ่งตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ซึ่งนายสมภพถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานหลังจากได้รับแจ้งเหตุ เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองคนดังกล่าวเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของผู้เสียหายที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้น่าระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองคนดังกล่าวนั้นจะกลั่นแกล้งและปรักปรำจำเลยให้ต้องได้รับโทษ จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองคนดังกล่าวเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นมา ดังนี้เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาที่นายณรงค์พบจำเลยที่คลังสินค้าห่างจากระยะเวลาที่นายฉัตรชัยพบจำเลยที่จุดบริการลูกค้าที่ 1 ซึ่งเป็นจุดตรวจสอบสินค้าของลูกค้าที่จะนำสินค้าออกจากห้างสรรพสินค้าไปว่ามีการชำระเงินถูกต้องแล้วหรือไม่เพียงประมาณไม่ถึง 30 นาที ตลอดระยะเวลาดังกล่าวทั้งรถขนสินค้าและกล่องไม้ทั้ง 3 กล่องอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยและเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่มีโอกาสที่บุคคลอื่นใดจะนำเตาอบไฟ้ฟ้าของกลางซึ่งเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่พอสมควรเข้าไปซุกซ่อนไว้ในกล่องไม้ใบหนึ่งได้นอกจากนี้ข้อเท็จจริงขณะที่นายฉัตรชัยจะดึงไม้กระดานที่เสียบไว้ตรงช่องว่างของกล่องที่ไม่มีฝาปิดอยู่ออก แต่จำเลยรีบคว้าไม้กระดานแผ่นนั้นกลับลงไปปิดที่เดิม ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นพฤติการณ์ที่เป็นพิรุธน่าสงสัยส่อให้เห็นเจตนาการกระทำความผิดของจำเลยอย่างชัดเจน ส่วนทางนำสืบของจำเลยก็คงมีตัวจำเลยเองเบิกความอ้างลอยๆ แต่เพียงว่า จำเลยเข็นรถขนสินค้าจะนำกล่องไม้ทั้ง 3 กล่อง ไปทำชั้นวางสินค้านอกห้างสรรพสินค้าตามคำสั่งของหัวหน้าและจำเลยไม่ทราบว่ามีเตาอบไฟฟ้าของกลางซุกซ่อนอยู่ในกล่อง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่สมเหตุสมผลมานำสืบสนับสนุนอีกทั้งยังขัดแย้งกับทางปฏิบัติของห้างสรรพสินค้าโลตัสตามที่จำเลยเบิกความยืนยันเองว่าตั้งแต่จำเลยเข้าทำงานเป็นพนักงานของผู้เสียหายห้างสรรพสินค้าโลตัส ไม่เคยนำสินค้าออกไปวางขายภายนอกตัวอาคารของห้างสรรพสินค้า ส่วนที่จำเลยนำสืบและอ้างในคำแก้ฎีกาว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าตามระเบียบของผู้เสียหายนั้น พนักงานคนใดที่จะออกจากห้างสรรพสินค้าจะต้องถูกตรวจค้นตัวและสิ่งของ ฉะนั้นวิธีการที่จะนำสินค้าอันเป็นของกลางไปซุกซ่อนไว้ในกล่องไม้เพื่อนำออกผ่านประตูซึ่งมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยตรวจค้นอยู่ย่อมเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการถูกพบเห็นและจับได้เป็นอย่างยิ่งนั้น เห็นว่า พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่จุดบริการลูกค้าที่ 1 ซึ่งเป็นจุดที่นายฉัตรชัยประจำอยู่นั้นอยู่ตรงบริเวณประตูของห้างสรรพสินค้าซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าของลูกค้าว่ามีการชำระเงินถูกต้องแล้วหรือไม่ก่อนที่จะนำออกไปนอกห้างสรรพสินค้า ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานกำลังปฏิบัติหน้าที่และเข็นรถบรรทุกกล่องไม้ซึ่งเห็นได้จากภาพถ่ายหมาย จ.1 อย่างชัดเจนว่าไม่มีลักษณะเป็นสินค้าเพื่อจะนำผ่านช่องทางดังกล่าวออกไปนั้น ก็เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่ามีเจตนาที่จะตบตาหลีกเลี่ยงการถูกตรวจค้นจากพนักงานรักษาความปลอดภัยเนื่องจากกล่องไม้มิใช่สินค้าของห้างสรรพสินค้าแต่ประการใด พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แม้จำเลยจะยังมิได้พาทรัพย์ของผู้เสียหายออกไปพ้นนอกห้างสรรพสินค้าโลตัส ที่เกิดเหตุ แต่ก็ได้เคลื่อนย้ายทรัพย์ออกจากจุดที่ผู้เสียหายเก็บหรือวางทรัพย์นั้นไว้ ทั้งยังผ่านจุดที่ลูกค้าจะต้องชำระค่าสินค้าแก่พนักงานเก็บเงินไปแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยพาทรัพย์ของผู้เสียหายเคลื่อนที่ไปแล้วโดยมีเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ มิใช่เพียงพยายามกระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จก็ตาม แต่ปัญหาว่าการกระทำเป็นความผิดสำเร็จหรืออยู่ในขั้นพยายามกระทำความผิดเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์จึงยกขึ้นอ้างในฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ แม้โทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายบัญญัติไว้ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก ศาลฎีกา ก็ไม่อาจแก้ไขเพิ่มโทษจำคุกจำเลยให้มากกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ได้เพราะจะเป็นผลร้ายแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก จำคุก 8 เดือน โดยให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง และให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยด้วยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 15 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หมายเหตุ |